7 สิ่งที่ไม่ควรพูดตอนสัมภาษณ์งาน (Interview) เด็ดขาด! | Techsauce
7 สิ่งที่ไม่ควรพูดตอนสัมภาษณ์งาน (Interview) เด็ดขาด!

กุมภาพันธ์ 20, 2024 | By Suchanan Songkhor

Jermaine L. Murray ผู้เชี่ยวชาญด้านการสมัครงาน ได้เผยเคล็ด(ไม่)ลับที่เขาได้ช่วยให้ผู้คนมากมายได้งานในองค์กรดัง ๆ เช่น Google, Facebook และ Microsoft เขาได้เผยว่าวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์งาน (Interview) ที่แท้จริงคือการที่ได้รู้จักผู้สมัครเพิ่มเติมนอกเหนือจากในเรซูเม่ แต่ก็มีผู้สมัครงานหลายคนที่ไม่ได้งานเพียงเพราะเผลอพูดสิ่งที่ไม่ควรพูดออกไป ฉะนั้นวันนี้ ConNEXT จึงได้รวบรวมสิ่งที่ไม่ควรพูดในการสัมภาษณ์งานมาฝาก! 

7 สิ่งที่ไม่ควรพูดตอนสัมภาษณ์งาน (Interview) เด็ดขาด!

1. ทำได้ทุกอย่าง

สิ่งนี้หากมองแบบผิวเผินอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่ข้อเสียอะไร แต่หากมองในมุมมองของการสัมภาษณ์งาน สิ่งที่ HR ต้องการแท้จริง คือต้องการรู้ว่าเราทำอะไรได้ ถนัดอะไร รู้จักตัวเองดีแค่ไหน เพราะองค์กรต้องการคนเก่งและเหมาะสมที่จะเข้ามานั่งทำงานในตำแหน่งนั้นจริง ๆ ทางที่ดีให้ตอบตรง ๆ ไปเลยว่าเราทำอะไรได้บ้าง เคยทำอะไรมา แต่ทั้งนี้ควรตอบให้สอดคล้องกับตำแหน่งที่บริษัทเปิดรับด้วยนะ

2. บริษัททำเกี่ยวกับอะไร

ก่อนที่จะสมัครงานเราจำเป็นต้องหาข้อมูลบริษัทอยู่แล้วว่าบริษัทนี้ทำเกี่ยวกับอะไร เพราะคงไม่ดีเท่าไหร่หากเราไม่รู้ข้อมูลพื้นฐานของบริษัทเลย ฉะนั้นคำถามนี้จึงเป็นคำถามที่เราไม่ควรถาม เพราะ HR อาจมองว่าเราไม่มีการเตรียมตัวหรือไม่ได้ต้องการเข้ามาทำงานในบริษัทนี้จริง ๆ แต่ถ้าในกรณีทีหาข้อมูลมาแล้วแต่ยังไม่เคลียร์ อยากเข้าใจเพิ่ม ตรงนี้สามารถถาม HR เพิ่มเติมได้ 

3. ไม่มีจุดอ่อน 

“จุดอ่อนของคุณคืออะไร” คำถามคลาสสิกที่ไปสมัครงานที่ไหนก็ต้องเจอ แต่เราก็ไม่ควรพูดว่าไม่มีนะ เพราะคำตอบนี้อาจแสดงถึงว่าเรายังไม่รู้จักดีพอ คำถามนี้ HR ไม่ได้ต้องการรู้หรอกว่าจุดอ่อนของเราจริง ๆ คืออะไร แต่อยากรู้ว่าถ้าเรามีจุดอ่อนตรงนี้เราสามารถแก้ปัญหาหรือจัดการกับสิ่งนั้นได้ยังไงมากกว่า แนะนำว่าให้บอกไปเลยว่าจุดอ่อนของเราคืออะไร แต่ต้องเป็นจุดอ่อนที่ต้องไม่กระทบกับการทำงาน                                              

4. ไม่ชอบหัวหน้าคนเก่า 

การพูดถึงหัวหน้าคนเก่าในทางที่ไม่ดีถือเป็น Red Flag ในการสัมภาษณ์งานที่ไม่ควรทำ เพราะส่วนใหญ่แล้วมันไม่ได้ส่งผลเสียถึงบริษัทเก่าเท่าไหร่หรอก แต่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของเราเต็ม ๆ และยังบ่งบอกได้ว่าเราไม่มีความเป็นมืออาชีพ แต่ถ้าหัวหน้าเป็นเหตุผลในการลาออกจริง ๆ ให้เราพูดในเชิงที่ไม่พาดพิงถึงบุคคลที่สามมากจนเกินไป ให้พูดถึงอย่างสมเหตุสมผล และไม่ควรใส่อารมณ์ ทางที่ดีให้เราควรเบี่ยงเบนคำตอบไปในทางเชิงบวก เช่น อยากลองทำงานที่ Scale ใหญ่ขึ้นหรืออยากมีความก้าวหน้ามากขึ้น แบบนี้จะส่งผลดีต่อเรามากกว่า

5. ไม่รู้?

จริงอยู่ที่ว่าการโกหกหรือการแถเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในการสัมภาษณ์สักเท่าไหร่ ซึ่งเวลาที่สัมภาษณ์เราอาจต้องเจอกับคำถามที่เราไม่คาดคิด จนทำให้เราไม่รู้ว่าจะตอบอะไร แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรตอบว่าไม่รู้นะ เพราะในอีกมุมหนึ่ง HR อาจมองได้ว่าเราเป็นคนที่ไม่สามารถจัดการหรือแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย 

แต่ถ้าเราไม่รู้จริง ๆ ก็ให้ตอบไปเลยว่าไม่รู้ แต่ก็ไม่ควรตอบแบบส่ง ๆ หรือห้วนจนเกินไป ทางที่ดีควรพูดเสริมว่า “ไม่รู้ค่ะ แต่ว่าจะพยายามหาคำตอบและหาข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ” หรืออาจพูดถึงประสบการณ์ของตัวเองเองที่สอดคล้องกับสิ่งที่ HR ถามก็ได้นะ วิธีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ HR จะเห็นถึงความกระตือรือร้นและความจริงใจที่จะตอบคำถามของเรา

6. ข้อมูลทั้งหมดอยู่ในเรซูเม่ อ่านได้เลยค่ะ

ไม่ว่าเรซูเม่ของเราจะเขียนมาดีมากแค่ไหน มันก็คือกระดาษแผ่นเดียว วัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ คือต้องการรู้จักผู้สัมภาษณ์ให้มากขึ้นนอกเหนือจากเรซูเม่ที่ส่งมาและในระหว่างการสัมภาษณ์อาจมีบางคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการฟังจากผู้สัมภาษณ์โดยตรงมากกว่า เพื่อให้รู้ถึงทัศนคติ วิสัยทัศน์และตัวตนของผู้สัมภาษณ์

7.เงินเดือนและสวัสดิการที่นี้เป็นอย่างไร 

เรื่องเงินเดือนและสวัสดิการคงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เราสนใจและอยากทำงานที่องค์กรนั้น ๆ แต่เราก็ไม่ควรถามเรื่องนั้นขึ้นแบบโต้ง ๆ ในระหว่างสัมภาษณ์ เพราะตอนท้ายผู้สัมภาษณ์จะเป็นคนถามเราเองเลยว่า “เราคาดหวังหรืออยากได้เงินเดือนเท่าไหร่” พอถึง ณ ตอนนั้นเราก็อาจพูดตัวเลขที่อยู่ในใจของเราออกไปได้เลยว่าเราต้องการเท่าไหร่ 

อ้างอิง: cnbc

No comment