People Operations คืออะไร? มีบทบาทสำคัญต่อองค์กรอย่างไร | Techsauce
People Operations คืออะไร? มีบทบาทสำคัญต่อองค์กรอย่างไร

มกราคม 26, 2023 | By Suchanan Songkhor

ปัจจุบันสภาพแวดล้อมในสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะด้านรูปแบบการใช้ชีวิต เทคโนโลยี หรือกระแสความนิยม ส่งผลให้องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงเร็วตามไปด้วย ทำให้ทุกวันนี้องค์กรส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับพนักงานมากขึ้น จะเห็นได้จากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Buffer และ IBM หันมาให้ความสำคัญกับตำแหน่ง People Operations เพราะฉะนั้นวันนี้ ConNEXT จะพามารู้จักกับ People Operations ว่าคืออะไร และมีความแตกต่างจาก HR อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย! 

People Operations คืออะไร? 

People Operations คือ ฝ่ายบริหารทรัพยากร “คน” ในองค์กร เช่นเดียวกับ HR แต่ People Operations จะมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” มากกว่าโดยแนวคิดที่ว่า “คน” ไม่ใช่แค่ทรัพยากรขององค์กรแต่เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปข้างหน้าและเติบโตไปด้วยกัน

ความแตกต่างระหว่าง People Operations กับ HR  

People Operations สามารถแบ่งออกเป็น 5 ตำแหน่ง ดังนี้ 

1. People Operations Manager  ทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจเกิดจากการทำงาน และดูแลภาพรวมของพนักงานภายในทีม รวมถึงตรวจสอบพนักงานในทีมว่าสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิหรือไม่ 

2. People Operations Coordinator ทำหน้าที่ประสานงาน หรือประชาพันธ์ข่าวสารภายในองค์กร ซึ่งมักจะทำงานร่วมกับ People Operations Manager 

3. Director of People Operations คือผู้อำนวยการของทีม People Operations ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาและผลักดันนโยบายด้านบุคลากรให้กับพนักงาน พร้อมแนะแนวทางที่จะทำให้พนักงานบรรลุเป้าหมาย

4. People Operations Specialist ทำหน้าที่ตรวจสอบและดูแล Data ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งคนที่ได้ทำงานในตำแหน่งนี้มักได้ร่วมทำงานกับทีมอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นทักษะในการสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับตำแหน่งนี้

5. People Operations Analyst ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์หรือหาข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ความสำคัญของ People Operations 

1. ติตตามผลประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายบริษัท

People Operations มีหน้าที่ช่วยให้พนักงานเข้าใจเป้าหมายของบริษัทและบทบาทหน้าที่การทำงานของตนเอง รวมถึงออกแบบรูปแบบการทำงานของพนักงานให้รู้สึกอยากพัฒนาฝีมือและอยากทำงานในองค์กรนี้ต่อไปเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างผลกำไรให้กับองค์กรและช่วยให้องค์กรเติบโตไปข้างหน้าได้

2. วางแผนและดูแล Journey ของพนักงาน

People Operations จะช่วยออกแบบหรือวางแผนแต่ละ Step ของพนักงานที่เข้ามาทำงานในองค์กร ตั้งแต่การสัมภาษณ์งานไปจนถึงการรับเข้าทำงานว่าจะมีรูปแบบการทำงานไปในทิศทางไหน หรือเรียกง่ายๆ คือแนวทางในการดูแลพนักงานนั่นเอง

3. สร้างแรงจูงใจให้พนักงาน

มากกว่า 40% ที่พนักงานลาออก ส่วนหนึ่งมาจากการไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน จนในบางครั้งทำให้พนักงานรู้สึกกดดัน เครียด ไม่มีกำลังใจ หรือท้อต่อการทำงาน ฉะนั้น People Operations จึงมีหน้าที่สร้างแรงจูงใจ หรือเสริมกำลังใจในด้านอื่นๆ เพื่อให้พนักงานรู้สึกดีขึ้นและสามารถทำงานต่อไปได้ 

4. สร้างความผูกพันระหว่างองค์กรกับพนักงาน โดยผ่าน People Operations

ปัจจุบันอัตราการลาออกสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงภาวะหมดไฟหรือ Burnout ของพนักงานที่เพิ่มขึ้นทุกวัน สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อองค์กรโดยตรง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ People Operations ต้องรักษาพนักงานไว้ เพื่อลดอัตราการขาดงาน ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน หรือพูดคุยกับพนักงานให้มากขึ้น เพื่อให้รู้ว่าพนักงานต้องการอะไร และนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทขององค์กรมากที่สุด เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานในองค์กรได้อย่างมีความสุข 

5. พัฒนาพนักงานในองค์กร

อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของ People Operations คือ การพัฒนาพนักงานในองค์กร เช่น การฝึกอบรมที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้พนักงาน การสร้าง Career Path หรือแม้แต่การทำ KPI แน่นอนว่าการที่องค์กรจะก้าวไปข้างหน้าได้ ส่วนหนึ่งต้องมาจากพนักงานที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการพัฒนาพนักงานจึงมีความสำคัญต่อทุกองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม  

6.  สร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงาน

การสร้างความไว้วางใจต้องเริ่มจากการทำให้พนักงานรู้สึกไว้วางใจในตัวของ People Operations ก่อน อย่างแรกคือคุณต้องสื่อสารกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแสดงถึงความใส่ใจต่อพนักงาน 

อย่างที่สองคือแสดงความโปร่งใสและความซื่อสัตย์ต่อพนักงาน เช่น การพูดคุยกับพนักงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องอะไรก็ตาม ที่สำคัญควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นด้วย เพราะนั่นจะทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าและรู้สึกว่าคุณไม่มองข้ามความคิดเห็นของเขานั่นเอง 

สุดท้ายคือคุณต้องรับฟังพนักงานให้มากขึ้น เพราะในบางครั้งคุณต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นขอพนักงาน และดำเนินตามการตาม Feedback ของพวกเขาบ้าง เพื่อให้พนักงานรู้สึกวางใจในตัวคุณ  

7. จัดการการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรทำงานได้ดีขึ้น

People Operations มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการหรือบริหารการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ เช่น การย้ายระบบการทำงานจากแมนนวลไปสู่ดิจิทัล หรือการโยกย้ายของพนักงานภายในทีม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มักดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กร เพื่อลดผลกระทบที่อาจส่งผลต่อเป้าหมายทางธุรกิจ 

8. พัฒนาวัฒนธรรมให้มีความหลากหลายมากขึ้น 

สิ่งสำคัญสุดท้ายของ People Operations มีหน้าที่ในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมองค์กรให้มีความหลากหลายและให้ตรงกับความต้องการของพนักงานในยุคปัจจุบัน

อ้างอิง : aihr

No comment