เลือกบริษัทก่อนเลือกงาน อีกหนึ่งวิธีหางานที่ใช่และอยู่ได้นาน ฉบับเด็กจบใหม่ | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
เลือกบริษัทก่อนเลือกงาน อีกหนึ่งวิธีหางานที่ใช่และอยู่ได้นาน ฉบับเด็กจบใหม่
By Siramol Jiraporn มีนาคม 24, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

การใช้วิธี Company First หรือการเลือกบริษัทก่อนเป็นอย่างแรก จะช่วยให้เราสามารถระบุสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้น ทำให้หางานที่ใช่ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงในการเลื่อนดูเว็บหางานไปเรื่อยๆ หางานที่ใช่

ทำไมต้องเลือกบริษัทก่อน?

การหางานจากการเลือกบริษัทก่อน จะช่วยให้เรามีโอกาสได้งานที่ชอบ และสามารถอยู่ที่บริษัทนั้นได้เป็นเวลานาน สิ่งนี้มีความสำคัญกับผู้ที่มองหาอาชีพที่สามารถเติมเต็มตัวเองได้ 

“คนส่วนใหญ่ลาออกจากงานเพราะวัฒนธรรมองค์กรหรือเพื่อนร่วมงาน” Jena Viviano โค้ชด้านอาชีพของ Muse กล่าว “การเลือกบริษัทก่อนเป็นอันดับแรก จะทำให้มีโอกาสทำงานได้นานกว่าเดิมหากมองในระยะยาว”

เมื่อเรามองหาบริษัทก่อนงาน จะทำให้เราสนใจทั้งความรับผิดชอบที่ต้องทำในแต่ละวัน เบื้องหลังการทำงานของบริษัท ความก้าวหน้าทางอาชีพในบริษัท Work-life balance และอื่นๆ สิ่งนี้จะทำให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมากขึ้น 

อีกทั้งยังทำให้เราเตรียมตัวสมัครงานและสัมภาษณ์งานได้ตรงจุด เพราะเราเรียนรู้และหาข้อมูลบริษัทมาแล้ว ทำให้มีแนวโน้มที่บริษัทจะจ้างเรามากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ปัจจุบันหลายบริษัทใช้ชื่อตำแหน่งงานและการแยกประเภทงานที่มีความแตกต่างกันไป เราไม่สามารถพิมพ์คำว่า ‘HR generalist’ แล้วจะเจอตำแหน่ง HR ทั้งหมดได้อีกต่อไป เช่น บางบริษัทเรียกว่า Culture, People หรือ Happiness department 

ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรทำมื่อเริ่มหางานคือ ดูว่ามีบริษัทไหนบ้างที่สอดคล้องกับเป้าหมายของเรา แล้วค่อยเจาะลึกเข้าไปดูตำแหน่งงานในบริษัทนั้นๆ เพื่อที่จะรู้ได้ว่าเรากำลังสมัครงานในตำแหน่งและบริษัทที่ใช่จริงๆ

วิธีเลือกบริษัท

การใช้วิธี Company First ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ความรู้สึกข้างในของตัวเองจริงๆ และต้องใช้เวลาในการดึงความรู้สึกนี้ออกมา แต่เนื่องจากวิธีนี้ให้ผลลัพธ์ในการหางานระยะยาว จึงคุ้มค่าที่จะลอง

1. ค้นหาสิ่งที่สนใจมากที่สุด

เป้าหมายของการใช้วิธีนี้คือการหางานที่รัก ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ ต้องรู้ก่อนว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา ให้ลองทบทวนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากเป็นเด็กจบใหม่อาจลองทบทวนจากประสบการณ์อาสาสมัครหรือการฝึกงานดูว่า อะไรเป็นสิ่งที่ชอบและไม่ชอบในตำแหน่งและบริษัทที่เคยทำ

ตัวอย่างสิ่งที่ควรพิจารณา:

  • ขนาดบริษัท: จำนวนคนในบริษัทสามารถบ่งบอกได้ถึงเสียงที่เราจะได้ยินระหว่างการทำงาน ปริมาณงานที่ต้องทำ การสื่อสารระหว่างทีม และอื่นๆ
  • ที่ตั้งบริษัท: ต้องการทำงานที่ไหน? 
  • บริษัทอยู่ช่วงไหน: บริษัทกำลังอยู่ช่วงไหนของการเติบโต? สภาพแวดล้อมของบริษัท Startup จะแตกต่างจากบริษัทที่ก่อตั้งมานานแล้ว
  • วัฒนธรรม: ชอบการทำงานแบบเป็นทีมหรือฉายเดี่ยวมากกว่า? ชอบบริษัทที่มีกฎระเบียบเข้มงวดหรือมีความยืดหยุ่น? ชอบแต่งตัวแบบเป็นทางการหรือใส่อะไรก็ได้? 
  • สวัสดิการ: อยากได้สวัสดิการแบบไหนที่สุด เช่น งบการเรียนรู้ละพัฒนาตัวเอง การประกันสุขภาพ การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร PTO การมีชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น หรือการทำงานจากที่บ้าน

2. สร้างลิสต์บริษัทที่สนใจ

เมื่อหาสิ่งที่สนใจมากที่สุดแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการหาบริษัทที่ต้องการ สามารถทำได้ดังนี้

  • ค้นหาบริษัทชั้นนำ: เราสามารถกำหนดขอบเขตบริษัทที่ต้องการได้ด้วยการค้นหาคุณสมบัติที่ต้องการ เช่น องค์กรชั้นนำที่สามารถทำงานทางไกลได้
  • ดูข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย: ปกติแล้วเมื่อเปิดโซเชียลขึ้นมา เราก็มีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้นให้ลองพิจารณาดูว่าผู้คนพูดถึงแบรนด์ต่างๆ อย่างไร แล้วมีแบรนด์ใดที่ตรงกับความต้องการเราหรือไม่ เช่น บริษัทที่เราติดตามอยู่บน Twitter อาจจะให้สวัสดิการ PTO เป็นเวลา 4 สัปดาห์ให้กับพนักงานก็ได้
  • ใช้ประโยชน์จากคอนเนคชัน: หากเรามีคนรู้จักทำงานในบริษัทชั้นนำหลายๆ แห่ง ให้ถามคนเหล่านั้นเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานในแต่ละที่

3. ประเมินว่าตรงตามเกณฑ์หรือไม่

เมื่อสร้างลิสต์บริษัทที่น่าสนใจ 10-20 บริษัทแล้ว ให้ลองพิจารณาดูอีกครั้งว่าสอดคล้องกับความต้องการในข้อแรกหรือไม่ ด้วยการค้นคว้าหาข้อมูลของแต่ละบริษัทเพิ่มผ่านเว็บไซต์บริษัท โซเชียลมีเดีย และข่าวต่างๆ อย่างไรก็ตาม การถามความเห็นคนที่ทำงานที่บริษัทนั้นว่า จริงๆ แล้วการทำงานที่นั่นเป็นอย่างไร ย่อมมีประโยชน์และน่าเชื่อถือมากกว่า

สิ่งสำคัญคือ อย่าเสียดายหากมีบริษัทไหนไม่ถูกใจ แม้ว่าการปล่อยมือจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงจะเป็นเรื่องยากก็ตาม แต่ชื่อเสียงของบริษัทไม่สามารถทดแทนสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะกับตัวเองได้หากเข้าไปทำงานจริงๆ

4. จับตาดูตำแหน่งว่าง

เมื่อจำกัดขอบเขตบริษัทลงได้แล้ว ควรเช็คตำแหน่งว่างของบริษัทนั้นๆ อยู่เสมอ เพราะบริษัทที่เราสนใจอาจจะยังไม่เปิดรับสมัครตำแหน่งที่ต้องการ แต่จำไว้ว่าบริษัทจะมีการจ้างงานอยู่เรื่อยๆ เมื่อบริษัทเปิดรับสมัครก็สามารถสมัครได้ทันที 

เคล็ดลับของการสมัครงานอย่างหนึ่งคือ อย่าพรีเซนต์มากเกินไปว่าเราดีเลิศและเหมาะกับตำแหน่งนี้ขนาดไหน ให้พูดถึงความหลงใหลในบริษัทและสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่แทน

5. ทำความรู้จักคนที่ทำงานอยู่ในบริษัท

การสร้างเครือข่ายหรือคอนเนคชันเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่ารอให้คนอื่นเข้าหาเรา แต่ให้เรารุกเข้าไปแทน เพราะการมีคนรู้จักในบริษัทนั้นช่วยให้เรารู้ข้อมูลจากบริษัทนั้นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กร กระบวนการจ้างงาน หรือบางทีอาจจะรู้ว่ามีตำแหน่งว่างแต่ยังไม่ประกาศรับสมัครก็ได้

นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ผ่านเข้าสู่รอบต่อไปได้ง่ายขึ้น เพราะมีแนวโน้มที่เราจะมีความโดดเด่นกว่าผู้อื่น หากยื่นใบสมัครงานที่ได้รับการอ้างอิงจากผู้ที่อยู่ในบริษัท ถ้าไม่มีคนรู้จักทำงานในบริษัทที่สนใจ เราก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายๆ ผ่าน LinkedIn

แน่นอนว่าการใช้วิธี Company First อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป อีกทั้งยังต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นอย่างมาก แต่ก็ถือว่าคุ้มหากมองเป็นความสำเร็จในระยะยาวว่าเราจะได้งานและบริษัทที่ใช่จริงๆ

อ้างอิง The Muse

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/job-hack/company-first-job-search