การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและทำให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นสำคัญอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่โลกการทำงานก็ได้เริ่มปรับตัวเข้าสู่การทำงานทางไกลมากขึ้น
แต่บางบริษัทไม่ยอมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือมีวิธีการรับมือกับการระบาดใหญ่อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้พนักงานบางคนเริ่มประเมินเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ปัจจุบันอย่างจริงจังว่า ‘จะอยู่’ หรือ ‘จะไป’ และหลายคนเลือกที่จะไปจนทำให้เกิดเทรนด์ The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่
สาเหตุที่ทำให้คนตัดสินใจลาออกมีด้วยกันหลายปัจจัย เช่น
- เงินเดือนเท่าเดิมมานาน ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนสักที
- บริษัทไม่มีพื้นที่ให้พนักงานเติบโต
- ทำงานดีแต่ไม่มีใครชื่นชม/ยอมรับ
- บริษัทมีค่านิยมหลังการแพร่ระบาดที่ไม่ได้เรื่อง
- วัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ
- ขาดสมดุลชีวิตการทำงาน
The Great Rejuvenation คืออะไร?
จากการสำรวจพนักงานในสหรัฐฯ 1,000 คน พบว่า ปัจจัยที่พนักงานใช้ในการตัดสินใจที่จะอยู่ต่อหรือจะไป นอกจากเรื่องเงินเดือนแล้ว ยังมีเรื่องสวัสดิการ ความมั่นคง และโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า
- สามในสี่ต้องการเลือกเองว่าจะทำงานในรูปแบบไหน ทำงานที่ออฟฟิศ ทำงานทางไกล หรือไฮบริด อีกทั้งเกือบสองในสามยังบอกว่าความยืดหยุ่นในที่ทำงานมีความสำคัญมากขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
- พนักงานระดับอาวุโสต้องการโอกาสในการพัฒนาทักษะมากกว่าเงินเดือนที่สูงขึ้น
- ผู้ตอบแบบสอบถาม 80% ต้องการผู้นำที่มีความเข้าอกเข้าใจตนเอง
ดังนั้นแล้ววิธีการที่องค์กรรับมือกับความต้องการของพนักงานจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของการทำงาน หากรับมือได้อย่างตรงตามคาดหวังใหม่ของพนักงานก็จะสามารถรักษาคนเก่งๆ ในองค์กรไว้ได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเทรนด์ The Great Rejuvenation หรือการฟื้นฟู/ปรับตัวครั้งใหญ่ขึ้นมา
The Great Rejuvenation คือการที่บริษัทเห็นว่าพนักงานลาออกมหาศาล จึงเริ่มฉุกคิดและปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้พนักงานใจชื้นและมีกำลังใจทำงานต่อไป เรียกง่ายๆ ว่าเป็น ‘การคืนความสุขให้กับพนักงาน’ ซึ่งแต่ละบริษัทก็ใช้วิธีที่แตกต่างกันไป
หนึ่งในนั้นคือการสร้างวัฒนธรรมการทำงานด้วย Gratitude
สิ่งหนึ่งที่องค์กรสามารถควบคุมได้ในฐานะผู้นำองค์กรหรือเจ้าของธุรกิจคือ การสร้างวัฒนธรรมการทำงานด้วย Gratitude เพราะเรื่องการรับรู้ การยกย่อง และความรู้สึกขอบคุณ เป็นสิ่งที่พนักงานหลายๆ คนต้องการเมื่อตัวเองทำงานได้ดี แต่ผู้นำหลายคนกลับมองข้ามและประเมินความสำคัญของเรื่องนี้ต่ำเกินไป ซึ่งอาจทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนถูกละเลยและคิดว่าอยู่ไปก็ไม่มีใครเห็นค่าจนสุดท้ายตัดสินใจลาออกไปดีกว่า
3 วิธีปรับตัวเพื่อรักษาคนเก่งไม่ให้ลาออก
รักษาคำมั่นสัญญาในเรื่อง ‘ความยืดหยุ่นในการทำงาน’
องค์กรใดที่นำเสนอว่าองค์กรตนเองมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่นและเน้นการทำงานทางไกลก็จะต้องทำตามที่นำเสนอไว้ให้ได้ ซึ่งรวมถึงการหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานทางไกลระยะยาวให้กับพนักงานด้วย เช่น เรื่องการสื่อสาร และการจัดหาเครื่องมือในการทำงานร่วมกัน
หากต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศก็จะต้องให้เหตุผลที่ชัดเจนแก่พนักงานว่าการทำงานแบบตัวต่อตัวมีดีกว่าการทำงานทางไกลอย่างไร และจะต้องสร้างออฟฟิศให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยากไปทำงานด้วย
ลงทุนไปกับการพัฒนาอาชีพของพนักงาน
เนื่องจากว่าหนึ่งในสาเหตุที่จะทำให้พนักงานตัดสินใจอยู่ต่อหรือลาออกคือ โอกาสในการพัฒนาทักษะ อีกทั้งการพัฒนาทักษะให้กับพนักงานยังเป็นการช่วยให้บริษัทพัฒนาต่อไปได้เพราะพนักงานเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงองค์กร
ดังนั้น องค์กรจึงควรลงทุนไปกับการพัฒนาอาชีพของพนักงาน ตั้งแต่การลงทุนในการฝึกอบรม ไปจนถึงการเพิ่มทักษะต่างๆ เช่น ทักษะด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทักษะทางธุรกิจและด้านเทคนิคต่างๆ
กำหนดจุดยืนและวัตถุประสงค์ขององค์กรให้ชัดเจน
รู้หรือไม่ว่าพนักงาน โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z ต้องการทำงานในบริษัทที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เช่น จุดยืนต่อเรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาค การไม่แบ่งแยก และเรื่องสิ่งแวดล้อม
พนักงานหลายคนต้องการเห็นหลักฐานหรือสัญญาณที่เป็นรูปธรรมที่บริษัทใช้แพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อสร้างความแตกต่าง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นผู้นำจึงควรกำหนดจุดยืนและวัตถุประสงค์ขององค์กรตัวเองให้ชัดเจน รวมถึงควรทำตามสิ่งที่นำเสนอไว้ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
อ้างอิง reneegiarrusso, forbes