ทำไมบริษัทยังคงอยากให้พนักงานกลับออฟฟิศ ท่ามกลางความต้องการที่เปลี่ยนไปของคนหมู่มาก | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
ทำไมบริษัทยังคงอยากให้พนักงานกลับออฟฟิศ ท่ามกลางความต้องการที่เปลี่ยนไปของคนหมู่มาก
By Connext Team กันยายน 22, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

‘ความยืดหยุ่น’ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกการทำงาน เพราะทำให้พนักงานหลายคนสามารถใช้ชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนชอบ แต่แล้วในช่วงที่ผ่านมากลับมีหลายบริษัทที่ให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ แน่นอนว่าทำให้หลายคนไม่ชอบใจ

พนักงานยังคงคาดหวังว่าจะยังคงมีอิสระในการทำงานแบบเดิมต่อไป จากการศึกษาโดย McKinsey & Company พนักงาน 40% กล่าวว่าแรงจูงใจในการทำงานอันดับต้นๆ คือความยืดหยุ่น สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจว่าจะยังคงทำงานที่เดิมต่อไปหรือไม่ 41% กล่าวว่า การขาดความยืดหยุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจลาออก ในขณะเดียวกัน การศึกษาของ Gallup พบว่า 54% ของพนักงานที่ทำงานทางไกลเต็มรูปแบบ และ 38% ของคนที่ทำงานแบบไฮบริด กล่าวว่าจะลาออกหากบริษัทไม่ให้ทำงานทางไกลแล้ว

กลับออฟฟิศ

ผลวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ‘ความยืดหยุ่น’ กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพนักงาน อีกทั้งช่วงนี้หลายบริษัทต่างก็เผชิญปัญหาเกี่ยวกับการสรรหาและการรักษาคนเก่งมากกว่าที่เคย ทำให้บางบริษัทเริ่มมองหามาตรการเพื่อสนับสนุนพนักงานในเรื่องความยืดหยุ่น เช่น การทำงานทางไกลเต็มรูปแบบ การทำงานแบบ Asynchronous และการทำงานแบบไฮบริด

แต่ท่ามกลางความต้องการที่เปลี่ยนไปของพนักงานนี้ ก็ยังมีบางบริษัทที่ยังคงลังเลหรือไม่ทำตามความคาดหวังของพนักงาน เช่น ผู้บริหารเรียกร้องให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา เพื่อกลับไปสู่การทำงานรูปแบบเดิมก่อนโควิดระบาด หรือแทนที่จะให้อิสระแก่พนักงานบริษัทกลับเลือกที่จะขึ้นเงินเดือนแทน นอกจากนี้บางบริษัทยังมองว่าความยืดหยุ่นเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไร

การเผชิญหน้าระหว่างพนักงานกับบริษัทในประเด็น ‘ความยืดหยุ่น’

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 หลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าพนักงานหลายล้านคนสามารถทำงานทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลงบริษัทหลายแห่งเริ่มเรียกร้องให้พนักงานกลับไปทำงานแบบเดิม นั่นคือการทำงานในออฟฟิศ ซึ่งบางที่อาจจะให้ทำงานแบบไฮบริด แต่บางบริษัทกลับเรียกให้เข้าออฟฟิศอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีความเข้มงวด เช่น ธนาคาร 

เพราะธุรกิจการเงินเป็นธุรกิจที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งหากทำงานทางไกลแล้วอาจก่อให้เกิดความยุ่งยาก อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมองค์กรแบบอนุรักษ์นิยมทำให้องค์กรไม่เห็นด้วยกับการจัดการที่มีความยืดหยุ่น ผู้บริหารหลายคนจึงมีความคิดที่ว่าการทำงานรูปแบบเดิมที่มีมาอย่างยาวนานย่อมดีกว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการทำงานใหม่ๆ 

ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ผลักดันให้พนักงานกลับมาสู่การทำงานรูปแบบเดิมเพราะต้องการหลีกเลี่ยงความไม่สมดุลระหว่างทีม เพราะบางอุตสาหกรรมมีทั้งคนที่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศและบางคนสามารถทำงานทางไกลได้ ดังนั้นจึงสนับสนุนให้มีการทำงานแบบตัวต่อตัวมากกว่าเพื่อสร้างความเท่าเทียม 

อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงบางคนยังกลัวว่าการทำงานทางไกลอาจส่งผลเสียต่อเป้าหมายทางธุรกิจ และสูญเสียความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปด้วย รวมทั้งผู้บริหารบางคนยังกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อความเป็นผู้นำของตัวเอง เพราะหากให้พนักงานทำงานทางไกลแล้วตนเองจะเสียการควบคุมและสภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้าง

การไม่สนับสนุนความยืดหยุ่นนั้นเป็นผลมาจากความไม่ไว้วางใจ หัวหน้าขาดความไว้ใจต่อพนักงานจึงไม่อยากสนับสนุนให้พนักงานทำงานทางไกล เพราะกลัวพนักงานจะอยู่ไกลสายตาของตนเอง แต่ ‘ความไว้วางใจ’ ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้นำควรมีในโลกการทำงานใหม่นี้

ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะสามารถลาออกได้

แม้ว่าพนักงานหลายคนจะตัดสินใจลาออกหากบริษัทให้กลับไปทำงานออฟฟิศ แต่พนักงานทุกคนมีทางเลือกไม่เหมือนกัน พนักงานที่อยู่ในกลุ่มคนทำงานที่มีความรู้มักจะมีทางเลือกมากกว่า เนื่องจากบริษัทต่างๆ กำลังแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงผู้สมัคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยี 

ถึงแม้ว่าพนักงานจะดูมีอำนาจในการเลือกมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเลือกได้ คนที่จะสามารถลาออกได้ส่วนใหญ่ต้องเป็นคนที่มีทักษะที่เป็นที่ต้องการในภาคธุรกิจเท่านั้น ถึงจะสามารถก้าวเข้าสู่งานต่อไปได้ง่ายกว่า

เมื่อการเพิ่มเงินเดือนไม่ใช่ทางออกระยะยาว

ไม่ใช่ทุกบริษัทที่ให้ความสำคัญในประเด็นความยืดหยุ่น บริษัทสตาร์ทอัพมีแนวโน้มที่จะให้อิสระแก่พนักงานมากกว่า เพราะเป็นองค์กรที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้ง่ายกว่า ในขณะที่บริษัทที่อยู่มานานอาจใช้เวลานานกว่าจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้มีความยืดหยุ่นไปพร้อมๆ กับการรักษาเป้าหมายทางธุรกิจได้ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นเรื่องยากสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ จึงทำให้บางบริษัทตัดสินใจที่จะไม่เปลี่ยนไปตามความคาดหวังของพนักงาน

หลายบริษัทเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นมากกว่า เช่น การเพิ่มค่าจ้าง แต่การใช้ค่าจ้างเพื่อจูงใจพนักงานอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการดึงดูดและรักษาพนักงานเอาไว้ โดยเฉพาะพนักงานผู้มีความสามารถ หากบริษัทไม่หาวิธีเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพนักงานก็อาจส่งผลเสียในระยะยาวได้ 

เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วบริษัทที่ต่อต้านการให้ความยืดหยุ่นแก่พนักงานจะเริ่มปรับตัว อย่างตัวอย่างล่าสุดคือ JPMorgan Chase ตอนแรกผู้บริหารเคยวิจารณ์ถึงการทำงานทางไกลมาก่อนและต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลา แต่ปัจจุบันก็ออกมาบอกว่าพนักงานประมาณ 40% ของบริษัทจะทำงานแบบไฮบริด เนื่องจากว่าหลายบริษัทเริ่มเล็งเห็นแล้วว่าการให้พนักงานกลับไปทำงานออฟฟิศไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

เมื่อเวลาผ่านไปบริษัทต่างๆ มีแนวโน้มที่จะสร้างนโยบายที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ทั้งพนักงานและบริษัทสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โลกของการทำงานเปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนก็ต้องปรับเปลี่ยนตามอย่างเลี่ยงไม่ได้

อ้างอิง BBC (1) (2)

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/talent-insights/why-some-employers-wont-give-in-to-flexibility