ในโลกที่เราสามารถออกแบบ Career path ตัวเองได้ ระหว่างการเป็น "มนุษย์เงินเดือน" และ “นายตัวเอง” เส้นทางไหนที่ใช่สำหรับเรามากกว่า? วันนี้ ConNEXT ได้สรุป Tech ConNEXT Talk ในหัวข้อ “เมื่อชีวิตออกแบบเองได้ ระหว่าง “มนุษย์เงินเดือน VS นายตัวเอง” จะเลือกอะไรดี?” นำโดย
คุณพีรเดช มุขยางกูร Co-Founder/CEO Cariber แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงความรู้และประสบการณ์ จากผู้นำองค์กรและผู้เชี่ยวชาญในทุกแวดวง
คุณภาชรี ฑูรกฤษณา Head of Growth Skooldio องค์กร Education Technology (EdTech) หรือเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ผู้ให้บริการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับวัยทำงาน
ทำไมถึงเลือกเป็นมนุษย์เงินเดือนมากกว่าการเป็นนายตัวเอง
คุณภาชรี กล่าวว่า ตนเองเคยมีมุมมองว่าอยากเป็นเจ้าของกิจการเหมือนกัน แต่ด้วยสายงานที่เราทำให้เราเห็นว่าเวลาสตาร์ทอัพออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง มันไม่ได้ง่ายแบบที่เราคิด ก็เลยรู้สึกว่าอยากเก็บประสบการณ์จากตรงนี้ให้ได้เยอะ ๆ ก่อนที่เราจะก้าวออกไปทำธุรกิจของตัวเอง
เพราะอะไรถึงเป็นนายตัวเองมากกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือน
ตามจริงส่วนตัวก็เริ่มมาจากการเป็นพนักงานประจำมาก่อน 2 ปี แล้วค่อยตัดสินใจออกมาเปิดกิจการของตัวเอง คิดว่าสาเหตุที่ออกมาจากงานประจำ เพราะมีความเชื่อลึก ๆ ว่าตัวเองชอบการเป็นนายตัวเองมากกว่า ถ้ามองย้อนกลับไปจะมีความชื่นชอบในเรื่องของการซื้อ-ขายมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว วันที่ตัดสินใจลาออกจากงานและเลือกที่จะให้เวลาตัวเอง 1 ปี ในการทำว่าเราชอบสิ่งนี้จริงหรือเปล่า เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีจริงไหม เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราชอบ แต่เราทำได้ไม่ดี มองว่าก็อย่าฝืนตัวเองดีกว่า เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าต้องเริ่มจากความเชื่อของตัวเอง แล้วมาลองกับตัวเองว่าทำได้ไหม พอผ่านมาถึงจุดหนึ่งถ้าทำได้หรือไม่ได้เราค่อยหาโอกาสอื่น ๆ ถัดไป คุณพีรเดช กล่าว
อะไรคืออุปสรรคที่มนุษย์เงินเดือนและเจ้าของกิจการต้องเจอ
คุณภาชรี กล่าวว่า ปกติแล้วเวลาทำงานเราจะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ตอนแรกเราอาจจะเป็นพนักงานทั่วไปที่ทำงานอย่างเดียวไม่มีหน้าที่ต้องดูแลใคร อุปสรรคของเราก็จะเป็นเรื่องการทำงานทั่วไป พอเริ่มขยับขึ้นมาเป็น Middle Manager เราจะอยู่กึ่งกลางระหว่างหัวหน้าและพนักงาน อุปสรรคที่เจอก็จะเป็นในเรื่องของการดูแลคน ถ้าหนักที่สุดของการเป็นพนักงานประจำคือเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทได้ เช่น เวลาที่บริษัท Layoff พนักงาน เราจะไม่สามารถควบคุมได้เลย เพราะเราไม่ใช่เจ้าของกิจการ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จะเป็นความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นกับพนักงานประจำได้ทุกเมื่อ
คุณพีรเดช บอกว่าอุปสรรคจริง ๆ ของการเป็นเจ้าของกิจการ คือ ตอนเริ่มต้น ก่อนหน้าที่ตัดสินใจลาออกจากงาน รู้สึกว่าอยากเป็นเจ้าของกิจการจริง ๆ ก็เลยเริ่มหาอะไรทำในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ได้ลองทำ 2-3 ธุรกิจ ปรากฎว่าไม่มีธุรกิจไหนที่เวิร์กเลย ก็เลยกลับมาถามตัวเองว่ามันไม่เวิร์กเพราะตัวเรายังทำได้ไม่ดี หรือไม่เวิร์กเพราะอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้กลับมาคือเหมือนเราได้เรียนรู้ผลลัพธ์จากสิ่งที่เกิดขึ้น ได้ยอมรับผลจากการทดลองทำสิ่งนั้น ฉะนั้นอย่างแรกเราต้องรู้จักตัวเองให้มาก ๆ รู้ด้วยว่าอะไรเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้ ซึ่งวันนี้อาจจะดูพูดง่ายเพราะว่าผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่ต้องบอกว่าในช่วงที่เริ่มทำเราต้องเจอกับแรงกดดันเยอะมากในทุก ๆ วัน แต่มองว่าเราควรเปลี่ยนความกดดันให้มาเป็นแรงกระตุ้นให้กับตัวเองในจุดเริ่มต้นจะดีที่สุด
สุดท้ายแล้วมองว่าเราต้องรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองนิสัยตัวเองเป็นอย่างไร เช่นเดียวกันต้องรู้ด้วยว่าตัวเองล้มได้มากแค่ไหน เพราะในวันที่ตัดสินใจลาออกมาจากงานประจำ ช่วงนั้นผมยังสามารถรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อยู่ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องรู้ลิมิตของตัวเอง รู้ว่าเรารับความเสี่ยงได้ขนาดไหน และที่สำคัญความเสี่ยงนั้นต้องเป็นความเสี่ยงที่ต้องเซฟตัวเองด้วยเช่นกัน
‘Passion’ กับ ‘เงินที่มั่นคง’ เราควรเลือกสิ่งไหนมากกว่า?
คุณภาชรี กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคนมากกว่า ถ้าเป็น First Jobber หรือน้อง ๆ ที่เพิ่งจบใหม่อยากสนับสนุนให้มองหาแพชชั่น อยากให้เลือกในสิ่งที่เราทำแล้วสนุก แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคน เพราะพอเราเริ่มโต เราจะมีภาระมากขึ้น เรื่องการเงินหรือความมั่นคงก็เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเงื่อนไขแต่ละคนไม่เหมือนกัน อยากแนะนำว่าให้หาจุดสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้ให้ได้ นอกจากเรื่องการเงินและแพชชั่น อยากให้เพิ่มในเรื่อง Skill หรือทักษะด้วย เพราะสุดท้ายอยากให้เราได้ทำงานกับองค์กรที่พร้อมเปิดโอกาสให้เราพัฒนา ได้เรียนรู้ และได้เก่งขึ้นจากการทำงานนั้นด้วย
คุณพีรเดช กล่าวว่า เห็นหลายคนที่มีทั้งแพชชั่นและมีเงินที่ดี บางคนมีแพชชั่นแต่การเงินไม่ค่อยดี บางคนทำในสิ่งที่ไม่ชอบเลย แต่ได้เงินดีมากเลยรู้สึกว่าไม่มีคำตอบที่ตายตัว เพราะสุดท้ายมันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งการมีแพชชั่นเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ในมุมมองของผมที่ไม่ได้มีแพชชั่นก็รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่ว่าบางจังหวะถ้าเราเจอโอกาสหรือสิ่งที่เราอยากจะแก้ไข และเราเห็นสิ่งนั้นอยู่เราสามารถนำสิ่งนั้นมาตั้งเป็น Main Point ของเราได้ แล้วแพชชั่นจะเป็นสิ่งที่ตามมาเอง
สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดในการเป็นมนุษย์เงินเดือนและนายตัวเอง คืออะไร?
คิดว่าความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของการเป็นพนักงานประจำ คือคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องมี Ownership ในการทำงานก็ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วการมี Ownership เป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงาน พอบวกกับการมีวิสัยทัศน์และทัศนคติที่ดีก็จะยิ่งทำให้เราก้าวหน้าไปได้เร็ว และอาจจะได้ลองงานที่หลากหลายมากขึ้น มีโอกาสได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เรากลายเป็นพนักงานที่มีคุณค่าต่อบริษัทด้วย คุณภาชรี กล่าว
คุณพีรเดช กล่าวว่า อย่างแรกอาจจะเป็นเรื่องของ Flexibility เพราะว่าเราเรียกตัวเองว่าเป็นนายตัวเอง ก็หมายถึงการเป็นเจ้าของกิจการ หรือ CEO เราสามารถกำหนดทุกอย่างได้เองเลยว่าเราต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน แต่ในทางกลับกันเราก็ต้องพร้อมที่จะแก้ปัญญาที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจด้วย มันไม่ใช่การการทำงานแค่เย็นวันศุกร์แล้วทุกอย่างจบ แต่การเป็นเจ้าของกิจการมันเหมือนต้องทำงานทุกวัน ต้องทำงานมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ
อย่างที่สอง มองว่าทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นเจ้าของกิจการ คือ ทักษะการขายของ หรือ Underrated Sales Skills การขายของในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขายให้ลูกค้า แต่มันหมายถึงการขายของให้พนักงานคนแรก ๆ ที่ยอมมาทำงานกับเรา ในตอนที่เรายังไม่มีอะไรเลย คล้ายกับการที่เราให้หุ้นที่ไม่มีมูลค่าให้เขา แต่เราบอกว่าในอนาคตหุ้นนี้จะเป็นสิ่งที่โตขึ้นในอนาคต เราต้องขายสิ่งเหล่านี้ให้เป็นตั้งแต่พนักงานคนแรก ๆ รวมถึงนักลงทุน รู้สึกว่าทักษะนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงแรก การที่เราจะขยับขึ้นไปสู่เป้าหมายได้ เราจำเป็นต้องมีทักษะการขาย หรือการพูดที่จะให้คนอื่นเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อได้ด้วย
ถ้าเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง ต้องทำอย่างไร?
คุณพีรเดช กล่าวว่า คิดว่าอย่างแรกเราต้องฝึก อย่างที่สองถ้าเรารู้ว่าตัวเองไม่เก่งให้หาคนที่เก่งเข้ามาช่วย แต่ถ้าเรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจ การรีบหาคนเข้ามาช่วยถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะการที่เราจะหาคนที่เชื่อแบบเดียวกันกับเรามาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในช่วงแรกมีไม่กี่คนอยู่แล้วที่เชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังอยู่ในจุดเริ่มต้น เราสามารถฝึกฝนทักษะนี้ได้ เพราะการเป็นเจ้าของธุรกิจบางอย่างไม่มีใครสามารถทำแทนเราได้ เว้นแต่เราเป็นบริษัทที่ใหญ่แล้ว มี Co-founder ที่เก่งด้านธุรกิจ เก่งด้านการขาย แต่สมมติถ้าเราอยากจ้างพนักงานคนหนึ่ง แล้วอยากให้เขามาทำงานแทนเรา ยังมองว่าเป็นเรื่องที่ยากอยู่ เพราะความสนใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สุดท้ายการจะทำให้ใครสักคนมีความเชื่อเหมือนเราและมาทำงานกับเรา แปลว่าเรามีความเสี่ยงไม่ต่างจากเขาที่ต้องมาทำงานกับเราเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าเราเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่ถ้าเรามีความเชื่อในธุรกิจของเรามาก ๆ เราจะสามารถเล่าให้คนอื่นเชื่ออย่างที่เราเชื่อได้
ถ้าเริ่มเบื่อกับการเป็นนายตัวเองแล้ว มีวิธีจัดการความรู้สึกนี้อย่างไร?
คุณพีรเดช กล่าวว่า ในธุรกิจที่เราทำอยู่มีโอกาสเติบโตในทางใหม่ ๆ ได้ ถ้าวันไหนที่เราเบื่อ อยากให้เราลองทำโปรเจกต์ใหม่ ๆ ที่สามารถต่อยอดจากสิ่งที่เราทำอยู่ ซึ่งในขั้นของการเป็นเจ้าของธุรกิจมันมีหลายขั้นตอนมาก ๆ สุดท้ายการทำสินค้าเดิม แต่ตัวงานในแต่ละวันก็จะแตกต่างกันออกไปอยู่ดี ตรงนี้น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่น่าจะช่วยลดความเบื่อตรงนั้นได้
การศึกษาในระบบอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ สำหรับคนทำงานในยุคนี้?
คุณภาชรี กล่าวว่า สิ่งที่เห็นชัดมากในปัจจุบัน คือ ตำแหน่งงานหรือทักษะต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเพราะฉะนั้นหลักสูตรที่อยู่ในระบบการศึกษายังปรับตัวไม่ทันแน่นอน เพราะกว่าหลักสูตรจะสามารถอนุมัติได้ใช้เวลาค่อนข้างนาน บางทีอนุมัติเสร็จเรียบร้อย ตำแหน่งงานหรือทักษะต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งในหลักสูตรที่เราเรียนแน่นอนว่ามีพื้นฐานและทักษะต่าง ๆ ในการทำงาน แต่พอเข้ามาสู่โลกการทำงานจริง ยังมีทักษะ อื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีกเยอะมากที่เราต้องเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยิ่งทุกวันนี้มีช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างคนที่พึ่งเรียนจบกับคนที่ทำงานแล้วกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเมื่อก่อนเราจบ Marketing มา บางทีเรารู้แค่พื้นฐานเราก็อยู่ได้ แต่ ณ ตอนนี้โลกหมุนไปเร็วมาก เราจึงต้องเรียนรู้ ต้องทำมากกว่าเมื่อก่อนหลายเท่า เช่นการเรียนรู้เรื่อง Performance Marketing การเข้าใจวิธีการใช้ Data หรือ การใช้ AI เข้ามาช่วยในการทำการตลาดมากขึ้น
คุณพีรเดช กล่าวว่า ไม่พอแน่นอน ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาอยากจะปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีก็ตาม เราต้องยอมรับก่อนว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้ไปเร็วมาก ๆ ไม่ใช่ว่าวันนี้มี Chat GPT แล้วเทอมหน้าเราจะเรียนเรื่องนี้ได้เลย ซึ่งการมีคอร์สออนไลน์เข้ามา มองว่าเหมือนเป็นตัวเร่งที่เปิดโอกาสกับผู้คนให้เรียนรู้ และลงมือทำเพื่อการสร้างประสบการณ์การทำงานของตัวเองมากขึ้น
คุณภาชรี เสริมว่า เทรนด์ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ คือการย้ายสายงาน อยากแนะนำเพิ่มเติมว่าสิ่งที่เราเลือกตอนอายุ 18 ปี ไม่ใช่สิ่งกำหนดทางที่เราจะเป็นไปตลอดชีวิต เราสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา หากเราต้องการมองหาสิ่งใหม่ หรือแพชชั่นใหม่ ๆ ที่เราต้องการ
สร้างสมดุลชีวิตส่วนตัวกับการทำงานอย่างไรให้ Balance กัน?
โดยส่วนตัวเราจะเรียกว่า Work Life Integration มากกว่า คือการผสมผสานเรื่องงานกับชีวิตให้สามารถ Co-exist กันได้ด้วยความรู้สึกที่พอดี เพราะเรามองว่า Work Life Balance ของแต่คนไม่เหมือนกัน บางคนอาจอยากหยุดทำงานทันทีที่เลิกงาน บางคนอาจชอบที่ได้คิดงานต่อ หรือเห็นอะไรก็นึกถึงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องหาจุดที่พอดีของเราให้ได้ ว่าเราอยู่ตรงไหนแล้วเรามีความสุข คุณภาชรี กล่าว
คุณพีรเดช กล่าวว่า เราต้องมีการจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน เพราะจะทำให้เราไม่ต้อง Suffer มาก แต่ถ้าในมุมของเจ้าของกิจการ คือเราเหมือนทุ่มชีวิตให้กับบริษัทของเราไปแล้วจนกลายเป็นจุดโฟกัสของเรา เพราะฉะนั้นการ Work Life Balance สำหรับการเป็นเจ้าของกิจการจึงกลายเป็นเรื่องยาก
ในมุมมองของพนักงานประจำและเจ้าของกิจการ อยากบอกอะไรกับคนที่ยังหลงทางหรือยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรไหม?
คุณภาชรี กล่าวว่า อยากให้ทุกคนลองประเมินตัวเองบ่อย ๆ เพราะว่าเวลาเราทำงานจริง เราจะทำงานไปเรื่อย ๆ ทำจนเป็นกิจวัตรประจำวัน จนบางทีเราอาจลืมกลับมาถามหรือประเมินตัวเองว่าเรายังมีความสุขกับการทำงานนี้อยู่หรือเปล่า? เรายังชอบการเป็นพนักงานอยู่หรือไม่? หรืออยากออกไปมีธุรกิจของตัวเองแล้ว? เพราะฉะนั้นอยากให้ลองประเมินตัวเองเป็นประจำ
ในมุมมองของเจ้าของกิจการมองว่าหลัก ๆ เราต้องรู้จักตัวเอง ต้องลองลงมือทำ และไม่ว่าการตัดสินใจของเราคืออะไร เราต้องเคารพในการตัดสินใจของตัวเอง และสุดท้ายถ้าเราลองทำแล้วแต่ไม่สำเร็จเราก็ต้องยอมรับกับตัวเองว่าสิ่งนั้นอาจไม่เวิร์กสำหรับเรา คุณพีรเดช กล่าว
สุดท้ายไม่ว่าเราจะเลือกเป็นเจ้านายตัวเองหรือมนุษย์เงินเดือนทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเองว่าเราชอบอะไร แน่นอนว่าการเลือกเส้นทางชีวิตของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขชีวิตและความชอบของแต่คนด้วย