ทำไม Gen Z และ Millennials ถึงกล้า ‘ลาออก’ ทั้งที่ยังไม่มีงานรองรับ | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
ทำไม Gen Z และ Millennials ถึงกล้า ‘ลาออก’ ทั้งที่ยังไม่มีงานรองรับ
By Chanapa Siricheevakesorn พฤษภาคม 20, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

เราคงเคยได้ยินกันว่า ‘เด็กสมัยนี้ไม่อดทน’ หรือ ‘ลาออกทำไมบ่อยๆ งานใหม่ก็ยังไม่ได้’

การที่พวกเขาต้องเผชิญกับผลกระทบจากโรคระบาด และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ในวัยทำงานต่างแสวงหาความสมดุล และการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน? หรือจริงๆ แล้วพวกเขาแค่กำลังมองหาวิธีใหม่ๆ ในการทำงาน บทความวันนี้ของ ConNEXT มีคำตอบ

Great Resignation

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดแรงงานทั่วโลกสั่นคลอนเพราะขาดแรงงานหลังจากมีสถานการณ์โรคระบาด คนรุ่นใหม่หลายคนว่างงาน แต่ในทางกลับกันมีคนจำนวนมากเช่นกันที่ลาออก ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘Great Resignation’

ผลสำรวจ Gen Z (อายุ 19-27 ปี) มากกว่า 14,000 คน และคนรุ่น Millennials (อายุ 28-39 ปี) กว่า 7,400 คนจาก 46 ประเทศ ได้รับการสำรวจจาก THE DELOITTE GLOBAL 2022 GEN Z & MILLENNIAL SURVEY เผยว่า

เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ลาออก

Gen Z ประมาณ 40% และ Millennials ประมาณ 24% ลาออกจากงานภายในสองปี และการสำรวจทั่วโลกพบว่าประมาณหนึ่งในสามตัดสินใจลาออกแม้ยังไม่มีงานใหม่มารองรับ ถ้าองค์กรใดสามารถเรียนรู้จากช่วงเวลานี้ และนำการเปลี่ยนแปลงมาใช้ในองค์กรจะช่วยดึงดูดและรักษาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถไว้ได้

  • เงินเดือนยังคงเป็นเหตุผลอันดับ 1 ที่ Gen Z และคนรุ่น Millennials ลาออกจากงานในช่วงสองปีที่ผ่านมา
  • รองลงมาด้วย Gen Z ประมาณ 46% และ Millennials 45% กล่าวว่ารู้สึกหมดไฟเนื่องจากสภาพแวดล้อมในการทำงานส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และความเหนื่อยหน่าย
  • เกือบสองในห้าปฏิเสธงานหรืองานที่ได้รับมอบหมาย เพราะไม่สอดคล้องกับค่านิยมของพวกเขา 

ปัจจัยอะไรคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ

ถ้าองค์กรสามารถทำให้คนรุ่นใหม่พึงพอใจโดยการสร้างสังคม สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมที่หลากหลาย และให้สมดุลกับการทำงานได้ อาจมีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่จะอยู่กับองค์กรนั้นๆ มากกว่าห้าปี และนี่คือปัจจัยที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ทั้ง Gen Z และ Millennials เลือกทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง 

คนรุ่นใหม่จัดให้ความสมดุลระหว่างชีวิต และการทำงานที่ดี (Good work/life balance) รวมถึงโอกาสในการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and development opportunities) สำคัญสูงที่สุด ดังนั้นองค์กรที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จะกลายเป็นสถานที่ทำงานที่น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยรองลงมา ได้แก่ 

  • เงินเดือนสูงๆ หรือ ผลประโยชน์ทางการเงิน (High salary or other financial benefits) 
  • วัฒนธรรมการทำงานที่ดี (Positive workplace culture) เช่น การทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า และรู้สึกว่าได้ทำงานคู่ควรอย่างถูกที่ถูกเวลา 
  • มีโอกาสเติบโตในสายงาน และได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น (Opportunities to progress/grow in my career/take on leadership role)
  • ได้ทำงานที่มีความหมาย (I derive a sense of meaning from my work)
  • ทำงานแบบยืดหยุ่น เช่น การทำงานแบบเข้าออฟฟิศก็ได้ ทำงานแบบทางไกลก็ดี หรือการทำงานแบบไฮบริด (Flexible working model)

นอกจากนี้ Michele Parmelee รองซีอีโอของ Deloitte Global และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล กล่าวว่า “ความคาดหวังขององค์กรในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสิ่งแวดล้อมไม่เคยสูงเท่านี้มาก่อน คนรุ่นเก่าอาจไม่ได้คาดหวังว่าองค์กรจะยืนหยัดในประเด็นทางสังคม แต่คนรุ่นใหม่ทำ พวกเขามีอำนาจมากขึ้นในการเรียกร้องสิ่งต่างๆ และแสดงให้เห็นเสมอว่าพวกเขาเต็มใจที่จะลาออก และพวกเขามีคาดหวังสูงมากกว่านี้”

ลาออก

องค์กรต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่

1. สนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ต้องต่อสู้กับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และความเครียดทางการเงิน

หนึ่งในการดำเนินการที่องค์กรสามารถดำเนินการได้ คือการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนพนักงานของพวกเขา โดยการทำความเข้าใจ ลำดับความสำคัญของพนักงาน จัดสวัสดิการและค่าตอบแทนให้เหมาะสม เช่นเดียวกับผลประโยชน์ เช่น ค่าลาหยุดงาน ค่ารักษาพยาบาล และเงินออมเพื่อการเกษียณ 

2. ส่งเสริมให้พนักงานเป็นผู้นำ และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

Gen Z และ Millennials ต้องการแสดงความคิดเห็น และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ‘Great Resignation’ ทำให้เรื่องนี้สำคัญยิ่งขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ นอกเหนือจากค่าตอบแทนที่ดีขึ้น ความสมดุลในการทำงาน/ชีวิต การเรียนรู้และการพัฒนา และมีความยืดหยุ่นเป็นสิ่งจำเป็นที่จะดึงดูดและรักษาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ 

องค์กรจำเป็นต้องรับฟังพนักงานและให้อำนาจพวกเขาในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงผ่านความคิด เช่น การให้คำปรึกษา การให้โอกาสในการเพิ่มทักษะเพื่อขยายโครงการ ให้โอกาสในการเติบโต สำรวจ และเพิ่มศักยภาพของพวกเขา

3. ใช้กลยุทธ์การทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid work strategies)

บริษัทต่างๆ กำลังมองหาวิธีเพิ่มความยืดหยุ่นในช่วงเวลา และสถานที่ในการทำงาน จากการสำรวจ Pulse Survey of C-suite ของ PWC พบว่า มีบริษัทกว่า 43% นำเสนอโมเดลไฮบริด ที่เน้นในเรื่อง สุขภาพกาย สุขภาพจิต และการเงิน กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น และพ่วงมาด้วยผลประโยชน์อื่นๆ เช่น การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ วันหยุดพักผ่อน และการทำงานจากที่ใดก็ได้ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานแบบมีส่วนร่วมซึ่งทุกคนมีความเท่าเทียมกันอีกด้วย

4. ให้ความสำคัญ และส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยลดโลกร้อน และสิ่งแวดล้อม

Gen Z และ Millennials ใส่ใจเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน และสิ่งแวดล้อม พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมโดยตรง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธุรกิจต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง

องค์กรต้องสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานมีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ใช้แก้วน้ำประจำตัวเพื่อกรอกน้ำแทนการใช้แก้วกระดาษหรือแก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง 

นอกจากนี้ยังรวมถึงกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ เช่น ลดการเดินทางเข้าออฟฟิศ และพื้นที่สำนักงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

5. สนับสนุนสุขภาพจิตในที่ทำงาน

ระดับความเครียดและความวิตกกังวลสูงในกลุ่ม Gen Z และ Millennials ไม่น่าจะบรรเทาลงได้ง่ายๆ เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา 

ในบริบทนี้องค์กรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสุขภาพจิตในการทำงาน และบรรเทาสาเหตุของความเครียดและความเหนื่อยหน่าย สภาพแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่หลายๆ องค์กรควรให้ความสำคัญ เพื่อให้พนักงานสามารถพูดเกี่ยวกับความต้องการของตนได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสิน

ที่มา - CNBC, Deloitte

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/talent-insights/why-are-gen-z-and-millennials-willing-to-leave-their-jobs