Virtual Recruiting หรือการสรรหาเสมือนจริงกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด จากการสำรวจทั่วโลก เผยว่า 65% ของบริษัท จ้างพนักงานใหม่โดยไม่เคยพบเจอตัวเป็นๆ มาก่อน และนอกจากจะสัมภาษณ์ทางวิดีโอแล้ว Tech Solutions ใหม่ๆ ก็เข้ามาทำให้ Video Resume มีความสำคัญในกระบวนการสรรหามากขึ้นด้วย
ในช่วงต้นปี 2021 LinkedIn ได้เปิดตัวฟีเจอร์ ‘Cover Story’ เป็นตัวเลือกให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดวิดีโอแนะนำตัว 30 วินาที และในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน TikTok เองก็ได้เปิดตัวฟีเจอร์ ‘Video Resumes’ เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นการนำเสนอโซลูชั่นแบบครบวงจรให้กับผู้ใช้ ตั้งแต่การบันทึก แก้ไข และส่งวิดีโอเรซูเม่ให้กับ Recruiter
จะเห็นได้ว่าความต้องการของวิดีโอเรซูเม่เพิ่มขึ้น จากการสำรวจโดย LinkedIn ก็พบว่า 79% ของ Hiring Manager คิดว่าวิดีโอจะเข้ามามีความสำคัญต่อการคัดเลือกผู้สมัครมากกว่าที่เคย เนื่องจากการทำงานทางไกลทำให้วิดีโอกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงาน หรือวิดีโอเรซูเม่คืออนาคตที่ผู้สมัครงานทุกคนจำเป็นต้องจัดทำขึ้นเพื่อสมัครงาน?
วิดีโอเรซูเม่ช่วยให้เด็กจบใหม่มีงานทำ?
Chloe Chioy เด็กจบใหม่วัย 22 ปี เชื่อว่าวิดีโอเรซูเม่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เธอมีงานแรกทำหลังจากเรียนจบ เธอเชื่อว่าการส่งวิดีโอเรซูเม่จะเป็นวิธีที่ดีในการสร้างความโดดเด่นให้กับตัวเอง ทำให้ตอนนั้นตัดสินใจส่งวิดีโอเรซูเม่สมัครงานไป
“เมื่อเราเป็นเด็กจบใหม่ แน่นอนว่าเรามีข้อเสียเปรียบสำคัญคือ การมีประสบการณ์การทำงานน้อยกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ ดังนั้นการแสดงบุคลิกภาพ ทัศนคติ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของเราผ่านวิดีโอจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการสมัครงานครั้งนี้” นอกจากนี้แล้วการส่งวิดีโอเรซูเม่ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการตัดต่อวิดีโอ รวมถึงความสามารถในการพูดในที่สาธารณะด้วย
จากการศึกษาในปี 2564 โดย Cirano ก็ชี้ว่า นายจ้าง 2 ใน 3 เปิดดูวิดีโอเรซูเม่ และวิดีโอนี้เองที่เพิ่มโอกาสอัตราการติดต่อกลับไปหาผู้สมัครมากกว่า 10%
เพราะไม่ใช่ทุกคนที่กล้าออกกล้อง
หลายคนแค่ต้องพูดหน้ากล้องกับห้องที่ว่างเปล่า ก็ทำให้รู้สึกตื่นเวทีได้แล้ว สามารถเรียกอาการนี้ได้ว่า Glossophobia หรือความกลัวการพูดในที่สาธารณะ เพราะช่วงการระบาดใหญ่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการใช้ Zoom กับความวิตกกังวลในการพูดผ่านกล้อง เช่น รู้สึกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาและท่าทางของตัวเองมากไป หรือมีความยากลำบากในการอ่านปฏิกิริยาของผู้อื่นผ่านกล้อง
ดังนั้นการทำวิดีโอเรซูเม่ จึงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการตัดต่อวิดีโอ ความคิดสร้างสรรค์ การพูดในที่สาธารณะ หรือการมีความมั่นใจในตัวเอง แต่หากนำวิดีโอเรซูเม่เข้ามาเป็นสิ่งที่ทุกคน ‘ต้องทำ’ ก็ถือว่าไม่ค่อยยุติธรรมต่อผู้สมัครงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะที่กล่าวมา และอาจจะทำให้บริษัทต่างๆ สูญเสียผู้สมัครที่ดีไปได้ เพราะวิดีโอก็ไม่ได้ให้ข้อมูลมากขนาดนั้น แต่เป็นการสร้างความประทับใจจากวิดีโอในเพียงไม่กี่วินาที
โดยสรุป วิดีโอเรซูเม่มีส่วนเข้ามาทำให้ผู้สมัครงานมีความโดดเด่นในการสมัครงานมากขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ การตัดต่อวิดีโอ และการพูดในที่สาธารณะ แต่สำหรับผู้ที่เจอกล้องแล้วสั่นกลัวไม่กล้าพูด หรือไม่มีทักษะในการตัดต่อวิดีโอ แทนที่จะใช้เวลาในการคลำหาวิธีตัดต่อวิดีโอหลายชั่วโมง อาจจะต้องหันกลับมาสู่ขั้นตอนพื้นฐานดีกว่า นั่นคือ การเขียนเรซูเม่ให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด
อ้างอิง BBC