“แค่เป็นตัวของตัวเอง” เป็นคำแนะนำที่ใครหลายคนอาจเคยได้รับในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสัมภาษณ์งาน เนื่องจากผู้ที่ให้คำแนะนำอยากให้เรารู้สึกผ่อนคลายและไม่อยากให้เราพยายามเป็นคนอื่น
Rex Huppke คอลัมนิสต์ของ The Chicago Tribune ก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่เชื่อว่าการพยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่นายจ้างมองหา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเป็นผู้สมัครที่มีความสมบูรณ์แบบ จะทำให้เราไม่ได้ขายจุดแข็งความเป็นตัวเอง
แต่ Adam Grant ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและการจัดการที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย คิดว่าการแนะนำว่าให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่คำแนะนำที่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา “เราทุกคนมีความคิดและความรู้สึกเป็นของตัวเอง แต่เราไม่จำเป็นต้องพูดทุกอย่างที่รู้สึกออกมา”
ถ้าเราเป็นตัวเองมากเกินไป จะทำให้เราพูดทุกอย่างที่คิด ซึ่งแน่นอนว่าการพูดทุกอย่างที่คิดในการสัมภาษณ์งานไม่ส่งผลดีต่อแคนดิเดตแน่ๆ เพราะโดยปกติแล้วมนุษย์มีความคิดนับพันในแต่ละวัน และในแต่ละความคิดที่มีนั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป
เมื่อสัมภาษณ์งานเราจึงไม่ควรพูดทุกอย่างที่อยู่ในหัวออกมา แต่ควรคิดและตัดสินใจให้ดีก่อนว่าอะไรควรหรือไม่ควรพูดออกมา ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า “อะไรคือจุดแข็งของคุณ” เราควรตอบในลักษณะที่ไม่พูดเกินจริงจนเกินไป
เช่น “จุดแข็งของดิฉัน/ผมคือ การมีแรงผลักดันและอยากพัฒนาทักษะตัวเองอยู่เสมอ เมื่อเดือนที่แล้วดิฉัน/ผมก็ได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม และดิฉัน/ผมก็พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านนี้ต่อไปในอนาคต”
ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้อยากได้ยินทุกความคิดที่อยู่ในหัวเรา แต่เขาต้องการเห็นว่าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริงหรือเราทำสิ่งนั้นจริงๆ หรือไม่มากกว่า
เพราะฉะนั้นหากถามว่า เราควรเป็นตัวของตัวเองหรือรักษาภาพลักษณ์ในระหว่างสัมภาษณ์งานดีกว่ากัน คำตอบคือ “ควรเป็นตัวของตัวเอง แต่เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุด” เพราะนอกจากจะแสดงความน่าเชื่อถือให้ผู้สัมภาษณ์เห็นได้แล้ว ยังอาจทำให้เราเจองานที่เหมาะกับตัวเองจริงๆ ด้วย
อ้างอิง The Muse