ทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่นายจ้างส่วนใหญ่ต้องการจากพนักงานมากที่สุด จากการสำรวจนายจ้าง 207 คนในปี 2021 โดย National Association of Colleges and Employers เผยว่า นายจ้างมากกว่า 2 ใน 3 กล่าวว่าพวกเขามองหาคนที่มีทักษะการสื่อสารด้านการพูดที่ดี แต่จะทำอย่างไรเมื่อการกล้าพูดออกมาไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนทำได้ง่ายๆ
ความกังวลในการพูดในที่สาธารณะเป็นหนึ่งใน Social disorder หรือโรคกลัวสังคม ซึ่งเป็นโรคที่สามารถพบเจอได้บ่อยที่สุด จากตัวอย่างชุมชนในปี 2012โดย University of Manitoba มีการคาดการณ์ไว้ว่า 15% ถึง 30% ของจำนวนประชากรทั่วไปกลัวการพูดในที่สาธารณะ
Heather Hansen ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและเจ้าของหนังสือ "Unmuted: How to Show Up, Speak Up, and Inspire Action" กล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับการพูดในที่ทำงานอาจมาจากหลายๆ ปัจจัย ซึ่งอย่างหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับ Self-worth หรือการรับรู้คุณค่าในตัวเอง เนื่องจากบางคนมีความเชื่อว่าความคิดของตัวเองยังไม่ดีพอ หรือเรียกได้ว่าเป็น Imposter Syndrome หรือบางคนอาจจะไม่กล้าพูดเพราะสำเนียงภาษาตัวเองไม่เหมือนคนอื่นๆ ในที่ทำงาน
จากการวิจัยปี 2019 โดย University of Macau ชี้ว่า คนขี้อายส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องความมั่นใจในตัวเองต่ำและกังวลว่า Performance ตัวเองจะแย่ เนื่องจากที่ทำงานส่วนใหญ่ต้องการให้พนักงานมีผลประเมินการทำงานที่ดีและมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ หากใครที่เป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยสุงสิงกับใครในที่ทำงานก็อาจทำให้มีความก้าวหน้าในอาชีพการทำงานช้า
จากข้อมูลโดย Pew Research Center พบว่า 6 ใน 10 ของคนทำงานตอนนี้กำลังทำงานจากที่บ้าน ทำให้ไม่รู้ว่าควรเปิดไมค์พูดในที่ประชุมตอนไหนดี ส่งผลให้หลายคนรู้สึกว่าการพูดในที่ทำงาน/ในที่ประชุม ทำได้ยากยิ่งกว่าเดิม ดังนั้น Hansen จึงได้แนะนำเคล็ดลับการเป็นนักสื่อสารที่มีประสิทธิภาพให้มากกว่าเดิมในช่วงการทำงานไฮบริดหรือการทำงานทางไกลในปัจจุบัน
1. รับรู้คุณค่าของตัวเอง
สิ่งแรกที่ควรมีคือ Self-awareness เราต้องรับรู้คุณค่าของตัวเองและสิ่งที่เราเป็น เพราะการสื่อสารที่ดีมีพื้นฐานมาจากความตระหนักรู้ในตนเอง โดยเราจะต้องทำความเข้าใจตัวเองให้ลึกมากเท่าที่จะลึกได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เราเข้าใจตัวเองนั่นหมายความว่าเราก็จะเข้าใจผู้อื่นได้ดี แล้วเราก็จะรู้ว่าทำไมคนอื่นทำสิ่งนั้นและทำไมเขาถึงมีการตอบสนองที่แตกต่างกันไป
สิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจในตัวเองออกไปในระดับหนึ่ง ซึ่งความมั่นใจนี้ก็จะส่งผลต่อความกล้าพูดในที่ทำงานด้วย
ดังนั้น เราจึงควรโฟกัสคุณค่าในตัวเอง โดยการตั้งคำถามตัวเองว่า ‘ทำไมเราถึงไม่กล้าพูดออกมา’ หรือ ‘ทำไมเราถึงคิดว่าความคิดของเราไม่ดีเท่าคนอื่น’
2. จำไว้ว่าคนอื่นก็รู้สึกแบบเดียวกัน
การขาดความมั่นใจในที่ทำงานอาจนำไปสู่ Imposter sysdrome ซึ่งเป็นภาวะที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งอะไรสักอย่าง โดยภาวะนี้อาจทำให้เรามีสุขภาพจิตที่แย่ลงได้
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทุกคนก็มีอาการ Imposter syndrome เหมือนกัน แม้แต่คนที่เป็นไอดอลหรือเมนเทอร์ของเรา ทุกคนต่างก็มีช่วงเวลาที่รู้สึกว่าความคิดของตัวเองไม่ดีพอเช่นเดียวกัน
เมื่อเราตระหนักแล้วว่าทุกคนต่างก็รู้สึกแบบเดียวกับที่เรารู้สึก ก็จะทำให้เรากล้าลุกขึ้นและยกมือพูดในที่ทำงานได้มากขึ้น
3. ปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงาน
ความสามารถในการปรับตัวเป็นอีกหนึ่งทักษะที่มีความสำคัญสำหรับการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงาน
โดยปกติแล้วคนเราก็ต้องปรับตัวโดยการพูดในสิ่งที่คนอื่นต้องการ เพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการกลับมาจากผู้อื่นอยู่แล้ว
Hansen กล่าวว่า คำพูดที่เธอใช้กับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าไม่ใช่คำพูดแบบที่เธอใช้กับลูกหรือสามี สไตล์และนิสัยของเธอจะเปลี่ยนไปตามบริบทที่เผชิญ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติของทุกคนและไม่ได้หมายความว่าเราไม่จริงใจกับผู้อื่น
การมีความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อกับเพื่อนร่วมงานสามารถช่วยให้เรากล้าพูดในที่ประชุมได้มากขึ้น เพราะเมื่อเราอยู่ในที่ที่สบายใจมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเต็มใจพูดออกมาเท่านั้น
จำไว้ว่าการพูดในที่ประชุมเป็นเป็นเรื่องของ ‘Connection’ ไม่ใช่ ‘Perfection’ ดังนั้นให้โฟกัสที่การเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับผู้อื่นแทนการโฟกัสว่าจะต้องทำทุกอย่างให้ออกมาสมบูรณ์แบบ
4. หาวิธีรับมือกับคนเจ้าปัญหา
สถานที่ทำงานแย่ๆ หรือเพื่อนร่วมงานแย่ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การกล้าพูดในที่ทำงานเป็นเรื่องยากสำหรับเรา ถ้าเรากำลังเผชิญกับเพื่อนร่วมงานแย่ๆ ก็ควรหาวิธีพูดในทางที่ไม่กระตุ้นอารมณ์ผู้อื่น เพราะเรากับเพื่อนร่วมงานต่างก็มีวิธีการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าเรามีสิทธิและเสรีภาพในการพูด แต่ก็ไม่ควรละเมิดสิทธิของผู้อื่น
อ้างอิง Business Insider