5 วิธีในการจัดการกับข้อเสนองานที่ได้รับ เมื่อได้งานที่หนึ่งแล้วแต่ยังอยากรอผลจากอีกที่อยู่ | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
5 วิธีในการจัดการกับข้อเสนองานที่ได้รับ เมื่อได้งานที่หนึ่งแล้วแต่ยังอยากรอผลจากอีกที่อยู่
By Chanapa Siricheevakesorn กันยายน 9, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

เชื่อว่ามีเด็กจบใหม่หรือผู้ที่กำลังมองหางานหลายๆ คนเคยประสบกับเหตุการณ์นี้!

สมัครงานหลายๆ ที่ ได้รับโอกาสในการสัมภาษณ์งานและมีการจัดอันดับบริษัทที่อยากร่วมงานด้วยในใจ แต่เนื่องจากกระบวนการจ้างงานของแต่ละที่ไม่เท่ากันเลยอาจทำให้มีเหตุการณ์เช่น บริษัทอันดับสองที่เราทดไว้ในใจยื่นข้อเสนอมาให้เราก่อนบริษัทที่อยากร่วมงานด้วยเป็นอันดับหนึ่ง จนอาจทำให้เรามีความรู้สึกลังเลและกดดันว่าจะรอแบบเสี่ยงๆ กับบริษัทที่ยังไม่รู้ว่าเราจะผ่านการสัมภาษณ์จนได้ข้อเสนอจ้างงานดีไหม? อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากทิ้งข้อเสนองานที่ได้รับมา 

5 วิธีในการจัดการกับข้อเสนองานที่ได้รับ เมื่อได้งานที่หนึ่งแล้วแต่ยังอยากรอผลจากอีกที่อยู่

เจอเหตุการณ์แบบนี้ควรจะทำอย่างไรดี? ในบทความนี้ ConNEXT จะพาไปหาทางออกกับ “5 วิธีในการจัดการกับข้อเสนองานที่ได้รับ เมื่อได้งานที่หนึ่งแล้วแต่ยังอยากรอผลจากอีกที่อยู่”

1. ขอเวลาตัดสินใจ

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแสดงความตื่นเต้น แจ้งให้ HR ให้ทราบว่าคุณรู้สึกตื่นเต้นกับงาน และรู้สึกขอบคุณที่ได้รับข้อเสนอ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังสนใจในโอกาสที่จะเข้าร่วมงานกับบริษัทของพวกเขา

จากนั้น คุณสามารถขอเวลาสูงสุดหนึ่งสัปดาห์เพื่อพิจารณาข้อเสนอโดยดูจากปฏิกิริยาของ HR เพราะบางบริษัทไม่ต้องการรอนานเนื่องจากเวลาทุกนาทีในการทำงานมีค่าอีกทั้งในตลาดการจ้างงานมีการแข่งขันสูงและบริษัทต้องการจะทราบว่าจำเป็นที่จะต้องมูฟออนไปยังผู้สมัครสำรองหรือเริ่มต้นกระบวนการค้นหาใหม่ทั้งหมดอีกครั้งหรือไม่ 

หากปฏิกิริยาของ HR ดูนิ่งหรือมีท่าทีไปในเชิงลบให้ถามถึงระยะเวลาในการตอบกลับที่เหมาะสม โดยไม่ต้องให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าคุณกำลังรอการตอบกลับจากอีกบริษัทอยู่เพราะอาจทำให้บริษัทที่ยื่นข้อเสนอรู้สึกว่าความตื่นเต้นของคุณเกี่ยวกับตำแหน่งงานของพวกเขาไม่ใช่เรื่องจริงและอาจทำให้พวกเขาตัดไฟตั้งแต่ต้นลมโดยการเปลี่ยนจุดโฟกัสจากคุณไปยังผู้สมัครคนต่อไปได้แทน

2. ขอพบปะผู้คนและทัวร์ออฟฟิศ

หากคุณไม่สามารถควบคุมเวลาที่จะต้องพิจารณาข้อเสนอได้ คุณสามารถลองขยายเวลาด้วยการขอพบคนที่คุณยังไม่เคยพบ เช่น ทีมที่ต้องร่วมงานด้วยกันในอนาคตหรือไปเยี่ยมชมสำนักงานก่อนทำการตัดสินใจ 

การทัวร์ออฟฟิศ แม้จะเป็นสำนักงานที่ว่างเปล่าก็จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงวัฒนธรรมและพื้นที่การทำงานร่วมกัน ไม่แน่คุณอาจจะตัดสินใจรับข้อเสนองานได้อย่างง่ายดาย ที่สำคัญพยายามจัดตารางในการขอเยี่ยมชมออฟฟิศหรือขอพบปะเพื่อนร่วมงานในอนาคตภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากการได้รับข้อเสนอ การทำวิธีนี้อย่างน้อยนอกจากจะทำให้คุณดูมีความกระตือรือร้นกับข้อเสนอแล้วอย่างน้อยยังเป็นการขยายเวลาให้กับการรอข้อเสนอของบริษัทที่อยากร่วมงานอีกที่หนึ่งได้

3. ปฏิเสธบริษัทที่คุณไม่สนใจ

หากคุณเคยสัมภาษณ์ในบริษัทที่คุณไม่สนใจให้โทรหรือส่งอีเมลหา HR เพื่อแจ้งว่าคุณได้รับข้อเสนอจากบริษัทอื่นและวางแผนที่จะตอบรับข้อเสนอนั้น การแจ้งหรือปฎิเสธถือเป็นมารยาทพื้นฐานที่ควรทำมากกว่าการหายตัวไปเฉยๆ เพราะถือว่าคุณได้สร้างความสัมพันธ์หรือคอนเนคชั่นกับพวกเขาแล้ว อีกทั้งในอนาคตเราไม่มีทางรู้ได้ว่าเราอาจต้องการคอนเนคชั่นนั้นเพื่อต่อยอดงานในอนาคตก็เป็นได้ 

4. ตรวจสอบว่าคุณเป็นผู้สมัครที่มีศักยภาพพอสำหรับตำแหน่งงานที่อยากได้หรือไม่?

ติดต่อ HR บริษัทที่ยังไม่ได้รับข้อเสนอแต่อยู่อันดับหนึ่งในลิสต์ของคุณ ตอกย้ำถึงความตื่นเต้นของคุณในตำแหน่งที่สมัครรวมถึงความต้องการอยากการร่วมงานกับพวกเขา ทำให้พวกเขารู้ว่าเป็นตัวเลือกอันดับแรกของคุณโดยบอกว่าคุณได้รับข้อเสนอจากอีกบริษัทแต่ก็ยังคงรอฟีดแบ็กจากบริษัทของพวกเขาเพราะที่นี่เป็นบริษัทในอุดมคติที่อยากร่วมงานด้วยเป็นอันดับหนึ่งในใจจึงยังไม่ได้ตอบรับข้อเสนอนั้น และถาม HR ตามตรงว่าคุณยังอยู่ในลิสต์ผู้สมัครที่ได้รับการพิจารณาอยู่หรือไม่? 

ถ้าบริษัทบอกว่าคุณไม่ใช่ผู้สมัครที่เหมาะสม คุณก็ไม่ต้องเสี่ยงเสียเวลาและมูฟออนไปในทิศทางที่ตัดสินใจได้ หากบริษัทบอกว่าพวกเขาเพิ่งเริ่มกระบวนการสรรหา นั่นหมายความว่าพวกเขาอาจยินดีที่จะเสียคุณไปในฐานะผู้สมัคร แต่ถ้าหากพวกเขาบอกว่าคุณเป็นผู้สมัครที่มีศักยภาพ มีความกระตือรือร้น และบอกว่าคุณยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการตัดสินของบริษัท คุณอาจสามารถยื่นข้อเสนอว่ามีอะไรอีกไหมที่คุณสามารถตอบคำถามให้พวกเขาตัดสินใจในการพิจารณาทำข้อเสนอให้ได้ง่ายมากขึ้น 

หากเป็นช่วงต้นของกระบวนการสัมภาษณ์ คุณสามารถขอให้พวกเขาเร่งกระบวนการที่เหลือเพื่อพิจารณาว่าคุณเป็นผู้สมัครที่ดีที่สุดสำหรับงานนั้นๆ หากพวกเขาสามารถเร่งความเร็วได้จะเป็นผลดีต่อคุณแต่ถ้าไม่ได้ คุณอาจต้องตัดสินใจว่าคุณต้องการเสี่ยงที่จะปฏิเสธข้อเสนอที่คุณมีอยู่แล้วหรือไม่?

5. ตัดสินใจรับข้อเสนองานแล้วแต่ยังลังเล!

พนักงานใหม่โดยเฉลี่ยจะเริ่มงานใหม่ระหว่างสองถึงสี่สัปดาห์หลังจากรับข้อเสนอ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คุณมีเวลาในตอบรับการสัมภาษณ์กับบริษัทอื่นๆ ให้เสร็จสิ้นเพื่อพิจารณาว่าเหมาะสมกว่าหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้ก็นำมาซึ่งข้อดีและข้อเสีย

  • ข้อดี

หากคุณยอมรับข้อเสนองานไว้แล้ว คุณจะไม่ค่อยมีความกังวลและกดดันเพราะคุณรู้ว่ามีงานรออยู่ การขอเวลาสี่สัปดาห์อาจจะทำให้คุณมีเวลามากพอที่จะได้รับข้อเสนอจากบริษัทที่เป็นตัวเลือกอันดับแรกหรือทำให้คุณสามารถไปสัมภาษณ์งานในบริษัทอื่นๆ 

  • ข้อเสีย

หากตอนนี้คุณว่างงาน ตกงาน คุณจะไม่มีเงินเดินในการใช้จ่ายจนอาจนำไปสู่ความยากลำบากทางการเงิน และถึงแม้ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลในตอนนี้แต่การเปลี่ยนใจหลังจากยอมรับข้อเสนอไปแล้วอาจสะท้อนถึงลักษณะนิสัยของคุณในเชิงลบได้หากคุณไม่รับมือในการจัดการกับบทสนทนาที่น่าอึดอัดให้ดีเพราะถ้าหากคุณต้องการรับข้อเสนอจากบริษัทอื่นหลังจากที่คุณได้ตอบรับข้อเสนอจากบริษัทที่หนึ่งแล้ว ทางที่ดีควรโทรหา HR จากบริษัทที่คุณวางแผนจะเข้าร่วมในตอนแรกโดยเร็วที่สุดและแจ้งพวกเขาว่าคุณเปลี่ยนใจ คุณอาจคิดว่าอีเมลนั้นใช้ได้ แต่การโทรศัพท์พร้อมคำขอโทษนั้นดีกว่า 

เพราะบริษัทที่ถูกปฏิเสธอาจจะต้องใช้เวลาอีก 60 วันในการจ้างใหม่ ดังนั้นอย่าแจ้งพวกเขาล่าช้า แม้ว่าคุณจะจัดการกับการสนทนานี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบแต่ก็อาจจะต้องยอมรับว่าคุณมีแนวโน้มสูงที่อาจจะถูกปฏิเสธในการเข้าทำงานในบริษัทนั้นในอนาคตหรือในบริษัทอื่นๆ ที่ HR ท่านนั้นย้ายไปทำงานในภายหลัง

ท้ายที่สุด คุณต้องการค้นหาสิ่งที่ใช่สำหรับคุณ และบริษัทต่างๆ ก็ต้องการค้นหาสิ่งที่เหมาะสมสำหรับพวกเขาเช่นกัน หากคุณเชื่อว่าบริษัทที่เสนองานให้คุณนั้นไม่เหมาะสมโดยพิจารณาจากบทบาทหน้าที่ รูปแบบการทำงาน วัฒนธรรม หรือเหตุผลอื่นๆ คุณควรปฏิเสธข้อเสนอและเดินหน้าค้นหางานที่เหมาะสมกับคุณต่อไป

อ้างอิง : Harvard Business Review

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/job-hack/how-to-handle-a-job-offer-while-still-interviewing-elsewhere