ถอดบทเรียน ปัจจัยผลักดันให้จีนก้าวกระโดดสู่ผู้นำ 'สังคมไร้เงินสด' Cashless Society | Techsauce

ถอดบทเรียน ปัจจัยผลักดันให้จีนก้าวกระโดดสู่ผู้นำ 'สังคมไร้เงินสด' Cashless Society

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ผลักดันให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไม่ต้องสงสัย หลายคนอาจจะได้เห็นพัฒนาการและตัวอย่างของกระแสสังคมไร้เงินสด หรือเป็นอีกคนที่ได้รับอิทธิพลกันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบ Contactless Payment ที่เพียงแค่แตะบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือ Smart Card ก็สามารถชำระเงินได้ทันที นาฬิกาฝังชิพอัจฉริยะผูกกับบัตรเครดิต การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์บน PayPal ไปจนถึงการเข้ามาปฎิวัติโลกการเงินอย่างเทคโนโลยี Blockchian

ในทุกวันนี้ดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยกระแสเทคโนโลยีใหม่ๆ และเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งการทำธุรกรรมออนไลน์ไม่เพียงแต่จะช่วยผู้บริโภคให้ได้รับความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย ยังช่วยลดอัตราการฉกชิงวิ่งราว อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นที่น่ากังวลในเรื่องของความเป็นส่วนตัว เนื่องจากทั้งทางผู้ประกอบการธนาคารหรือแม้แต่รัฐบาลเองก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมส่วนบุคคลได้

กระแสไม่พกเงินออกจากบ้านในจีน

เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลจีนประกาศระงับการเทรด Cryptocurrency รวมถึงแบนเว็บเทรดต่างชาติ อีกทั้งเว็บ BTCC บริษัท Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดในจีนก็ได้หยุดให้บริการซื้อขายเหรียญคริปโต เนื่องมาจากรัฐบาลจีนมองว่า Bitcoin จะถูกนำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย การแข่งขันนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่สกุลเงินดิจิตอลเท่านั้น การต่อสู้ระหว่างผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ในจีนก็กำลังเป็นที่น่าจับตาเช่นกัน

ในประเทศจีน เทรนด์ของการออกจากบ้านโดยไม่พกอะไรติดตัวนอกจากโทรศัพท์มือถือกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงมีเจ้าเครื่องเล็กๆ นี้ ทุกคนก็สามารถใช้จ่ายได้กับเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่ซื้อบัตร Metrocards ไปจนถึงจองตั๋วเครื่องบิน แม้แต่ร้านอาหารสตรีทฟู้ดข้างทางก็ยังรับชำระเงินผ่านมือถือ การชำระเงินไม่เคยง่ายขนาดนี้มาก่อน จากรายงานปี 2017 พบว่ากว่า 660 ล้านคนใช้อินเตอร์เน็ตได้ใช้จ่ายผ่านมือถือรวมมูลค่ากว่า 9 ล้านล้านดอลล่าห์สหรัฐ และตัวเลขก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจัยผลักดันจีนในการขึ้นเป็นผู้นำ Mobile Payment

การที่เทรนด์สังคมไร้เงินสดกำลังมาแรงในจีนมีปัจจัยอะไรเป็นตัวผลักดันบ้างมาดูกันค่ะ

  • แนวโน้มของผู้ใช้งานมือถือมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรายงานล่าสุดปี 2017 ของ China Internet Network Information Center พบว่าจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตของจีนอยู่ที่ 772 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือชำระเงินออนไลน์มี 527 ล้านคน โดยในสายตาของคนจีนแล้วการใช้จ่ายผ่านมือถือดูจะเป็นอะไรที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยมากกว่าการใช้เงินสด
  • ความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลจีนในการออกนโยบายและระเบียบข้อบังคับในการสนับสนุน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ปรากฎในแผนพัฒนาห้าปี โดยมีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจโดยการเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ตเป็นระบบ 5G
  • นอกจากการเข้าถึงสัญญาณแล้วราคาของมือถือที่ถูกลง ก็ได้เป็นอีกแรงที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้คนในทุกชนชั้นได้เข้าถึงการใช้สมาร์ทโฟน
  • แอพพลิเคชันเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยหลักในการผลักดันการธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ โดยมีสองผู้เล่นหลักๆ คือ Alipay (ของ Alibaba) และ WeChat Pay (ของ Tencent) ซึ่งผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกสบาย เพียงแค่กด "จ่าย" หรือสแกน QR โค้ด นอกจากนี้ยังสามารถโอนเงินระหว่างบุคคลโดยไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งก็เป็นกรณีที่น่าสนใจว่าบริษัทที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเงิน การธนาคารนั้นเข้ามาทำการปฏิวัติการชำระเงินและสินค้าบริการได้อย่างไร

ภาพจาก: Blog HQ Wharton FinTech Han 

นอกจากนี้ Alipay ยังดำเนินธุรกิจ Taobao ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ชที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ส่วน WeChat Pay เป็นแอพพลิเคชันรับส่งข้อความที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งข้อได้เปรียบเหล่านี้ทำให้ Alipay และ WeChat Pay กลายเป็นสองระบบการชำระเงินที่ได้รับความนิยมที่สุดในตลาดจีน โดยตามรายงานของ iResearch คิดเป็นร้อยละ 54 และ 40 ตามลำดับ

  • การแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ชที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มหนุ่มสาวที่เป็น Early Adopters ในการใช้จ่ายผ่านมือถืออีกทั้งกลุ่มชนชั้นกลางที่มีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้นก็ได้เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันเช่นกัน โดยสิ่งที่ถือเป็น pain point หลักๆ ที่ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเนื่องจากความยากลำบากในการเข้าถึงสินค้าและบริการของประชาชนในหลายพื้นที่นั่นเอง
  • สัดส่วนประชากรในเมืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และปักกิ่ง
  • การเพิ่มขึ้นของนวัตกรรมทางการเงินและการมีระบบ Ecosystem ด้าน FinTech ที่มั่นคง
Source: Goldman Sachs

นอกจากการใช้ QR code ในการใช้จ่ายและโอนเงิน ซึ่งความสะดวก รวดเร็ว อีกทั้งการไม่มียอดโอนขั้นต่ำในแต่ละครั้งทำให้มีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาผู้ค้าและผู้บริโภคอีกทั้งยังรวมไปถึงคนที่อาศัยอยู่ในแถบชนบทด้วยเช่นกัน เหนือกว่านั้นคือระบบ Face Recognition การจดจำใบหน้าของ Alibaba ที่แค่เพียงสแกนใบหน้าก็สามารถชำระเงินผ่าน Alipay Account ได้ทันที

ประเทศไทยอยู่ในจุดไหนในการเป็น Cashless Society?

เส้นทางสังคมไร้เงินสดในประเทศไทยนั้นยังคงมีให้ได้เห็นข่าวความพยายามในการผลักดันให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้พยายามผลักดันแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เพื่อทำการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของระบบธนาคารในประเทศไทย และมีแผนยกระดับให้ประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจยุค Cashless society เหมือนในหลายๆ ประเทศ อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการที่มีบริการโอนเงินแบบ ‘พร้อมเพย์ (PromptPay)’ ที่ผู้ใช้แค่ใส่เลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์ก็สามารถทำธุรกรรมได้ทันที นับว่าเป็นอีกหนึ่งการช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามเรื่องของความปลอดภัยยังคงเป็นเรื่องสำคัญ คนไทยจำนวนมากยังคงวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยของการชำระเงินออนไลน์อยู่ อีกทั้งเรื่องการขยายการชำระเงินแบบไร้เงินสดออกไปในพื้นที่ชนบทก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องค่อยๆ พัฒนากันไป ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่ประเทศที่ได้รับการพัฒนาได้เผชิญกันมาแล้วทั้งนั้น

อ้างอิงข้อมูลจาก: UBS, Financial Times, Techsauce

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...