5 เคล็ดลับการตอบคำถามเกี่ยวกับ “จุดแข็งและจุดอ่อน” ในการสัมภาษณ์ | Techsauce
5 เคล็ดลับการตอบคำถามเกี่ยวกับ “จุดแข็งและจุดอ่อน” ในการสัมภาษณ์

มิถุนายน 14, 2021 | By Connext Team

ในการสัมภาษณ์งานนอกจากการตอบคำถามว่าทำไมถึงสนใจในตำแหน่งนี้ ที่ถือเป็นเรื่อง ที่ยากแล้ว ยังมีคำถามที่ต้องทำให้ทุกคนต้องคิดหนักอีกก็คือ “จุดแข็งและจุดอ่อน” ของเรานั้นคืออะไร? เป็นคำถามที่ผู้สัมภาษณ์จะต้องถามเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์เพื่อเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจได้มากขึ้น

เราสามารถการคาดเดาคำถามและสร้างคำตอบเกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ โดยการเตรียมความพร้อมจะทำให้เราสามารถพูดถึงจุดแข็งได้อย่างเชี่ยวชาญและพูดถึงจุดอ่อนได้อย่างไม่กระทบต่อการตัดสินใจของผู้สัมภาษณ์

1. ซื่อสัตย์

สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องเมื่อพูดถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในการสัมภาษณ์คือความซื่อสัตย์ อาจฟังดูเป็นเรื่องแปลกแต่ก็เป็นเรื่องจริง คำตอบที่ฟังดูจริงใจจะสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์มากกว่าคำตอบที่แต่งเติมหรือไม่เป็นความจริง บริษัทจะไม่รับคนที่ไม่มีความซื่อสัตย์ตั้งแต่ยังไม่เข้าทำงาน การจะเป็นพนักงานที่ดีได้นั้นจะต้องเข้าใจและใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและเรียนรู้จุดอ่อน ดังนั้นต้องแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเรามีจุดแข็งและจุดอ่อนแบบไหน

2. เล่าเรื่อง

การเล่าเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาเป็นประสบการณ์ในชีวิตของเรานั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะจะช่วยสร้างภาพตัวอย่างให้ผู้ฟังเข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้น เช่น การเล่าถึงช่วงเวลาที่ความเข้มแข็งหรือจุดแข็งทำให้เราทำบางสิ่งได้สำเร็จแบบมืออาชีพ หรือเมื่อมีความอ่อนแอเข้ามาแทรกในระหว่างทาง เช่น ถ้าเราเป็นคนที่อดทนเก่งรับแรงกดดันจากการทำงานได้ เราสามารถบอกผู้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำงานในเวลานั้นที่ต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน แต่ถ้าจุดอ่อนของเราคือ ไม่มีความมั่นใจในการนำเสนองาน เราก็สามารถอธิบายสั้นๆ ถึงเวลาที่รู้สึกประหม่าเมื่อต้องนำเสนองานให้กับลูกค้า ซึ่งการแบ่งปันเรื่องราวจริงๆ เหล่านี้ของเราไม่เพียงแต่จะทำให้คำตอบนั้นดูโดดเด่น แต่ยังช่วยสร้างความจริงใจให้คำตอบ และสร้างประสิทธิภาพให้ตัวเราได้อีกด้วย 

3. เพิ่มเติมข้อมูลเชิงลึก

การให้คำตอบที่เป็นความจริงและมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เป็นภาพประกอบเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในการสัมภาษณ์ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบจนกว่าจะมีการเพิ่มข้อมูลเชิงลึกลงไป สิ่งนี้ใช้ได้กับทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่มีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละกรณี 

เมื่อกำลังพูดถึงจุดแข็ง ในตอนสุดท้ายของคำตอบควรเชื่อมโยงความสามารถหรือลักษณะเด่นของเรากับสิ่งที่บริษัทต้องการ โดยเราสามารถบอกผู้สัมภาษณ์ว่าจุดแข็งนั้นจะมีประโยชน์อย่างไรในตำแหน่งนี้ เช่น เนื่องจากทำงานภายใต้แรงกดดันได้จึงมีความอดทนสูงและเชื่อมั่นว่าจะทำงานร่วมกับทีมที่ บริษัทนี้ได้เป็นอย่างดีและงานที่ออกมาจะต้องมีคุณภาพสูง

ในกรณีของจุดอ่อน เราจะต้องแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาตัวเองที่จะช่วยให้ข้ามผ่านจุดอ่อนนั้นไปได้ และเราจะต้องบอกถึงแนวทางการแก้ไขจุดอ่อนนั้นๆ ให้ได้เช่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะเอาชนะจุดอ่อนของตัวเอง และถือเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้สัมภาษณ์พิจารณาได้เป็นอย่างดี

4. พูดให้สั้น กระชับ และเข้าใจง่าย

แม้เรื่องราวที่เราอยากจะเล่านั้นจะเป็นเรื่องราวที่ยาวมากในชีวิตจริง แต่การสัมภาษณ์ถือว่ามีเวลาจำกัดจึงไม่จำเป็นต้องเล่าตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจบเลยทั้งหมด สามารถเล่าให้สั้น เน้นไปที่ใจความสำคัญ เน้นไปที่จุดแข็งหรือจุดที่เห็นว่าสำคัญ จำกัดขอบเขตของเรื่องให้แคบลง และลงรายละเอียดที่มีประโยชน์โดยเน้นที่คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ 

5. อย่าเครียดจนเกินไป

ขณะที่อยู่ในช่วงของการเตรียมตัวเพื่อคาดเดาคำถามที่อาจจะถูกถามในการสัมภาษณ์ และเตรียมคำตอบไว้เพื่อการสัมภาษณ์นั้น อย่าเครียดมากจนเกินไป เพราะคำถามอาจจะไม่ตายตัวหรือผู้สัมภาษณ์อาจไม่ถามเลยก็ได้ อีกทั้งจะทำให้เรากังวลจนไม่มีสมาธิในการสัมภาษณ์ การจะรับคนเข้าทำงานนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจุดแข็งหรือจุดอ่อนทั้งหมด แต่การถามคำถามนี้เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของบริษัทเท่านั้น


No comment