ถอดบทเรียนการกำกับดูแลและการพัฒนา Fintech จากต่างประเทศ | Techsauce

ถอดบทเรียนการกำกับดูแลและการพัฒนา Fintech จากต่างประเทศ

พาไปดูกรณีศึกษาจากการพัฒนาและการกำกับดูแล Fintech ของต่างประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ยังควรรักษาระดับความยืดหยุ่นของกฎเกณฑ์ให้พอดี และสร้างปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิด Ecosystem ที่เหมาะสม เพื่อทำให้เกิดการพัฒนา Fintech อย่างต่อเนื่องต่อไป

Photo: StockSnap.io

ปรากฏการณ์ “ฟินเทค (Fintech)” เป็นที่กล่าวถึงกันมากตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ เนื่องจากหลายประเทศประกาศใช้ “กล่องทรายทดสอบธุรกรรม” หรือ “Regulatory Sandbox” ซึ่งเป็นแนวทางในการส่งเสริมฟินเทคพร้อม ๆ กันทั้งอังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และไทย เป็นต้น

หากย้อนดูพัฒนาการฟินเทคในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พบว่าฟินเทคพัฒนาอย่างมาก และมีแนวโน้มพัฒนาต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 2010-2015 การลงทุนในธุรกิจฟินเทคของโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงเกือบ 5 เท่า โดยเฉพาะในประเทศอเมริกาและจีน เราจึงต้องเตรียมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจและนำมาซึ่งประโยชน์ มากมาย ขณะเดียวกันอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่อาจคาดไม่ถึงได้เช่นกัน

ฟินเทคถือเป็นรูปแบบธุรกิจการเงินใหม่ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้ใช้บริการทางการเงินและระบบการเงิน โดยเข้ามาช่วยในเรื่องของการเพิ่มการเข้าถึง การลดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นรูปแบบธุรกิจที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือการกำกับดูแลเพื่อรองรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่ตามมา

ทำให้ภาครัฐจึงสนับสนุนให้ธุรกิจฟินเทคเกิดขึ้นโดยเร็ว ด้วยการเปิดโครงการทดสอบนวัตกรรมสำหรับกลุ่มฟินเทค ใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น และเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกรรมนั้น ๆ เพื่อที่จะกำหนดกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ฟินเทคที่เหมาะสมต่อไป

กฎเกณฑ์การกำกับดูแลเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของฟินเทค เมื่อมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการทางการเงิน ก็เหมือนเป็นการเปิดประตูให้ผู้ให้บริการฟินเทคได้มีโอกาสนำเสนอบริการได้อย่างถูกกฎหมายและเร็วขึ้น

แต่ในความเป็นจริงยังมีองค์ประกอบด้าน Ecosystem อื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาฟินเทค ที่ทำให้ผู้ให้บริการพร้อมที่จะก้าวผ่านประตูไป องค์ประกอบเหล่านี้คือ

  1. Demand คือ ความต้องการใช้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่
  2. เงินทุน และบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Talents) ซึ่งเป็นความพร้อมในด้านผู้ให้บริการ
  3. กฏเกณฑ์ และกฎหมายต่าง ๆ

กรณีศึกษาธุรกิจฟินเทคที่เติบโตได้ดี: จีน สหรัฐ และอังกฤษ

กรณีศึกษาจากจีน มีองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ อุปสงค์หรือความต้องการใช้บริการทางการเงิน ประกอบด้วย

  1. บริการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (Unmet demand) เช่น การเข้าถึงสินเชื่อในชนบท
  2. บริการใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ในเรื่องความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โดนใจ และมีราคาที่ถูกลง และ
  3. ความพร้อมของลูกค้าในการใช้เทคโนโลยี กรณีของจีนมีปัจจัยด้าน Unmet Demand เป็นหลัก เนื่องจากสาขาธนาคารพาณิชย์ที่กระจุกตัวและมี ไม่เพียงพอต่อประชากรและพื้นที่ขนาดใหญ่ จึงทำให้ Peer-to-Peer Lending (การปล่อยกู้ระหว่างบุคคลผ่าน Online) ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากประมาณ 25 ล้านหยวน ไปเป็น 800 ล้านหยวน และในช่วงปี 2013-2016 มีผู้กู้มากกว่า 39 ล้านราย

นอกจากนี้ จีนยังมีกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents) ทั้งผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกฎเกณฑ์การกำกับดูแลฟินเทคที่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดช่องโหว่ในการกำกับดูแลระหว่างสถาบันและการใช้แนวทางกำกับดูแลแบบ Benign Neglect นั่นคือภาครัฐมีมุมมองว่าตลาดจะจัดการปัญหาของมันเอง โดยรัฐยินดีที่จะรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากธุรกรรมเหล่านี้ จนกว่าธุรกรรมมีขนาดใหญ่และมีความเสี่ยงต่อทั้งระบบการเงินจึงจะเข้าไปดูแล ทำให้ Peer-to-Peer Lending เกิดได้และขยายตัว จนมีขนาดใหญ่เกือบถึง 5% ของสินเชื่อบุคคลทั้งระบบหรือ 1.1% ของ GDP รวมถึงมีการล้มละลายไปหลายแห่งและการฉ้อโกงหลายครั้ง ในปี 2016 ภาครัฐจีนจึงได้ออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแล

กรณีศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ถือว่าประสบความสำเร็จด้านฟินเทค เนื่องจากโดดเด่นด้านความพร้อมของเงินทุน และ Talents ทั้งปริมาณ ประสบการณ์ และการกระจุกตัวของผู้ให้ทุนและ Talents ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือที่ “Silicon Valley” ซึ่งเป็นเหล่งรวมของ นักลงทุนรูปแบบต่าง ๆ เช่น Venture Capitalist และ Angel Funds ที่มีประสบการณ์จากการลงทุนในกลุ่ม Tech Startup มายาวนาน และยังเป็นแหล่งรวมของกลุ่มคนที่มีความสามารถ  (Talents) ด้านเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ไอที และ Startup

การกระจุกตัวนี้ทำให้การเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้รับเงินทุนและต่อยอดนวัตกรรมได้รวดเร็ว

ในด้าน Demand ตลาดสหรัฐนั้นแม้จะมีการเข้าถึงสถาบันการเงินอย่างทั่วถึง แต่ยังเป็นโอกาสเพราะขนาดตลาดใหญ่พอสาหรับ Talents ที่เข้าใจประสบการณ์ของผู้ใช้บริการทางการเงิน และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สนองความต้องการของผู้ใช้ได้ตรงจุดกว่าผลิตภัณฑ์รูปแบบเดิมได้ รวมทั้งกฎเกณฑ์และสถาบันกำกับดูแลสถาบันการเงินที่แตกต่างตามทั้งประเภทธุรกรรม สถาบันการเงินและระดับมลรัฐ (States) หรือรัฐบาลกลาง (Federal) เอื้อให้ธุรกรรมฟินเทคเกิดขึ้นมาได้

กรณีศึกษาจากอังกฤษ มีการใช้ Regulatory Sandbox ที่ยืดหยุ่น นอกเหนือจากความพร้อมด้านศักยภาพด้าน Demand ในการเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรป (EU) เงินทุนและกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents) ที่มีอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีนโยบายรัฐอื่น ๆ เสริมด้วย คือ

  1. ตั้งศูนย์ Innovation Hub เพื่อให้ความรู้และชี้แนะในเรื่องอุปสรรคการจัดตั้งและขออนุญาตทาธุรกรรม
  2. จัด Accelerator หรือเวที ให้ผู้เล่นทั้งฝั่งผู้ให้บริการและบริษัทฟินเทคมาเจอกันเพื่อแก้โจทย์ในระบบการเงิน
  3. สนับสนุนให้สถาบันการเงินใหญ่เปิดข้อมูลสินเชื่อ SME ผ่านช่องทาง “Application Programming Interface (API)” บน internet ให้ Startup เรียกหรือประมวลผลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน

ประเทศทั้ง 3 ข้างต้นมีองค์ประกอบครบจึงทำให้ทั้งจีนและอเมริกามีการลงทุนและขยายตัวของฟินเทคอย่างรวดเร็ว ส่วนอังกฤษก็มีผู้สมัครเข้าร่วม Sandbox ถึง 146 รายและผู้ผ่านเข้าทดสอบถึง 42 ราย

กรณีศึกษาธุรกิจฟินเทคภายใต้กฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นแต่ยังไม่โต

ในขณะที่ฟินเทคยังไม่เกิดมากนักในออสเตรเลียและสิงคโปร์ทั้ง ๆ ที่มี Regulatory Sandbox ที่ยืดหยุ่น และนโยบายอื่น ๆ เช่นเดียวกับของอังกฤษในข้างต้น แต่ยังไม่พบผู้เล่นใน Sandbox มากนักในทั้งสองประเทศ (ออสเตรเลียมี 0 ราย และสิงคโปร์มี 2 รายตามลำดับ และสถาบันการเงินในสิงคโปร์ที่สามารถทดสอบธุรกรรมฟินเทคได้เองมีการทดสอบธุรกรรมใหม่ ๆ อีกเพียงไม่กี่ธุรกรรม)

กรณีศึกษาจากออสเตรเลียใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ โดยยังจำกัดขอบเขตการทดสอบค่อนข้างมาก ทั้งจำนวนลูกค้า วงเงินต่อลูกค้า และวงเงินรวม สะท้อนให้เห็นว่าการใช้นโยบายการกำกับที่ยืดหยุ่นในการสนับสนุนฟินเทคนั้นเป็นความท้าทายสำหรับผู้กำกับดูแลในการชั่งน้ำหนักให้เหมาะสมระหว่างการยืดหยุ่นของกฎเกณฑ์และความเสี่ยงที่อาจเกิดจากฟินเทค

ส่วนกรณีศึกษาจากสิงคโปร์ที่ภาครัฐเป็นผู้นำด้านนโยบายเพื่อเร่งให้เกิดฟินเทค และผลักดันสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางฟินเทคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ของจำนวนผู้เล่น-กิจกรรมด้านฟินเทคยังมีไม่มากนักและยังไม่สะท้อนเป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมขององค์ประกอบหลายตัว

โดยในด้าน Demand ศักยภาพของตลาดรายย่อยในสิงคโปร์นั้นมีอย่างจำกัด เพราะจำนวนประชากรในสิงคโปร์มีเพียง 3-5 ล้านคน อีกทั้งกลุ่ม SMEs เป็นชนกลุ่มน้อยในภาคธุรกิจ อีกทั้งทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารที่มีอยู่ทั่วถึงและแข่งขันสูงอยู่แล้ว โอกาสทางธุรกิจในกลุ่มรายย่อยจึงมีไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ ๆ

จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลระบบการเงินทั้งหมด ให้ความเห็นว่าปัจจัยแวดล้อมฟินเทคในสิงคโปร์นั้นมีความพร้อมด้านนโยบายนำหน้าความพร้อมในการสนับสนุนกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents) และเงินทุน

ซึ่งตอนนี้หน่วยงานภาครัฐในสิงคโปร์กำลังร่วมมือกับภาคการศึกษาเพื่อสร้างกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents)  ซึ่งหมายถึง การสร้างผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ลูกค้าและด้านอื่น ๆ รวมทั้งพัฒนานโยบายเพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents) จากต่างประเทศต่อไป

ด้วยความไม่พร้อมข้างต้นทำให้ความน่าสนใจของนักลงทุนด้านฟินเทคในสิงคโปร์จึงยังมีน้อย

อ่านประกอบ

สรุป

ประสบการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลยังควรรักษาระดับความยืดหยุ่นของกฎเกณฑ์ให้พอดี และการมีองค์ประกอบ Ecosystem อื่น ๆ ที่เหมาะสมจะทำให้เกิดการสร้างและพัฒนาฟินเทคอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ในอนาคตข้างหน้าเรายังต้องประเมินความสำเร็จในการพัฒนาฟินเทคในประเทศไทยด้วย ซึ่งขณะนี้เพิ่งเริ่มเปิดโอกาสใช้ Regulatory Sandbox ได้เพียง 2 ปี (พ.ศ.2559 ถึง พ.ศ.2561) เท่านั้น ซึ่งการพัฒนายังต้องใช้เวลา

อีกทั้งตอนนี้ภาครัฐหลายประเทศสร้างกฎเกณฑ์ที่เอื้อเพื่อรองรับการพัฒนาฟินเทคล่วงหน้าไปก่อน ส่วนการพัฒนากลุ่มคนที่มีความสามารถ (Talents) และเงินทุน ซึ่งเป็นปัจจัยที่มาจากภาคเอกชนเองเป็นส่วนใหญ่จะดำเนินการในลำดับถัดมา

ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทยควรตระหนักถึงความจำเป็นและเร่งพัฒนาระบบ Ecosystem อื่น ๆ ด้วย เพื่อที่จะทำให้ฟินเทคเกิดขึ้นได้จริง รวดเร็ว และต่อเนื่อง

 

หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงและปรับปรุงมาจากบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจที่ชื่อว่า เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์การพัฒนาและการกำกับดูแลฟินเทคของต่างประเทศ เขียนโดยคุณศุกพิณรัศ วงศ์สินศิริกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ 12 กันยายน 2560โดยได้ขออนุญาตทางเจ้าตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบทวิเคราะห์เป็นความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด

ขอขอบคุณคุณศุกพิณรัศมาไว้ ณ โอกาสนี้ครับ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ถอด 4 บทเรียนธุรกิจ Taylor Swift ชื่อศิลปินที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

Taylor Swift ไม่ใช่แค่ของชื่อศิลปินอีกแล้ว กลายเป็น Branding ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ความสำเร็จของ Taylor Swift ก็มีส่วนที่หยิบมาใช้ในการพัฒนาโมเดลธุรกิจได้เช่นเดียวกัน...

Responsive image

“อยากได้อะไร ก็แค่พูดตรงๆ” เคล็ดลับความสำเร็จจาก Sam Altman

Sam Altman CEO ของ OpenAI บริษัทผู้สร้าง ChatGPT แนะนำ วิธีช่วยให้คุณได้ในสิ่งต้องการ และทำได้ง่ายๆ...

Responsive image

มรดกแนวคิด Steve Jobs ที่ส่งต่อถึง Tim Cook เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ Apple

Tim Cook ยกหนึ่งคำสอนล้ำค่าในการทำงานจาก Steve Job ที่ทำให้ Apple เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลก ในด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร นั่นก็คือ ‘ทุกคนสามารถสร้าง...