8 วิธีรับมือเมื่อคุณรู้สึกหนักใจกับภาระงานของคุณ | Techsauce
8 วิธีรับมือเมื่อคุณรู้สึกหนักใจกับภาระงานของคุณ

พฤศจิกายน 28, 2022 | By Suchanan Songkhor

คุณกำลังมีปัญหาในการโฟกัส นอนไม่หลับ หรือรู้สึกหนักใจเกี่ยวกับงานอยู่หรือเปล่า? หากคุณกำลังรู้สึกหนักใจกับภาระงานของคุณอยู่ละก็บอกเลยว่าคุณไม่ได้รู้สึกอยู่คนเดียวอย่างแน่นอน เพราะจากการวิจัยของ American Psychological Association พบว่ากว่า 60% ของคนวัยทำงานมีความเครียดจากการทำงานมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งรวมถึงความเหนื่อยจากการใช้ความคิด 36% ความเหนื่อยทางอารมณ์ 32% และขาดแรงจูงใจในการทำงานอีก 26% ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึง 38% ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติที่บางครั้งคุณจะรู้สึกเครียดกับการทำงาน แต่สิ่งสำคัญคืออย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่ในภาวะเครียดบ่อยเกินไป ทางที่ดีคุณต้องหันกลับมาดูแลตัวเองก่อนที่จะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน เพราะผลกระทบเหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพและอาชีพของคุณในระยะยาว

อะไรทำให้คุณรู้สึกหนักใจ?

ในการทำงานมีหลายปัจจัยที่อาจเป็นสิ่งกระตุ้นทำให้คุณเกิดภาวะเครียดได้ จึงไม่แปลกถ้าคุณจะรู้สึกหนักใจกับงาน 

หากคุณมีอาการเหล่านี้ นี่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณเกิดภาวะหนักใจกับงานได้ 

วิธีลดความเครียดจากการทำงาน

1. เขียนระบายออกมา

เวลาที่มีเรื่องอะไรอยู่ในหัวเยอะๆ อาจทำให้คุณไม่มีสมาธิได้ และถ้าเกิดโชคไม่ดีสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่องานโดยตรง ที่นอกจากจะทำให้คุณมีความเครียดเพิ่มขึ้นแล้ว งานของคุณอาจมีประสิทธิภาพน้อยลง 

สิ่งที่ควรทำ คือคุณควรเขียนสิ่งที่คุณต้องทำ เพราะนอกจากจะทำให้รู้ว่าคุณมีงานอะไรบ้าง และควรทำอะไร ยังทำให้รู้สึกโล่งใจเพราะเหมือนเป็นการปลดปล่อย หรือได้ระบายสิ่งที่อยู่ในหัวออกมา

2. วางแผนการทำงาน

ก่อนจะเริ่มทำงานคุณควรวางแผนการทำงานทุกครั้งเพื่อให้รู้ถึงขั้นตอนการทำงานและภาพรวมของงานทั้งหมดว่าคุณมีหน้าที่รับผิดชอบงานส่วนไหนบ้าง รวมถึงสิ่งที่คุณต้องทำต่อไปในงานนั้นด้วย

3. กำหนดเป้าหมายระยะสั้น

วิธีรับมือที่ดีที่สุดอีกหนึ่งวิธี คือการกำหนดเป้าหมายในการทำงานของตัวเอง การกำหนดเป้าหมายเล็กๆ ที่คุณสามารถทำสำเร็จได้ในระยะเวลาสั้นๆ เพราะฉะนั้นลองถามตัวเองดูว่าคุณมีงานอะไรบ้างที่ต้องทำในวันนี้ ที่จะช่วยให้คุณเดินตามแผนที่คุณวางไว้ในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นนักเขียนแล้วจำเป็นต้องเขียนบทความ เป้าหมายระยะสั้นของคุณอาจจะเป็นการร่างโครงเรื่อง หรือกำหนดหัวข้อย่อยในบทความนั้น ซึ่งการทำเป้าหมายเล็กๆ เหล่านี้ให้สำเร็จ จะค่อยๆ ฝึกให้คุณมีวินัย และพร้อมที่จะตั้งเป้าหมายในการทำงานที่ใหญ่กว่าเดิม

4. รู้จักกระจายงาน

การพยายามทำงานทุกอย่างให้เสร็จภายในทันที อาจทำให้คุณเกิดภาวะเครียดและกดดัน เพราะฉะนั้นการรู้หน้าที่และมีระบบการทำงานที่ชัดเจน จะทำให้ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองว่าในแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้งานไปหนักอยู่ที่ใครเพียงคนเดียว นอกจากนี้คุณควรขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทีมบ้างในบางครั้งหรือกระจายงานไปยังคนที่เก่งในแต่ละส่วน เพราะพวกเขาอาจช่วยให้คำปรึกษาหรือแบ่งเบาภาระงานของคุณได้

5. พูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้

หากคุณเป็นคนชอบพูดคุย อีกหนึ่งวิธีที่อยากแนะนำ คือการพูดคุยหรือปรึกษาคนรอบข้างเพื่อระบายความเครียดเกี่ยวกับงานของคุณ เพราะถ้าหากคุณเก็บทุกอย่างไว้คนเดียว ความเครียดก็จะไม่ได้รับการปลดปล่อยและทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ลง ซึ่งในหลายๆ ครั้ง การพูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้จะทำให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง และในระหว่างการพูดคุยอาจทำให้เกิดคำถามดีๆ ที่อาจช่วยให้คุณปลดล็อกกับบางปัญหาได้อีกด้วย

6. กำหนดขอบเขต

อีกหนึ่งวิธีในการลดภาระงานของคุณ คือต้องกำหนดเวลาการทำงานให้ชัดเจน รวมถึงกำหนดขอบเขตทั้งตัวคุณเองและเพื่อนร่วมงาน ขอบเขตที่ชัดเจนจะทำให้ง่ายต่อการโฟกัสกับงานที่ทำอยู่ และหลีกเลี่ยงจำนวนงานที่เยอะเกินไปจนตัวคุณไม่สามารถรับมือได้อีกด้วย

7. เช็กงานเป็นระยะ

หากคุณกำลังรู้สึกกังวลว่างานที่คุณทำจะเกิดข้อผิดพลาด คุณสามารถลดความกังวลนั้นลงได้โดยการตรวจเช็กงานเป็นระยะๆ เพราะในระหว่างการทำงานคุณอาจพบข้อผิดพลาด และเมื่อเห็นข้อผิดพลาดนั้นแล้ว คุณยังพอมีเวลาในการแก้ไข

 8. หาเวลาพักผ่อน 

เมื่อคุณทำงานที่ได้รับหมอบหมายเสร็จแล้ว คุณควรให้เวลาตัวเองในการพักผ่อน ไม่ใช่แค่พักผ่อนทางด้านร่างกายอย่างเดียว แต่รวมถึงการเอาตัวเองออกมาจากที่ทำงาน ออกจากสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปิดแจ้งเตือนโทรศัพท์มือถือ ไม่ตอบกลับอีเมลหลังเลิกงาน และออกไปสร้างสรรค์กับเพื่อนๆ หรือครอบครัว เพื่อให้ตัวเองได้ผ่อนคลายจากการทำงานอย่างเต็มที่ 

แม้ว่าความเป็นจริงการรับมือกับงานนั้นยากกว่าคิด แต่หากทำตาม 8 วิธีคำแนะนำในบทความนี้ เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเครียด พร้อมสู้กลับงานอย่างแน่นอน

อ้างอิง : lianedavey

No comment