Thai union ออกรายงานเพื่อความยั่งยืนประจำปี ฉบับที่ 8 แสดงถึงพันธกิจระยะยาวของบริษัทต่อเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงานทั้งหมด และข้อมูลความก้าวหน้าตลอดระยะเวลา 5 ปีของบริษัทภายใต้กลยุทธ์ SeaChange หรือกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยแพร่รายงานเพื่อความยั่งยืนประจำปี ฉบับที่ 8 โดยมีรายละเอียดการดำเนินงานที่ต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลก แม้จะมีความท้าทายในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รายงานเพื่อความยั่งยืนประจำปี 2564 แสดงให้เห็นถึงพันธกิจระยะยาวของบริษัทต่อเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงานทั้งหมดและนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของผลการดำเนินงานประจำปีของบริษัทเทียบกับตัวชี้วัดหลักและเป้าหมายที่ตั้งไว้ในกลยุทธ์ความยั่งยืนทั่วโลกของบริษัท หรือที่เรียกว่า กลยุทธ์ SeaChange®
“ในปี 2563 โลกเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน จากโควิด 19 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลกอีกด้วย” นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าว “ผมมีความภูมิใจอย่างมากต่อการปรับตัวของพนักงานไทยยูเนี่ยนที่ทำให้บริษัทสามารถก้าวไปข้างหน้า และยังคงยึดมั่นที่จะดำเนินตามพันธกิจของเราอย่างต่อเนื่องเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกมาสู่อุตสาหกรรมอาหารทะเลทั้งหมด”
รายงานเพื่อความยั่งยืนปี 2564 นี้ มีรายละเอียดเกี่ยวกับงานสำคัญที่บริษัทได้ดำเนินการในช่วงระหว่างปี และความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของแผนงานหลักทั้ง 4 แผนงานภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® ได้แก่ แรงงานปลอดภัยและแรงงานที่ถูกกฎหมาย การจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบ การดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ และผู้คนและชุมชน
“แม้ว่า โควิด 19 จะทำให้ปี 2563 เป็นปีที่ท้าทายมากปีหนึ่ง แต่ความท้าทายนี้ก็มาพร้อมกับโอกาส ซึ่งดิฉันมีความภุมิใจอย่างมากที่เราประสบความสำเร็จในการก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเรา ขณะเดียวกันเรายังสนับสนุนพนักงานของเราและผู้ที่ทำงานในห่วงโซ่อุปทานของเราทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง” ดร. แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการองค์กรและความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าว “แม้จะมีข้อจำกัดจากการแพร่ระบาด แต่เรายังคงมุ่งให้ความสำคัญเรื่องความโปร่งใส การทำงานร่วมกัน และการเปลี่ยนแปลงอาหารทะเลให้ดีขึ้น ปี 2563 เป็นปีที่ครบ 5 ปีของการดำเนินกลยุทธ์ SeaChange และปีนี้เราจะประกาศเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายที่เราจะดำเนินต่อไปในปี 2568”
นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวยังนำเสนอข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับความก้าวหน้าในระยะเวลา 5 ปีของบริษัทในการทำงานให้เป็นไปตามกลยุทธ์ SeaChange® ได้แก่ พันธกิจด้านปลาทูน่า และวิธีทำงานเพื่อให้โครงการตรวจสอบแนวทางการปฏิบัติด้านแรงงานบนเรือประมง (Vessel Code of Conduct: VCoC) มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทาง และการลดการจัดประชุมพบปะแบบตัวต่อตัวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลก
ในปี 2563 ไทยยูเนี่ยนยังคงพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นบริษัทที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ในรายงานฉบับนี้ ไทยยูเนี่ยนได้แสดงให้เห็นความสำเร็จบางส่วนของการทำงานเช่น การเป็นผู้ผลิตอาหารรายแรกและเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายแรกที่เข้าร่วมโครงการ EP100 ซึ่งเป็นข้อริเริ่มเรื่องการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดขององค์กร Climate Group โดยมุ่งเป้าในการลดการใช้น้ำและลดของเสียฝังกลบ การทำงานเพื่อมุ่งสู่พันธกิจด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในแบรนด์ของเราทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์จะสามารถนำมาใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ หรือสามารถย่อยสลายได้ และการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่องเช่น องค์การนอกภาครัฐ ภาคประชาสังคม และบริษัทอื่นๆ เพื่อหาหนทางที่ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมาย และยังเปิดตัวโครงการ “Tell Us” เพื่อเสริมสร้างกลไกการรับฟังเสียงของพนักงานในโรงงานแปรรูปหลักที่สำคัญของเราในประเทศไทย และการทำงานร่วมกับคู่ค้าอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเพื่อเกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อปีที่ผ่านมา ความพยายามด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนยังได้รับการยอมรับด้วยการที่บริษัทได้รับรางวัล SDG Impact Award จากงาน Reuters Responsible Business Awards การได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นเวลา 7 ปีติดต่อกันและได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับ 2 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารของโลก และการได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนประเภทดีเด่น ประจำปี 2563 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
ไทยยูเนี่ยนยังคงจัดทำรายงานเพื่อความยั่งยืนให้มีมีความยั่งยืนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยการจัดทำในรูปแบบดิจิทัล นำเสนอในรูปแบบของ PDF ออนไลน์ทำให้สามารถเข้าถึงผู้อ่านได้กว้างขึ้น รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนของ Global Reporting Initiative (GRI) แบบทางเลือกหลัก และแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มธุรกิจอาหาร (Food Processing Sector Supplement: FPSS)
ไทยยูเนี่ยนเข้าร่วมใน United Nations Global Compact (UNGC) และรายงานเพื่อความยั่งยืนฉบับนี้เป็นการสื่อสารความก้าวหน้าประจำปี (Communication on Progress: COP) ของไทยยูเนี่ยนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังมีการรายงานกิจกรรมสำคัญของไทยยูเนี่ยนที่มีต่อความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: UN SDGs) และเป็นครั้งแรกที่มีการรวมเนื้อหาของดัชนี SDG เข้าไปด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด