“งานในฝันของคุณคืออะไร” พอล ฮัดสัน ซีอีโอของบริษัทซาโนฟี่ (Sanofi) ถามพนักงานรุ่นใหม่คนหนึ่ง “ฉันไม่มีงานในฝัน” พนักงานคนนั้นตอบ
ผมยิ้มหลังจากได้ยินคำตอบนั้น คิดในใจว่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปมากขนาดไหนจากตอนที่ผมทำงานครั้งแรก ตอนนั้นคนจะคอยบอกผมว่า “หาบริษัทดีๆ สักบริษัทสิ ถ้าโชคดีคุณอาจจะอยู่ไปจนเกษียณก็ได้” อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้เอาคำแนะนำเดียวกันนี้ไปบอกกับลูกๆ ที่อายุ 23, 21 และ 17 ปี
นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นมาสักพักแล้วในปัจจุบัน ซึ่งถูกเร่งปฏิกิริยาให้เกิดเร็วขึ้นหลังจากเกิดการะบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน อัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ และความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้คน Gen Z ซึ่งเป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (Digital Native) และกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การแบ่งชนชั้นทางสังคม และค่าครองชีพที่ควบคุมไม่ได้ จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับอาชีพที่เปลี่ยนไปอย่างมาก แล้วอะไรคือสิ่งที่คน Gen Z ต้องการจากการทำงานกันแน่
เก็บเกี่ยวประสบการณ์
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ถามพนักงานใหม่ของบริษัทซาโนฟี่คนหนึ่งว่า “ทำไมคุณถึงอยากร่วมงานกับเรา” เธอคนนี้เป็นคนเก่งวัย 30 ต้นๆ และมีพื้นฐานด้านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) เธอกล่าวว่า “ฉันต้องการเก็บเกี่ยวทั้งประสบการณ์และเวลาในบริษัทด้านสุขภาพชั้นนำแห่งนี้ เพราะหลังจากนี้ฉันอาจจะเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง”
ผู้บริหารและผู้นำธุรกิจหลายคนจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า คนเก่งในปัจจุบันกำลังมองหาประสบการณ์และบทเรียนจากการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่คนจะเริ่มทำงานในบริษัท จากนั้นก็จะไต่เต้าเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วอยู่ไปจนเกษียณอายุ แต่ปัจจุบันความคิดนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว และผมเชื่อว่าสิ่งใหม่กำลังเกิดขึ้น มีผู้สมัครงานคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ฉันจะนำประสบการณ์ที่มีมาช่วยทำให้บริษัทดีขึ้น แต่สักวันหนึ่งฉันจะต้องลาออกไป ซึ่งคุณไม่ต้องกังวลเพราะฉันจะทำให้มันดีขึ้นกว่าตอนแรกที่ฉันเข้ามา”
นำกรอบความคิดการรู้จุดมุ่งหมายมาใช้ (Purpose-driven mindset)
ผมอยู่ในอุตสาหกรรมสุขภาพมานานกว่า 30 ปี ซึ่งเป้าหมายเดียวคือการทำให้ชีวิตคนดีขึ้น แม้ในวันที่แย่ ชีวิตของใครบางคนก็ยังดีขึ้นเพราะสิ่งที่เราทำ ดังนั้น เราต้องยึดมั่นในสิ่งที่ทำอยู่และทำให้พนักงานมีเป้าหมายเดียวกัน โดยพนักงานต้องการรู้สึกว่าพวกเขากำลังทำงานในบริษัทที่สอดคล้องกับค่านิยมและสามารถนำความก้าวหน้าที่แท้จริงมาสู่ลูกค้าได้
การระบาดของโควิด-19 ช่วยทำให้ผม เพื่อนร่วมงาน และซีอีโอขององค์กรใหญ่อื่นๆ มองเห็นคุณค่าของคน Gen Z มองเห็นความสำคัญกับความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว รู้จักตั้งคำถามกับสภาพที่เป็นอยู่ และอยากแสวงหาสิ่งที่จะมาเติมเต็มเพื่อทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ คน Gen Z คนรุ่นมิลเลนเนียล และคนอื่นๆ กำลังเรียกร้องสิ่งต่างๆ จากนายจ้างมากขึ้น ทั้งเรื่องความโปร่งใส การเคารพ การเอาใจใส่ ความยั่งยืน และการสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การที่คนรุ่นใหม่ไม่มีข้อผูกมัดและไม่ต้องการรอให้โลกเปลี่ยนแปลงไปเองทำให้พวกเขาลาออกจากงานเพื่อไปทำสิ่งที่เต็มไปด้วยแพชชั่น ได้แสดงตัวตนออกมาผ่านนวัตกรรมและการค้นพบใหม่ๆ และได้มีส่วนในการนำไปสู่ยุคใหม่ของการตระหนักรู้ในตนเอง ซึ่งผลสำรวจหลายสำนักชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เกือบ 2 ใน 3 ระบุว่าพวกเขาวางแผนเริ่มธุรกิจของตัวเองในอนาคต
และนี่คือ 4 สิ่งที่ผู้นำธุรกิจในทุกระดับต้องให้ความสำคัญหากต้องการส่งเสริมพนักงาน Gen Z
1. สื่อสารตั้งแต่เนิ่นๆ และบ่อยครั้ง: คือพยายามผสานคน Gen Z เข้ากับบริษัทให้ได้ สร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว สร้างความเข้าใจ สื่อสารให้พวกเขาทราบเมื่อมีข่าวสำคัญรวมไปถึงตอนที่สถานการณ์ไม่ชัดเจน ที่สำคัญต้องรู้จักแสดงความเห็นอกเห็นใจและตอบคำถามต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องน้อมรับความเห็นต่างที่เกิดขึ้นด้วย
2. มอบหมายงานที่ท้าทายความสามารถ: คือต้องทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าพวกเขากำลังเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้อาจสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขาด้วยการเน้นย้ำว่าความผิดพลาดเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสรรค์และกำหนดเฟรมเวิร์กสำหรับนวัตกรรมถัดไปในอนาคต
3. นำระบบการทำงานอัตโนมัติและ AI มาใช้เพื่อสนับสนุนการเติบโต: การประยุกต์ใช้ AI และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ สามารถช่วยให้พนักงานรุ่นใหม่บรรลุเป้าหมายทั้งส่วนของตัวเองและส่วนรวม แทนที่จะให้พวกเขาคำนวณตัวเลขในตาราง Excel ก็อาจจะให้ AI ทำงานนั้นแทน เพื่อที่ว่าพนักงานจะสามารถใช้เวลาไปกับการนำข้อมูลเชิงลึกมาสร้าง Solution แทนการทำงานที่ซ้ำซากจำเจ
4. สร้างวัฒนธรรมแห่งการฟัง: ในการประชุมและการตัดสินใจที่สำคัญของทีม ต้องทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าพวกเขามีสิทธิ์มีเสียงและมีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมเชิงกลยุทธ์และทิศทางใหม่สำหรับทีม ดังนั้น ควรมีการจัดแบ่งเป็นทีมเล็กๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถมีส่วนร่วมและพูดแสดงความคิดเห็นได้ง่ายขึ้น
ในอนาคตคน Gen Z จะเข้ามาเป็นกำลังหลักในตลาดแรงงาน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่คนรุ่นก่อนหน้านี้จะให้การสนับสนุนและเปิดใจยอมรับฟังสิ่งที่คน Gen Z กำลังเรียกร้องเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับวัฒนธรรมการทำงานในองค์กร
เขียนโดย Parinya Putthaisong
อ้างอิง fastcompany