แต่ละสิ่งที่พูดในระหว่างการสัมภาษณ์งาน แม้แค่เพียงประโยคเดียวก็สามารถทำให้ผู้สัมภาษณ์ตัดสินได้ว่าคุณเหมาะกับงานนั้นหรือไม่
บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่าสิ่งที่ตอบระหว่างสัมภาษณ์เป็นสิ่งที่ถูกต้องในขณะนั้น แต่เมื่อสัมภาษณ์เสร็จและมองย้อนกลับไปแล้วทำให้รู้สึกแย่มาก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการเตือนตัวเองล่วงหน้าไม่ให้พูดสิ่งที่ไม่ควรพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ต่อไปนี้คือ 6 สิ่งที่ไม่ควรพูดระหว่างการสัมภาษณ์ หากต้องการเพิ่มโอกาสในการได้รับข้อเสนองานให้กับตัวเอง
1. “เป็นคนทำงานได้โดยไม่ต้องให้ใครมาสอน”
แคนดิเดตหลายคนตอบคำถามเกี่ยวกับจุดแข็งของตนเองแบบนี้ ซึ่งเป็นคำตอบที่มีการใช้มากเกินไป เมื่อตอบแบบนี้ในระหว่างการสัมภาษณ์
ในกรณีที่ดีที่สุดที่คุณจะเจอคือ ผู้สัมภาษณ์จะขอให้อธิบายให้ละเอียดมากขึ้น แต่ในกรณีที่แย่ที่สุดคือ ผู้สัมภาษณ์จะรู้สึกไม่ประทับใจเพราะเคยได้ยินคำตอบนี้มาหลายครั้งแล้ว
คำตอบที่ดีกว่าอาจจะเป็น “ไม่กลัวการเป็นผู้นำในโปรเจกต์ และสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีคำแนะนำมาก” ตามด้วยตัวอย่างของการทำสิ่งที่คุณพูดถึงได้สำเร็จ
2. “ในอีก 5 ปี หวังว่าจะทำงานในตำแหน่งของคุณได้”
อย่าคิดว่าผู้ที่อาจเป็นเจ้านายในอนาคตของคุณจะชอบคำตอบนี้ เพราะเขามองว่าเป็นคำตอบที่ขี้เกียจและไม่มีความคิด
สิ่งที่ควรทำคือ ร่างภาพคร่าวๆ ถึงวิธีการที่คุณจะเติบโตในองค์กรนี้ เริ่มจากตำแหน่งที่กำลังสัมภาษณ์และทักษะที่จำเป็นกับงาน พร้อมวิธีที่จะพัฒนาทักษะนั้น
3. “ไม่ชอบเจ้านายเก่า”
อย่าพูดถึงเจ้านายเก่าในทางที่ไม่ดี ไม่ว่าคุณจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับเจ้านายเก่าแย่ขนาดไหนก็ตาม
เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงออกจากงานเก่า การยอมรับว่าที่ทำงานเก่าไม่เหมาะกับตัวเองเป็นสิ่งที่สามารถพูดได้ เพราะความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่ดี แต่ให้ระมัดระวังการใช้คำพูด
สิ่งที่พูดได้คือ การตอบว่าคุณค้นพบว่าตัวเองชอบงานทางด้านนี้และต้องการเปลี่ยนสายงาน หรืออาจพูดได้ว่ากำลังมองหาสิ่งที่ท้าทายกว่าเดิม และควรพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากงานก่อนหน้าที่จะมีประโยชน์ต่องานที่กำลังสมัคร
ถ้าโดนไล่ออก ให้อธิบายสถานการณ์โดยไม่ต้องโทษบริษัท แต่ให้พูดว่าคุณจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดแบบเดิมอีก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคุณตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) และสามารถเติบโตจากประสบการณ์เชิงลบได้
4. “ข้อเสียคือการเป็น Perfectionist”
ไม่มีใครในโลกที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นคำตอบนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า คุณอ่อนแอเกินกว่าจะยอมรับข้อเสียของตัวเอง
คำถามนี้เป็นคำถามเชิงพฤติกรรมที่มีความจริงจัง ดังนั้นจึงควรเตรียมคำตอบไว้ให้ดี การถามเจ้านายและเพื่อนร่วมงานเก่าที่ไว้วางใจได้เพื่อรับฟีดแบ็กก็เป็นสิ่งที่ดี
ส่งลิสต์ทักษะที่จำเป็นสำหรับงานที่คุณสมัครไปให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานเก่า และให้เขาจัดอันดับทักษะที่คิดว่า คุณสามารถทำได้ดีที่สุดไปถึงทักษะที่ทำได้ดีน้อยที่สุด
สุดท้ายสิ่งที่คุณต้องทำในการสัมภาษณ์เป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ โดยการบอกว่าข้อเสียที่คุณต้องแก้ไขคืออะไร ให้ยกตัวอย่างพร้อมวิธีการแก้ไขข้อเสียนั้น
5. “ช่วยเล่าเกี่ยวกับบริษัทของคุณมากกว่านี้ได้ไหม?”
แคนดิเดตหลายคนถามคำถามนี้ในวิธีการที่แตกต่างกันไป เช่น “เป้าหมายหลักของบริษัทคืออะไร” หรือ “บริษัททำอะไร”
ผู้จ้างงานใช้เวลาในการอ่านเรซูเม่และเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติของคุณ ดังนั้นคุณก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และค้นหาข้อมูลของบริษัทก่อนไปสัมภาษณ์เหมือนกัน
การขอให้ผู้สัมภาษณ์อธิบายโดยการถามคำถามที่เฉพาะเจาะจงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เช่น “เป้าหมายรายเดือนของทีมคืออะไร” แต่การไปสัมภาษณ์งานโดยรู้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเพียงน้อยนิดจะนำไปสู่การสร้างความประทับใจแรกพบที่ไม่ดี
6. “เงินเดือนและสวัสดิการเป็นอย่างไร?”
คำถามนี้เป็นคำถามที่ดูไม่ฉลาดเพราะบางบริษัทมีข้อมูลเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรถามตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะจะทำให้ผู้สัมภาษณ์ตั้งคำถามว่า เจตนาที่แท้จริงในการสมัครงานของคุณคืออะไร
จำไว้ว่า การสัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะมี 2-3 รอบ เพื่อพิจารณาว่าคุณเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ ดังนั้นการถามเกี่ยวกับเงินเดือนและสวัสดิการเป็นสิ่งที่ไม่ควรถามถ้าคุณยังไม่ผ่านการสัมภาษณ์รอบแรก
ที่มา: CNBC