หลังจากเรียนจบใหม่ๆ และได้รับข้อเสนองานเป็นครั้งแรก หลายคนอาจจะรู้สึกตื่นเต้นและเครียดไปพร้อมๆ กัน เพราะลังเลว่าเด็กจบใหม่อย่างเราจะต่อรองเงินเดือนได้มากน้อยแค่ไหน
แต่รู้หรือไม่ว่าการเจรจาต่อรองเงินเดือนแรกสำคัญกว่าที่คิด เนื่องจากเงินเดือนในงานแรกจะมีผลต่อเงินออมและการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตข้างหน้า ถ้าเริ่มต้นด้วยการมีเงินเดือนที่ต่ำเกินไปก็จะทำให้เสี่ยงต่อการแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว
อย่างไรก็ตาม เด็กจบใหม่หลายคนก็มีความคิดผิดๆ เกี่ยวกับการเจรจาต่อรองเงินเดือนแรก จนทำให้ก้าวขาข้างแรกเข้าสู่โลกการทำงานพลาด เรามาดูกันว่า 10 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเจรจาเงินเดือนแรกของเด็กจบใหม่มีอะไรบ้าง
ความเชื่อผิดๆ 1: ไม่มีอำนาจต่อรอง เพราะไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน
ในกระบวนการจ้างงาน จะมีการคัดกรองเรซูเม่หลายร้อยฉบับ และต้องใช้เวลาในการสัมภาษณ์เป็นจำนวนมาก นั่นหมายความว่ากว่าบริษัทจะได้ผู้สมัครที่เข้าตาแต่ละทีต้องใช้การลงทุนเป็นอย่างมาก ดังนั้นแม้ว่าเราจะเป็นผู้สมัครที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน เราก็ยังพอมีอำนาจต่อรองอยู่บ้าง
ความเชื่อผิดๆ 2: ต่อรองไม่ได้ เพราะไม่ได้รับข้อเสนอจากที่อื่น
แม้ว่าการมีทางเลือกอื่นจะทำให้รู้สึกว่าเรามีอำนาจมากขึ้น แต่ถ้าไม่มีทางเลือกอื่นเราก็ยังคงสามารถถามนายจ้างได้ว่าขอเรียกเงินเดือนเพิ่มได้หรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ‘ไม่’ เราค่อยรับข้อเสนอนั้นทีหลังก็ยังไม่สาย
ความเชื่อผิดๆ 3: ได้ข้อเสนอมากกว่าที่คิดไว้ ไม่จำเป็นต้องต่อรองเพิ่ม
หากได้ข้อเสนอเงินเดือนมากกว่าที่คิดไว้ อาจหมายความว่าเรายังหาข้อมูลเงินเดือนมาไม่ดีพอ อย่าทำพลาดอีกโดยการไม่ยอมต่อรองเพิ่ม เพราะคงไม่มีใครอยากได้เงินเดือนน้อยกว่าคนอื่นที่ทำในสายงานเดียวกัน
ความเชื่อผิดๆ 4: เป็นผู้หญิงไม่ควรต่อรอง
การเจรจาต่อรองเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้โดยไม่จำกัดว่าเราเป็นใคร แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือการเจรจาในลักษณะที่ก้าวร้าวและเอาแต่ใจ ดังนั้น ในการเจรจาเราควรมีกลยุทธ์เชิงบวก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่เจรจา
ความเชื่อผิดๆ 5: เศรษฐกิจไม่ดี ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีในการเจรจาต่อรอง
แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็อย่าลืมว่าคนเก่งๆ ยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอยู่ นอกจากจะสามารถต่อรองเงินเดือนได้แล้ว เรายังสามารถต่อรองสวัสดิการอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ตารางเวลาทำงาน
ความเชื่อผิดๆ 6: การหาข้อมูลเงินเดือนในอินเทอร์เน็ตจะทำให้รู้ว่าควรได้เงินเดือนเท่าไหร่
ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตมีเว็บไซต์ที่มีข้อมูลเรื่องเงินเดือนเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นแค่ข้อมูลคร่าวๆ เราควรหาข้อมูลเงินเดือนจากช่องทางอื่นๆ ด้วย เช่น สถาบันการศึกษา เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก และอื่นๆ แต่แทนที่จะถามถึงเงินเดือนของพวกเขา ควรถามว่า “เราควรเรียกเงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม” ดีกว่า นอกจากนี้ก็อย่าลืมคำนึงถึงความแตกต่างของเงินเดือนในแต่ละจังหวัดด้วย
ความเชื่อผิดๆ 7: การเตรียมตัวไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ว่าพรีเซนต์ตัวเองอย่างไรในขณะเจรจาต่อรอง
การเตรียมตัวก่อนการเจรจาสำคัญกว่าที่คิด เพราะจะส่งผลถึงประสิทธิภาพการเจรจา สิ่งที่ควรทำคือ ทำการบ้านให้ดี เพื่อหาสิ่งที่จะมาสนับสนุนในการเจรจาต่อรอง และฝึกการเจรจากับเพื่อนจนกว่าจะเจรจาได้อย่างเหมาะสม
ความเชื่อผิดๆ 8: เรียกเงินเดือนเท่าที่ต้องการ
เราควรเรียก ‘มากกว่า’ ที่ต้องการ เพราะการเจรจาต่อรองเป็นเรื่องที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอด การขอเงินเดือนเท่าที่ต้องการไม่ได้หมายความว่าเราจะได้เงินเดือนเท่าที่ขอ แต่อาจโดนต่อรองให้มากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้
ความเชื่อผิดๆ 9: มองว่าการที่บริษัทตอบตกลงต่อเงินเดือนที่เรียกไปทันทีเป็นเรื่องที่ดีแล้ว
เมื่อเจรจาต่อรองเงินเดือนแล้วทางบริษัทตอบตกลงทันที อาจหมายความว่าเราไม่ได้ขอเงินเดือนที่มากพอ จากการวิจัยก็ชี้ให้เห็นว่า การตั้งเป้าหมายสูงๆ พร้อมมีเหตุผลสนับสนุน จะช่วยพัฒนาผลลัพธ์ของการเจรจาต่อรอง ดังนั้นควรหาข้อมูลล่วงหน้าให้เยอะๆ เพื่อที่จะรู้ได้ว่าเราไม่ได้ขายตัวเองน้อยเกินไป
ความเชื่อผิดๆ 10: ถูกปฏิเสธแล้วมองว่าการเจรจาคือความผิดพลาด
การเจรจาต่อรองเป็นการแสดงให้นายจ้างเห็นว่าเรามีความกล้าแสดงออกและมีทักษะในการเจรจา โดยเราอาจจะได้เรียนรู้อะไรจากการเจรจาในครั้งนี้แล้วสามารถนำไปปรับใช้กับการเจรจาในอนาคตได้ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการทำความเข้าใจเพิ่มในการกำหนดเงินเดือนที่ควรได้และวิธีการตัดสินใจขององค์กรต่างๆ
ทักษะการเจรจาต่อรองเป็นทักษะที่ทุกคนควรมีติดตัวไว้ เพราะทักษะนี้จะมีผลต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานของเรา ดังนั้นอย่าเอาความเชื่อผิดๆ เหล่านี้มาใส่หัว เชื่อว่าคนที่มีทักษะนี้ในอนาคตจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้ตัวเองได้อีกมากแน่นอน
อ้างอิง HBR