เทคนิคตอบคำถามสัมถาษณ์งาน ให้กระชับ ตรงประเด็น ไม่เวิ่นเว้อ ด้วย STAR Technique | Techsauce
เทคนิคตอบคำถามสัมถาษณ์งาน ให้กระชับ ตรงประเด็น ไม่เวิ่นเว้อ ด้วย STAR Technique

มกราคม 11, 2024 | By Suchanan Songkhor

STAR Technique คือวิธีที่ช่วยให้เราตอบคำถามให้กระชับและตรงประเด็น เทคนิคนี้เหมาะสำหรับการใช้เล่าเรื่องและอธิบายสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 

ในมุมมองของการสัมภาษณ์งาน เราก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าเราต้องได้เล่าเรื่องอะไรสักอย่างให้ผู้สัมภาษณ์ฟังแน่ ๆ  เช่น แนะนำตัวเองให้ฟังหน่อยได้ไหม, มีทักษะอะไรในการทำงานบ้าง, เคยทำอะไรมาบ้าง, ทำไมถึงอยากทำสายงานนี้

ถ้าคำถามไหนที่เราตอบได้ เรามั่นใจ ให้ตอบเลย แต่ต้องตอบตามเท่าที่เรารู้เท่านั้น อันไหนไม่รู้บอกไม่รู้ อย่าพยายามฝืนตัวเองและไม่ต้องกลัวว่าจะดูไม่เก่งในสายตาผู้สัมภาษณ์ แต่ทั้งนี้ก็อย่าพยายามตอบห้วนจนเกินไปนะ 

สมมติว่าสัมภาษณ์งานไปสักพัก จู่ ๆ HR ถามขึ้นมาว่า “เราใช้โปรแกรม Photoshop เป็นไหม?” 

ถ้าเราใช้โปรแกรมนี้เป็น ให้เราตอบด้วยความมั่นใจไปเลยว่าเราใช้เป็น ผู้สัมภาษณ์จะได้มีความเชื่อมั่นในตัวเรามากขึ้น แต่ถ้าเราไม่เคยใช้โปรแกรม Photoshop เลย ก็ให้พูดไปตรง ๆ แต่ทั้งนี้ก็อยากให้เลือกใช้คำพูดนิดนึง อาจพูดเสริมว่า  “หากได้ลองทำและฝึกฝนเรื่อย ๆ  ดิฉันคิดว่าทำได้แน่นอนค่ะ” (ตรงนี้ต้องดูสายงานด้วยนะ เพราะว่าถ้าสมัครงาน ตำแหน่งกราฟิก แล้วใช้ Photoshop ไม่เป็น ก็บ่ได้น้า)

เพราะฉะนั้นเวลาตอบคำถามเหล่านี้ก็อย่าพยายามพูดออกนอกทะเล เพราะผู้สัมภาษณ์จะจับผิดเราได้แน่นอน เพราะผู้สัมภาษณ์เขาไม่ได้เพิ่งเคยสัมภาษณ์ครั้งแรก ฉะนั้นเขารู้หมดว่าใครพูดจริง ใครพูดโกหก 

แต่ถ้ายังพยายามพูดเวิ่นเว้อ พูดออกทะเลไปเรื่อย ๆ อยู่ แบบไม่มีจุดจบ บอกเลยว่ามีเปอร์เซ็นต์สูงมากว่าผู้สัมภาษณ์อาจจะหมดความน่าเชื่อถือในตัวเรา 

ซึ่งประเด็นที่เราจะพูดถึงกันวันนี้คือ “ทำอย่างไรให้เราพูดตรงประเด็น ไม่ดูเวิ่นเว้อ และไม่ออกนอกทะเล” 

STAR Technique คืออะไร ใช้ยังไง ?  

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่าเทคนิค STAR เป็นเทคนิคที่ช่วยให้เราตอบคำถามให้กระชับและตรงประเด็น ซึ่งคำว่า STAR ย่อมาจาก 

1. Situation 

เริ่มต้นจากการเลือกสถานการณ์ที่จะพูดให้ดูน่าสนใจ สมมติผู้สัมภาษณ์ถามว่าลองยกอย่างผลงานของตัวเองที่เราชอบมาสัก 1 ผลงานให้ฟังหน่อย ? 

ตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มงงละ ว่าเราจะเริ่มตอบยังไงดี บางคนอาจจะพูดไปเลยว่าชอบงานนี้ค่ะ แต่ดันไม่ได้อธิบายว่าเพราะอะไร ซึ่งนั่นอาจทำให้เราไม่ดูน่าสนใจ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่าเราชอบผลงานชิ้นนี้ของเราสุด ๆ ก็ให้ตอบไปเลยว่าทำไมเราถึงชอบ เราชอบผลงานนี้เพราะอะไร แต่ทั้งนี้อยากให้เลือกผลงานหรือสถานการณ์ที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่กำลังจะสมัครด้วยนะ    

2. Task  

หลังจากที่เราเลือกสถานการณ์ได้แล้วว่าเราจะเล่าเรื่องอะไร หลังจากนั้นให้เราอธิบายหน้าที่หรือสิ่งที่ต้องทำในสถานการ์นั้น ๆ ว่าเราทำอะไร มีหน้าที่รับผิดอะไร ซึ่งข้อนี้สำคัญมากเพราะผู้สัมภาษณ์จะเช็กว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นหรือไม่

3. Action  

เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ผู้สัมภาษณ์จะเริ่มรู้แล้วว่าเราเหมาะกับตำแหน่งงานนั้นไหม? เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่เราต้องลงลึกถึงหน้าที่ที่เคยทำหรือสถานการณ์ที่เราเคยเจอมาบ้าง ข้อนี้อาจจะดูคล้าย ๆ กับข้อ 2 แต่ข้อนี้จะไม่ได้บอกแค่หน้าที่ที่รับผิดชอบแล้ว แต่จะพูดเจาะลึกไปถึงเป้าหมาย และวิธีการแก้ปัญหาในงานต่าง ๆ ซึ่งจะดีมากถ้ามีตัวชี้วัดหรือข้อมูลสักอย่างมารองรับให้ผู้สัมภาษณ์ดูว่าเราทำจริง ๆ                                                                                                  

4.Result 

ส่วนสุดท้ายให้พูดถึงผลลัพธ์จากสิ่งที่เราทำไป ซึ่งข้อนี้ถือว่าสำคัญมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นเหมือนตัวชี้วัดว่าสิ่งที่เราทำไปส่งผลอะไรต่อเหตุการณ์หรือองค์กรอย่างไรบ้าง 

No comment