เรียกได้ว่า ภาษา คือการสื่อสารที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน และเมื่อพูดถึงเรื่องภาษาแล้ว ภาษาที่ผู้คนเกือบทั่วโลกนับเป็นภาษาสากลที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน นั่นก็คือ ‘ภาษาอังกฤษ’ อย่างในประเทศไทย เราก็มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับขั้นพื้นฐาน แต่ทำไมคนไทยถึงพูดภาษาอังกฤษไม่ได้กันนะ?
หลาย ๆ คนอาจคิดว่า ก็ในเมื่อสภาพแวดล้อมในเมืองไทยที่คนใช้ภาษาไทยกันทั้งประเทศขนาดนี้ จะให้เอาเวลาที่ไหนไปพูดภาษาอังกฤษกันล่ะ คงมีแค่การไปใช้ชีวิตในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้นแหละ
แต่ถ้าหากเราไม่ได้มีโอกาสไปเมืองนอก แล้วจะทำยังไงให้พูดภาษาอังกฤษได้บ้าง ?
มาทำความรู้จักกับ คุณนุ่น-ณัชชานันท์ เลียงอรุณวงศ์ หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในนาม English AfterNoonz เจ้าของเพจ Facebook และ Twitter สอนภาษาอังกฤษ ที่มีจำนวนผู้ติดตามมากถึงหนึ่งล้านคน และเป็นหนึ่งในคุณครูสอนภาษาอังกฤษที่สำเนียงชัดเจนมาก ทั้งที่ไม่ได้ไปเรียนต่างประเทศเลย
ความทรงจำในวัยเด็ก ที่ทำให้ครูนู่นเกลียดภาษาอังกฤษ
ย้อนกลับไปเมื่อยังเรียนชั้นอนุบาล ครูนุ่นมักจะถูกทำโทษด้วยการยืนบนเก้าอี้แล้วกางเขน เพียงเพราะท่องจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนการสอนของไทยที่เน้นท่องจำแบบผิด ๆ ทำให้ครูนุ่นเสียความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเกลียดภาษาอังกฤษไปโดยปริยาย
ทำไมภาษาและสำเนียงของเจ้าของภาษา ไม่เหมือนกับที่ครูสอนในโรงเรียน?
เมื่อเริ่มโตขึ้น ครูนุ่นก็ยังคนรู้สึกเกลียดภาษาอังกฤษอยู่ จนกระทั่งได้พบกับภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Titanic จนเกิดความสงสัยว่า ทำไมภาษาและสำเนียงที่ใช้ในภาพยนตร์ ไม่เหมือนกับที่ครูสอนในโรงเรียนเลย
จากจุดนั้นเอง ทำให้ครูนุ่นเริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการเรียนภาษาในทางที่ดีขึ้น โดยเริ่มต้นจากการคิดแบบฝรั่ง พูดแบบฝรั่ง และเลิกเอาหลักภาษาไทยที่เราใช้กันมาใช้ในภาษาอังกฤษ เรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง
ภาษาไม่ใช่การท่องจำ แต่ต้องเรียนรู้จากการใช้ในชีวิตประจำวัน
ครูนุ่นเคยให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากคุณพ่อของครูนุ่นทำงานกับ UN และมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติซะส่วนมาก ทำให้ครูนุ่นคุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เพื่อติดต่อสื่อสารกับเพื่อนชาวต่างชาติตั้งแต่ยังเล็ก
โดยวิธีการสอนของคุณพ่อ คือ ‘การไม่สอน แล้วปล่อยให้เรียนรู้ด้วยตนเอง’ และด้วยวิธีการนี้เอง ที่ทำให้ครูนุ่นเปลี่ยนจากเด็กที่เกลียดภาษาอังกฤษมาก กลายมาเป็นคนที่กล้าลองผิดลองถูก และเริ่มมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น จนกระทั่งสามารถพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่ชัดเจนเหมือนได้ใช้ชีวิตในต่างประเทศ
จากสำเนียงอเมริกันสู่บริติช
เมื่อเริ่มมีความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ครูนุ่นก็เริ่มฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงอเมริกัน ที่ค่อนข้างแพร่หลายและนิยมใช้กันในซีรีส์ ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ รับว่าเป็นอีกสำเนียงที่คนไทยคุ้นเคยและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายด้วย
จนกระทั่งใกล้เรียนจบ ครูนุ่นได้มีโอกาสฝึกงานกับช่อง 3 ในสายข่าวต่างประเทศ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้ครูนุ่นค้นพบช่อง BBC ที่ใช้ภาษาอังกฤษสำเนียงบริติชในการสื่อสาร ด้วยสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์และชวนฟัง ทำให้ครูนุ่นอยากพูดด้วยสำเนียงนั้นบ้าง จึงเริ่ม Copy & Paste สำเนียงแบบบริติชที่ได้ยิน และฝึกฝนการใช้สำเนียง จนกระทั่งรู้ตัวอีกที ครูนุ่นก็คุ้นชินกับการใช้ภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงบริติชไปแล้ว
หัวใจของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบฉบับ English AfterNoonz คือ Copy and Paste
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของครูนุ่นเพื่อการเรียนภาษาอังกฤษให้เหมือนเจ้าของภาษา มีเทคนิคพื้นฐาน คือ
‘See things in English’ มองทุกอย่างให้เป็นภาษาอังกฤษ ปรับวิธีคิดหรือมุมมองต่าง ๆ ให้เป็นภาษาอังกฤษ เช่น คิดแคปชั่นรูปในอินสตาแกรมเป็นภาษาอังกฤษหรือบ่นว่ารถติดเป็นภาษาอังกฤษในทวิตเตอร์ ไม่ต้องกลัวว่าไร้สาระหากสิ่งเหล่านั้นทำให้เราพัฒนาตัวเองได้
‘Repeat after me’ ฝึกออกเสียงซ้ำอย่างต่ำสองครั้ง เคล็ดลับสำเนียงสวย ๆ คือ เวลาดูหนัง ฟังเพลงหรือได้ยินประโยคภาษาอังกฤษอะไรให้ขยับปากพูดตามเหมือน copy paste ขยับปากให้เหมือน ไม่ต้องกลัวเรื่องแกรมม่าเพราะเดี๋ยวมันจะค่อย ๆ เข้ามาเอง
‘Don’t be hard on yourself’ ไม่สนุกอย่าฝืน รู้จักตัวเองก่อนเริ่มเรียนรู้ เพราะถ้ารู้สึกว่าไม่สนุกหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะเรียนหนักแค่ไหนร่างกายก็ไม่จำ
เทคนิคยังมีอีกเพียบ พร้อมถาม-ตอบกับ คุณนุ่น-ณัชชานันท์ เลียงอรุณวงศ์ English AfterNoonz ตัวจริง ได้ที่งาน ConNEXT Virtual Job Fair and Career Talk 2021’ powered by Techsauce ในวันที่ 7-8 สิงหาคม 2564 นี้
อ้างอิง: เจาะใจ The Lounge, Loukgolf's English Room, thepotential
ขอบคุณรูปภาพจาก: นุ่น - English AfterNoonz
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn
ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]