หลายบริษัททั่วโลกเริ่มทดลองการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์เพื่อสร้าง Work-life balance ให้กับพนักงาน แล้วการลดเวลาทำงานมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?
จากรายงานโดย Gallup เผยให้เห็นว่า จำนวนชั่วโมงเฉลี่ยในการทำงานคือ 47 ชั่วโมง/สัปดาห์ และมีวันหยุดเพียงแค่ 2 วันเพื่อพักผ่อน นายจ้างคาดหวังให้พนักงานฟื้นตัวจากความเหนื่อยอย่างรวดเร็ว มีส่วนร่วมในการทำงาน และมีประสิทธิภาพการทำงานสูง
การทำงานในลักษณะนี้ไม่ใช่รูปแบบการทำงานแบบยั่งยืน ส่งผลให้ 42% ของเมเนเจอร์กำลังพิจารณาว่าจะทำงาน 4 วัน/สัปดาห์แทนวิธีการทำงานรูปแบบเดิม
Mark Takano ตัวแทนเขตรัฐสภาที่ 41 ของแคลิฟอร์เนีย ได้แนะนำกฎหมายการทำงาน 32 ชั่วโมง/สัปดาห์ (H.R.4728) โดยหมายมั่นที่จะลดเวลาการทำงานจาก 40 ชั่วโมงเป็น 32 ชั่วโมง/สัปดาห์ แต่ไม่ได้กำหนดว่าพนักงานทุกคนจะต้องทำงานแค่ 32 ชั่วโมง สำหรับใครที่ทำงานเกิน 32 ชั่วโมง/สัปดาห์ก็จะได้รับค่าล่วงเวลา
ในขณะที่ผู้คนมองว่าแคริฟอร์เนียเป็นรัฐที่มีความก้าวหน้า รัฐอื่นๆ จึงพยายามดิ้นรนเพื่อให้เท่าทันด้วยการบีบอัดวันทำงาน 40 ชั่วโมงแบบเดิมๆ ให้เหลือ 4 วัน/สัปดาห์แทน
แต่ไม่ว่ารัฐจะใช้รูปแบบการทำงาน 32 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือการบีบอัดเวลาการทำงานเป็น 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ก็มีข้อเสียบางอย่างที่ควรคำนึงถึง เช่น
- หักค่าจ้าง (นายจ้างไม่ต้องการจ่ายเงินเดือนเท่าเดิมในขณะที่เวลาการทำงานลดลง)
- การลดเวลาการทำงานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพนักงาน เพราะเหมือนเป็นการกดดันให้ทำงานเสร็จทันเดดไลน์
- หมดไฟจากการทำงาน 10 ชั่วโมง/วัน
- ชั่วโมงการทำงานลดลงแต่ภาระการทำงานยังคงเท่าเดิม
- ใช้ได้จริงแค่กับองค์กรที่มีความยืดหยุ่น
- มีผลกระทบต่อระดับความพึงพอใจของลูกค้า
- ไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากทำงานแบบ 10 ชั่วโมง/วัน หรือ 4 วัน/สัปดาห์
เมื่อหลายประเทศกำลังหันไปทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ แล้วการลดเวลาการทำงานให้เหลือเพียง 4 วัน/สัปดาห์จะมีข้อดี-ข้อเสียในเรื่องการดึงดูดคนเก่ง Work-life balance และประสิทธิภาพในการทำงานอย่างไรบ้าง?
1. การดึงดูดคนเก่ง
จากปรากฏการณ์ Great Resignation ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าพนักงานต้องการมี Work-life balance และนายจ้างเองก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความต้องการ และความสุขของพนักงาน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ หลายคนอยากทำงานแบบเดิมๆ ต่อไปมากกว่า เพราะรู้สึกสนุกกับสังคมการทำงาน ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และรู้สึกว่าการทำงาน 10 ชั่วโมง/วันเครียดเกินไป
แต่ก็มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น
- สุขภาพจิตดีขึ้น
- สามารถทำสิ่งที่รักได้
- มีเวลากับเพื่อน ครอบครัว และสัตว์เลี้ยงมากขึ้น
- มีการสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างจริงจังมากขึ้น
- ลดอัตราการขาดงานและการลาออก
- เพิ่มความสุขของพนักงานและความพึงพอใจในงาน
- เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- มีเวลาในการพัฒนาตัวเองและทักษะในการทำงานมากขึ้น
ก่อนนำการทำงานแบบ 4 วัน/สัปดาห์ไปใช้จริง บริษัทควรประเมินก่อนว่าวิธีนี้เหมาะกับบริษัทตัวเองหรือไม่ และมีวิธีดึงดูพนักงานให้อยู่ต่อหรือไม่
“เมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องใหญ่ขนาดนี้ การมีช่วงทดลองการทำงานและการพูดคุยกับพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงควรรับฟังความคิดเห็นและข้อข้องใจจากพนักงาน เพราะเขาก็เป็นหนึ่งในคนที่มีประโยชน์ได้เสียกับเรื่องนี้” Emily ผู้ก่อตั้ง Oliver Wicks กล่าว
2. Work-life balance
Work-life balance เป็นสิ่งที่คนทำงานหลายคนให้ความสำคัญมากกว่าสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ที่บริษัทมอบให้ แต่ Work-life balance ของแต่ละคนก็มีความหมายไม่เหมือนกัน บางคนอาจต้องการมีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อจะได้ใช้เวลากับครอบครัว บางคนอาจต้องการวันลาแบบได้เงินเยอะๆ เพื่อมีเวลาไปทำสิ่งที่ชอบ หรือบางคนต้องการทำงานทางไกลมากกว่า
ตามทฤษฎีแล้ว การทำงานแบบ 4 วัน/สัปดาห์เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับบางคนเพราะได้หยุดยาว แต่การทำงาน 10 ชั่วโมง/วัน ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้เช่นเดียวกับการทำงานแบบเดิมๆ
เพราะการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ จะทำให้ชีวิตการทำงานของพนักงานมี Work-life balance หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของบริษัท พนักงานหลายคนจึงยังมองหาความเป็นผู้นำและการจัดการของบริษัทเพื่อดูว่ารูปแบบการทำงานของตัวเองจะเป็นอย่างไร
ถ้าบริษัทจัดการให้มี Work-life balance จากการทำงาน 4 วันได้จริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อพนักงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านสุขภาพจิต เพราะการมีวันทำงานน้อยลงทำให้พนักงานมีวันหยุดเพิ่มขึ้นเพื่อไปทำสิ่งอื่นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว การมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น
3. ประสิทธิภาพในการทำงาน
John McGhee เจ้าของบริษัท Webconsuls กล่าวว่า “การมีเวลาว่างอีก 1 วัน จะช่วยให้พนักงานสามารถจดจ่อกับการทำงานและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการมีผลงานที่ดีขึ้นนี้ก็จะช่วยให้สุขภาพจิตโดยรวมของพนักงานดีขึ้นด้วยเช่นกัน”
Alina Clark แนะนำว่า “บริษัทควรให้พนักงานเลือกได้ว่าจะทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ที่มีการบีบอัดเวลาการทำงาน หรือ 5 วัน/สัปดาห์ที่มีเวลาการทำงานแบบปกติ เพราะความยืดหยุ่นของการสลับไปสลับมาระหว่างสองตัวเลือกนี้ จะช่วยป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงานได้”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดคือการพูดคุยกับพนักงานโดยตรงเพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย ซึ่งจะเห็นได้จาก Microsoft ที่ให้พนักงานทำงานวันศุกร์แค่ครึ่งวันเพื่อนำเวลาที่เหลือไปพัฒนาตัวเอง ในขณะที่ Kickstarter ได้ตัดสินใจว่าจะทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ หรือบางบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากรูปแบบการทำงานอื่น ซึ่งเรียกว่า 5/2/4/3 คือการทำงาน 5 วัน มีวันหยุด 2 วัน/สัปดาห์ สลับกับการทำงาน 4 วัน และมีวันหยุด 3 วัน
ที่มา - Forbes