มกราคม 17, 2023 | By Suchanan Songkhor
การเกิดวิกฤตโรคระบาดในปี 2022 ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวกันอย่างมากจากการทำงานในออฟฟิศสู่การทำงานในรูปแบบ Work from Home และจาก Work from Home สู่การทำงานในรูปแบบ Hybrid
แม้ว่าในปี 2023 สถานการณ์โรคระบาดได้เริ่มคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่การใช้ชีวิตรวมถึงการทำงานของผู้คนกลับได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ส่งผลให้หลายองค์กรเริ่มหันมาใช้การทำงานในรูปแบบ Hybrid มากขึ้นและต้องปรับเปลี่ยนนโยบายในการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของพนักงานในยุคใหม่มากขึ้นด้วย ดังนั้นวันนี้ ConNEXT จะพาไปส่อง 6 เทรนด์ที่องค์กรใหญ่-เล็กควรจับตามอง! ในปีนี้
1. นำเทคโนโลยี ATS เข้ามาช่วยในการสรรหาพนักงาน
ปัจจุบันหลายองค์กรได้ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีมาเพื่อช่วยคัดกรองเรซูเม่ของผู้สมัครที่มีจำนวนมากขึ้น เช่น Applicant Tracking System (ATS) ที่เป็นระบบติดตามผู้สมัครหรือเครื่องมือสแกน Resume ในกระบวนการจ้างงานและสรรหาบุคคล ซึ่งระบบนี้จะใช้ AI เพื่อช่วยในการคัดกรองและตรวจสอบเรซูเม่ในด่านแรก
เหตุผลที่องค์กรส่วนใหญ่หันมาใช้ระบบนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันของตลาดที่สูงขึ้น ส่งผลให้แต่ละองค์กรต้องเร่งหาผู้สมัครที่มีความสามารถ (Talent) เข้ามาร่วมงานกับองค์กรของตัวเอง เพราะฉะนั้นระบบ ATS จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงาน เพราะนอกจากเป็นระบบอัตโนมัติที่ช่วยในการการค้นหาผู้สมัคร ไปจนถึงการว่าจ้างในการทำงานแล้ว ยังช่วยลดเวลาและขั้นตอนในการอ่าน Resume ของ HR และเร่งความเร็วของการจ้างงานได้อีกด้วย
2. สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบ DEI
Diversity Equity Inclusion (DEI) คือ แนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร ซึ่งเทรนด์นี้กำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่มองหาและต้องการจากองค์กร เนื่องจากปัจจุบันทุกคนต้องการทำงานในที่ที่ตัวเองได้รับความเคารพและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
ดังนั้นองค์กรยุคใหม่ควรสร้างวัฒนธรรมแบบ DEI ที่ยอมรับความหลากหลายทั้งเรื่องเพศ เชื้อชาติ ภาษา อายุ ประสบการณ์การทำงาน รวมถึงการมองเห็นคุณค่าและยอมรับในความแตกต่างของพนักงานในองค์กร ซึ่งหมายถึงพนักงานทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือการทำให้พนักงานรู้สึกแปลกแยกกับบุคคลอื่นในองค์กรนั่นเอง
3. องค์กรปรับตัวเพื่อเรียนรู้การทำงานรูปแบบ Remote Work มากขึ้น
การเกิดวิกฤตโรคระบาดเปรียบเสมือนตัวเร่งที่ทำให้การทำงานรูปแบบ Remote หรือการทำงานระยะไกลได้รับความนิยมมากขึ้น
ในมุมขององค์กรสิ่งที่ต้องปรับเพื่อให้เท่าทันกระแสการทำงานแบบ Remote คือ ปรับแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เพราะการทำงานในรูปแบบ Remote จะให้ความสำคัญกับผลงานมากกว่าการจัดระเบียบการทำงานของพนักงาน
ฉะนั้นองค์กรอาจต้องลดความเข้มงวดบางอย่างลง เช่น การตอกบัตรเข้างานหรือการเข้างานให้ตรงเวลา ปรับมาเป็นการให้คุณค่าและโฟกัสที่ตัวผลงานหรือประสิทธิภาพในการทำงานแทน
4. ปรับโครงสร้างค่าตอบแทนให้ทัดเทียมกับตลาดแรงงาน
ปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ตัดสินใจลาออกคือ การได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม รองลงมาคือเรื่องนโยบายการทำงานทางไกล และต้องการเปลี่ยนสายอาชีพ ซึ่งต้องยอมรับว่าสภาพเศรษฐกิจนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกหรือเปลี่ยนสายงานเช่นกัน
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าหลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับสวัสดิการหรือค่าตอบแทนมากขึ้น เพื่อรักษาพนักงานในองค์กร และในขณะเดียวกันก็ดึงดูด Talent ที่เต็มไปด้วยคุณภาพอีกด้วย
5. ระบบ HRIS เทคโนโลยีที่ช่วยให้การทำงานของ HR ง่ายขึ้น
ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นเป็นเหตุให้แต่ละองค์กรต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีรวมถึง HR เช่นกัน
จะเห็นได้ว่างานของ HR คือการบริหารดูแลทรัพยากรภายในองค์กรไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรทั่วไป เช่น อุปกรณ์ในการทำงานต่างๆ เพราะฉะนั้นการมีเครื่องมือหรือระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล (Human Resource Information System หรือ HRIS) นอกจากจะช่วยให้ HR ทำงานได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยจัดการทรัพยากรบุคคลในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การออกแบบงาน การจ้างงาน การพัฒนา การจัดสรรเงินเดือน รวมถึงการจัดสรรสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งในขณะนี้ระบบ HRIS กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในหลายๆ องค์กร
6. คุณภาพของงานสำคัญกว่ารูปแบบการทำงาน
จากผลสำรวจของ Microsoft พบว่าพนักงานกว่า 90% บอกว่าการทำงานในรูปแบบ Remote ส่งผลให้การทำงานของตัวเองมีประสิทธิภาพมากกว่าการเข้าทำงานในออฟฟิศ แต่กลับกันบรรดานายจ้างเกือบ 85% บอกว่าการทำงานในรูปแบบ Hybrid หรือ Remote นั้นเป็นเรื่องยากที่จะมั่นใจว่าพนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง เพราะนายจ้างหลายคนยังคงเชื่อว่าการทำงานในรูปแบบนี้มีประสิทธิภาพน้อยกว่าการทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลา
ฉะนั้นองค์กรควรมีการประชุมแบบ One-on-one Meetings หรือการประชุมแบบตัวต่อตัวกับพนักงาน เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้องค์กรกับพนักงานเข้าใจข้อมูลการทำงานที่เกิดขึ้นได้ตรงกัน และอาจทำให้พนักงานได้รับคำแนะนำดีๆ หรือรับรู้ทิศทางในการทำงานที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้อีกด้วย
จากเทรนด์การทำงานในปี 2023 จะเห็นว่าองค์กรต่างๆ ทั้งใหญ่-เล็กควรปรับตัวให้เท่าทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการทำงานและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ให้มากขึ้น พร้อมทั้งเปิดกว้างและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย เพื่อรักษาพนักงานที่มีคุณภาพและดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มองหาเพียงองค์กรที่ให้ค่าตอบแทนสูงเท่านั้น แต่ยังมองหาองค์กรที่เห็นคุณค่าและใส่ใจถึงความเป็นอยู่ของพนักงานอีกด้วย
อ้างอิง : zenefits