How ตอบคำถามสัมภาษณ์ HR อย่างไรให้ดูโปร "เล่าเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเคยล้มเหลว และวิธีในการรับมือกับสิ่งนั้น" | Techsauce
How ตอบคำถามสัมภาษณ์ HR อย่างไรให้ดูโปร "เล่าเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเคยล้มเหลว และวิธีในการรับมือกับสิ่งนั้น"

ธันวาคม 6, 2022 | By Suchanan Songkhor

คำถามเกี่ยวกับความล้มเหลวเป็นหนึ่งในคำถามที่ทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกประหม่ามากที่สุด เพราะเด็กจบใหม่หลายๆ คนอาจไม่ได้เตรียมใจที่จะตอบคำถามนี้และไม่รู้จะตอบอย่างไรให้คำตอบออกมาดูดี รวมไปถึงทำให้บริษัทมั่นใจว่า ‘คุณคือคนที่ใช่’ ที่สุด

วันนี้ ConNEXT จึงจะพาทุกคนมาคลายกังวลรวมถึงให้แนวทางการตอบคำถามที่เหมาะสมกับคำถามนี้กัน

อะไรคือสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้

การที่ HR ให้คุณเล่าถึงความล้มเหลวในชีวิตหรือการทำงานให้ฟัง เพราะต้องการประเมินความสามารถของคุณในการรับมือกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธีในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังต้องการดูว่าคุณมีวิธีผลักดันตัวเองให้ผ่านจุดที่ล้มเหลวนั้นได้อย่างไรอีกด้วย

แนวทางตอบคำถาม ‘เล่าเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเคยล้มเหลว และวิธีในการรับมือกับสิ่งนั้น’ 

วิธีที่ดีที่สุด คือควรเล่าความผิดพลาดของคุณอย่างตรงไปตรงมา และไม่ควรปฏิเสธว่าไม่มีโดยเด็ดขาด อย่าลืมว่าใครก็ย่อมมีข้อผิดพลาดในการทำงานด้วยกันทั้งนั้น  

นอกจากนี้ให้เล่าถึงวิธีแก้ไขข้อผิดพลาดของคุณให้ HR ทราบ เพราะนี่คือสิ่งที่ HR ต้องการจากผู้ถูกสัมภาษณ์มากที่สุดโดยคุณอาจยกตัวอย่างเช่น พูดถึงความท้าทายในการทำงานซึ่งในคำตอบควรอธิบายถึงวิธีจัดการกับปัญหาหรือวิธีผลักดันตัวเองที่ทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ HR อยากเห็นจากคุณเช่นกัน

ตัวอย่างในการตอบคำถาม ‘เล่าเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเคยล้มเหลว และวิธีในการรับมือกับสิ่งนั้น’ 

ตัวอย่างที่ 1

ดิฉันพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด แต่ในบางครั้งมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างเช่น ครั้งหนึ่งดิฉันที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโปรเจ็กต์หนึ่งซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 6 คน แต่เนื่องจากสมาชิกครึ่งหนึ่งต้องถอนตัวออกไปเนื่องจากมีงานแทรกขึ้นมากระทันหัน ตอนแรกดิฉันคิดว่างานนี้อาจทำไม่ทันหรือล้มเหลวไปแล้วด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ดิฉันสามารถแก้ไขสถานการณ์โดยปรับแผนของทีมและตั้งเป้าหมายรายวันใหม่จึงทำให้งานเสร็จตรงตามกำหนดการและได้รับคำชมจาก CEO เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่ดิฉันเผชิญกับความท้าทายที่มีโอกาสในการล้มเหลว ดิฉันมักจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อกล้าที่จะเผชิญความท้าทายนั้นเสมอ

ตัวอย่างที่ 2  

ในฐานะที่ผมเป็นนักพัฒนาหลักสูตร ผมได้พัฒนาหลักสูตรสำหรับนักเรียนม.ปลายขึ้นมา และได้ลองใช้หลักสูตรนี้กับนักเรียนของผม แต่ผลลัพธ์คือนักเรียนไม่เข้าใจสิ่งที่ผมสอน ผมจึงได้ขอคำแนะนำจากนักเรียน และนำไปปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรนี้ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อนำมาปรับใช้ในปีการศึกษาหน้า และในปีนั้นผมก็ได้รับ Feedback ดีๆ มากมายจากนักเรียน ซึ่งผมคิดว่าการลองผิดลองถูก หรือลองสิ่งใหม่ๆ จะทำให้รู้ว่าสิ่งไหนไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นแนวทางในการสอนหรือสิ่งไหนที่สามารถผลักดันศักยภาพในการเรียนของนักเรียนของผมได้เป็นอย่างดี 

ตัวอย่างที่ 3

วันแรกที่ดิฉันได้ทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่งและเป็นวันเดียวกันที่บริษัทแห่งนี้ได้รับเครื่อง Computer-operated cash register ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้บันทึกการขายโดยเฉพาะ ซึ่งดิฉันไม่เคยใช้มาก่อน ไม่รู้ว่าต้องใช้งานอย่างไร และแทนที่ดิฉันจะรู้สึกหนักใจหรือท้อ ดิฉันกลับพยายามหาข้อมูลเพื่อให้ตัวเองใช้งานเครื่องนี้ให้เป็น ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์ดิฉันกลายเป็นพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือนั้นมากที่สุด และปัจจุบันดิฉันสามารถสอนหรือแนะนำคนอื่นได้อีกด้วย 

เคล็ดลับในการตอบคำถาม

สิ่งที่ไม่ควรพูดในการตอบคำถาม

1. พูดถึงความผิดพลาดล่าสุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เกิดการเรียนรู้ แต่ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องบอกถึงความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องล่าสุดก็ได้ เพราะมันจะทำให้คุณดูเป็นคนที่ทำงานผิดพลาดอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นพยายามเลือกความผิดพลาดที่แสดงให้เห็นว่าคุณได้เรียนรู้และปรับปรุงถึงความผิดพลาดที่ผ่านมา

2. อย่าพูดโทษคนอื่น

เมื่ออธิบายถึงความผิดพลาดแล้ว อย่าเพิ่งไปกล่าวโทษใครในทันที ถึงแม้ว่าผู้อื่นจะมีส่วนร่วมในความผิดนั้นด้วยก็ตาม 

3. พูดถึงความผิดพลาดที่เกี่ยวข้องกับงาน

ถ้าคุณไม่อยากให้ HR เกิดความลังเลในตัวคุณ อย่าพูดถึงความผิดพลาดที่อาจส่งผลกระทบต่อการสัมภาษณ์งาน เช่น คุณกำลังจะสมัครงานด้านการเขียนโปรแกรม แต่ครั้งหนึ่งคุณเคยเขียนโปรแกรมผิด ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลร้ายแรงต่อการทำงาน ฉะนั้นให้เลือกพูดถึงความผิดพลาดทั่วไปที่คุณสามารถแก้ไขได้ ไม่ควรพูดความผิดพลาดที่ส่งผลกระทบต่องานโดยตรง เพราะคุณอาจถูกปัดตกจากการสัมภาษณ์งานได้ทันที  

4. พูดคำว่า ‘ไม่’ ตลอดเวลา

เมื่อถูกถามว่า ‘คุณพร้อมที่จะรับมือกับความล้มเหลวไหม’ อย่าเพิ่งตอบคำว่า ‘ไม่’ เด็ดขาด เพราะสิ่งนี้ทำให้คุณดูเหมือนกลัวที่จะผลักดันตัวเองให้เติบโต นอกจากนี้ไม่ควรปฏิเสธว่าตัวเอง ‘ไม่เคยล้มเหลว’ เพราะมันทำให้คุณดูเป็นคนไม่จริงใจ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบอยู่ตลอดเวลา ทุกคนย่อมเคยผ่านช่วงเวลาที่ผิดพลาดกันมาแล้วทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นการถูกถามเกี่ยวกับความล้มเหลว อาจทำให้คุณสับสน และไม่รู้ว่าต้องตอบอย่างไร แต่ไม่ต้องกังวลเพราะโดยส่วนใหญ่คำถามเหล่านี้ HR ต้องการวัดว่าคุณสามารถเรียนรู้กับความผิดพลาดในอดีตของคุณอย่างไร? และเมื่อผิดพลาดแล้วคุณมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำเป็นครั้งที่สอง เพราะฉะนั้นมาเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้เพื่อให้คุณเป็น ‘คนที่ใช่’ ตามที่หลายๆ บริษัทกำลังมองหากัน

อ้างอิง : thebalancemoney

No comment