‘ที่นี่อยู่กันแบบพี่น้อง’ หลายคนอาจเคยได้ยินคำนี้ แต่เมื่อเข้าไปทำงานกลับไม่เป็นเช่นนั้น แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าวัฒนธรรมองค์กรไหนที่ตรงกับความต้องการของเราจริงๆ?
จากแบบสำรวจของ Glassdoor พบว่า คนส่วนใหญ่เจองานใหม่ในอีกแง่มุมที่แตกต่างจากความคาดหวังหลังจากกระบวนการสัมภาษณ์ และวัฒนธรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่คนพูดถึงมากที่สุด
ไม่ว่าคุณเพิ่งจะเข้าสู่การหางานเป็นครั้งแรกหรือกำลังเปลี่ยนงาน วัฒนธรรมองค์กรอาจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรคิดถึงระหว่างการหางาน ในทางธุรกิจ วัฒนธรรมองค์กรหมายถึง ความเชื่อและค่านิยมร่วมกันขององค์กรที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้นำ จากนั้นก็ยึดถือปฏิบัติกันต่อมาจนกลายเป็นธรรมเนียมที่ส่งผลการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและลูกค้า ความพึงพอใจในอาชีพ และสุขภาพจิต
ผู้สมัครงานต้องค้นหาวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมของตัวเอง เพราะถ้าสองสิ่งนี้ไม่ตรงกันในรูปแบบของนายจ้างรบเร้าให้ทำงานดึกหรือทำในวันหยุดซึ่งคุณไม่ต้องการ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะความเป็นอยู่ของคุณในแต่ละวัน แรงจูงใจในการทำงานลด หรือในกรณีร้ายแรงที่สุดคือส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย
ก่อนสถานการณ์โควิด การค้นหาวัฒนธรรมอาจทำได้ง่ายกว่า โดยการหาข้อมูลได้จากการเดินเข้าไปแถวพื้นที่ออฟฟิศ และคุณจะรู้สึกได้ถึงผู้คน สถานการณ์ และอื่นๆ ทั่วไปได้ว่าเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้หลายที่ทำงานกันแบบทางไกล คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าสภาพแวดล้อมนั้นเหมาะกับคุณหรือไม่
และต่อไปนี้คือ 3 วิธีที่จะทำให้คุณค้นหาวัฒนธรรมที่ใช่สำหรับตัวเองเจอ
1. หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลหลายอย่างสามารถหาได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงวัฒนธรรมองค์กรด้วย คุณแค่ต้องรู้ว่ากำลังมองหาอะไรอยู่
บริษัทต่างๆ จะมีวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัฒนธรรมที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้หางานควรเริ่มต้นด้วยการให้ความสนใจกับความแตกต่างของภาษาในข้อมูลเหล่านี้ ดังนี้
วิเคราะห์คำที่ใช้ใน Job Description: ให้ความสนใจกับวิธีการเขียนโพสต์ ถ้อยคำเหล่านี้จะสามารถเปิดเผยความเชื่อและลำดับความสำคัญได้ เช่น การโพสต์อย่างเร่งรีบเพื่อให้ทันตามกำหนด แสดงให้เห็นถึงการไม่มีความสมดุลในที่ทำงาน และจงจำไว้เสมอว่าคีย์เวิร์ดบางคำอาจฟังดูเป็นแง่บวก แต่จริงๆ แล้วมีความหมายที่แตกต่างออกไปเป็นอย่างมาก
วิเคราะห์อคติทางเพศ: วิเคราะห์คำอธิบายงานว่ามีอคติทางเพศหรือไม่ด้วยคำที่มีความเอนเอียงไปทางเพศชาย เช่น แข่งขัน หรือเป็นผู้นำ อาจทำให้ผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงได้รับความสนใจน้อยกว่า
ตรวจสอบการรีวิวงาน: บางครั้งก็จะมีกระทู้เกี่ยวกับบางองค์กรอย่างใน Pantip, Workventure หรือ Glassdoor ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรนั้นใหญ่และเป็นที่รู้จักดีแค่ไหน การอ่านรีวิวจากคนที่ไม่ระบุตัวตนจากทั้งพนักงานในปัจจุบันและอดีต ก็จะทำให้คุณเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารีวิวนั้นจะถูกต้อง 100%
ขุดคุ้ยโซเชียล: ดูว่านายจ้างแชร์อะไรในช่องทางของตัวเอง และเลื่อนไปดูช่วงที่มีประเด็นทางสังคม ดูว่าเขารับมือกับการเคลื่อนไหวทางสังคม การก่อความไม่สงบ การเหยียดเชื้อชาติ หรือเรื่องสาธารณสุข ในช่วงเวลานั้นของเขาเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นค่านิยมและความเชื่อได้
2. ค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่
ใช้สถานการณ์สมมติเพื่อหาคำตอบโดยละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร และทำให้เขาตอบกลับมาแบบเจาะจงมากที่สุด แทนที่จะถามว่า “วัฒนธรรมองค์กรที่นี่เป็นอย่างไร?” ควรถามคำถามที่ตรงประเด็นมากขึ้น ดังนี้
ถ้ามีคนทำงานผิดพลาด ทีมของคุณจะรับมืออย่างไร?
จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสำหรับทุกคนอย่างไร?
เมื่อมีความขัดแย้งกับทีมอื่น จะแก้ไขอย่างไร?
บริษัทจะทำให้พนักงานรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันขณะทำงานไกลได้อย่างไร?
ถึงแม้จะถามคำถามที่มีความเฉพาะเจาะจง แต่ก็มีโอกาสที่ทางบริษัทจะตอบแบบคลุมเครือ ความคลุมเครือนี้บ่งบอกว่าเขาไม่แตะประเด็นที่คุณยกมา นี่อาจไม่ใช่สัญญาณเชิงบวก เพราะคุณอาจพบว่า วัฒนธรรมองค์กรของเขาจริงๆ กับวัฒนธรรมองค์กรที่เขาขายให้กับคุณไม่ตรงกัน
3. พยายามสร้างความสัมพันธ์
คำแนะนำข้างต้นอาจมีประโยชน์ถ้าคุณอยู่ในขั้นตอนของการสัมภาษณ์งาน แต่ถ้าคุณยอมรับข้อเสนองานแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าวัฒนธรรมองค์กรของคุณเป็นอย่างไรในช่วงของการทำงานแบบ Work From Home?
คุณควรหาข้อมูลจากการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหลังได้รับการว่าจ้าง ก่อนวันเริ่มงานวันแรก ควรถามคำถามต่อไปนี้
มีคู่มือ การฝึกอบรมออนไลน์ หรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ช่วยให้รู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทหรือไม่?
บริษัทใช้แพลตฟอร์มอะไรในการทำงาน?
มีใครในทีมที่ฉันต้องจับคู่ทำงานด้วยไหม? (คนที่จะสามารถสอนคุณเกี่ยวกับกฎและธรรมเนียมขององค์กรที่ไม่ได้เขียนไว้)
ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กจบใหม่หรือใครก็ตามที่กำลังหางานอยู่ การหาวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะกับตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะวัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะนำคุณไปสู่การทำงานที่มีความสุขมากกว่าจะทำให้สุขภาวะความเป็นอยู่ทั้งทางกายและจิตใจของคุณถดถอยลง
ที่มา: How to Find Out if a Company’s Culture is Right for You (hbr.org)