History of work ใครกันนะ? ที่เป็นคนคิดค้นการทำงาน | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
History of work ใครกันนะ? ที่เป็นคนคิดค้นการทำงาน
By Chanapa Siricheevakesorn กุมภาพันธ์ 1, 2024
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

ในวันที่การทำงานไม่เป็นดั่งใจ เคยคิดเล่น ๆ ไหมว่าใครกันนะที่เป็นคนคิดค้นการทำงานขึ้นมาบนโลก! แล้วความหมายแท้จริงของการทำงานคืออะไร แพชชั่น? การได้รับการยอมรับ? หรือการทำเพื่ออยู่รอด? วันนี้ ConNEXT จะพาเพื่อน ๆ ไปหาคำตอบกันกับ ‘History of work’ 

Work

ใครคือคนแรกที่คิดการทำงานขึ้นมา?

คำตอบสั้น ๆ คือ คนแรกที่ประดิษฐ์การทำงานขึ้นมาคือ ‘มนุษย์’ นั่นเอง เพราะตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์ต้องทำงานเพื่อดำรงชีวิต และรูปแบบการทำงานก็พัฒนาอย่างต่อเนื่องไปตามยุคสมัย ซึ่งรูปแบบการทำงานแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 และได้มีการพัฒนารูปแบบการทำงานใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่ถ้าเราเจาะลึกไปกว่านั้น ในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แรงงานส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม โดยใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก ซึ่งการทำงานส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและฤดูกาลของพืชผล การทำงานจึงมีลักษณะเป็นงานอิสระสูง สามารถกำหนดเวลาการทำงานและปริมาณงานเองได้

จนมาในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการทำงาน แม้เครื่องจักรกลจะมีบทบาทแทนแรงงานคน สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากขึ้นในเวลาอันสั้น แต่ความต้องการแรงงานมนุษย์ก็ไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการเริ่มทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย โดยมีรูปแบบการทำงาน แบบงานประจำ มีการกำหนดเวลาการทำงานและปริมาณงานไว้ล่วงหน้า พร้อมทั้งมีการกำหนดเรทค่าจ้าง การทำงานจึงเริ่มมีความสัมพันธ์กับเงินหรือรายได้มากขึ้น

History of work: รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปตามสมัย

รูปแบบการทำงานแบบ 9-5

  • รูปแบบการทำงานแบบ 9-5 คือ การเริ่มงาน 9 โมง เลิกงาน 5 โมง และ ทำงานเป็นเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • เกิดขึ้นจากการผสมผสานกันระหว่างแรงงานเรียกร้องสิทธิ, การทดลองของภาคอุตสาหกรรม, และค่านิยมทางสังคม ไม่ใช่ว่ามีใครคนหนึ่ง "คิดค้น" รูปแบบการทำงานนี้ขึ้นมา
  • แรงงานในศตวรรษที่ 19 เรียกร้องลดชั่วโมงทำงาน: ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 18 แรงงานต้องทำงานกันหนักมาก บางทีก็ยาวถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน! แรงงานจึงออกมาต่อสู้เรียกร้องให้ลดชั่วโมงลง
  • ในปี 1920 Henry Ford ผู้บริหารโรงงานรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เกิดไอเดียให้พนักงานของ Ford Motor Company ทดลองทำงานแค่ 8 ชั่วโมงต่อวัน ปรากฎว่าผลผลิตกลับดีขึ้นเกินคาด!
  • หลังจากนั้นรูปแบบการทำงานแบบ 9-5 กลายเป็นมาตรฐานที่บริษัทต่าง ๆ ก็เริ่มนำระบบนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย

รูปแบบการทำงานแบบ Remote work

  • 1973: Jack Nilles นักวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชาวอเมริกัน เขาเสนอว่าพนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านหรือจากสถานที่อื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และเขาได้บัญญัติคำว่า "Telecommuting" และ "Telework" ซึ่งมักใช้แทนกันได้ หมายถึงการทำงานนอกสถานที่ทำงานประจำ เช่น ที่บ้าน หรือสถานที่อื่น ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารเพื่อทำงาน
  • 1979: John E. Taylor ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัท IBM เริ่มทดลองให้พนักงาน 5 คนทำงานที่บ้าน เห็นว่าพนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจากที่บ้าน เขาจึงอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ และขยายจำนวนพนักงานทำงานทางไกลเป็น 2,000 คน ภายในปี 1983
  • รูปแบบการทำงานนี้แพร่หลายมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีการสื่อสาร
  • รูปแบบการทำงานแบบ Remote work ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากพนักงานไม่สามารถเดินทางมาทำงานที่สำนักงานได้ รูปแบบการทำงานนี้จึงช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid work

  • รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid work เป็นรูปแบบการทำงานที่ผสมผสานระหว่างการทำงานแบบ Remote work และการทำงานแบบ Office work ที่ให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือจากสำนักงานได้ตามความเหมาะสม
  • การทดลองในช่วงแรก: บริษัทอย่าง IBM และ Xerox นำโปรแกรมการทำงานที่ยืดหยุ่นมาใช้ในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ซึ่งเป็นการริเริ่มรูปแบบแรก ๆ ของการทำงานแบบไฮบริด
  • การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย: นโยบายเช่น US Family and Medical Leave Act ในปี 1993 และกฎหมายระหว่างประเทศที่คล้ายคลึงกัน ส่งเสริมตัวเลือกการทำงานที่ยืดหยุ่นสำหรับพนักงานที่มีความต้องการบางอย่าง
  • เทคโนโลยี: คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อินเทอร์เน็ต และคลาวด์ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ปูทางให้กับการทำงานระยะไกลสะดวกและการทำงานยืดหยุ่นขึ้น
  • แนวโน้มทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง: ปัจจัยเช่น การขยายตัวของเมือง, การเพิ่มขึ้นของคนรุ่นใหม่ในตลาดแรงงาน, และความต้องการความสมดุลระหว่างงานกับชีวิต กระตุ้นให้ Hybrid เป็นรูปแบบการทำงานทางเลือกที่เป็นที่นิยม
  • การระบาดของ COVID-19: ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้การทำงานแบบไฮบริดเป็นเรื่องปกติและเร่งการนำไปใช้ในทุกอุตสาหกรรม

รูปแบบการทำงานแบบ 4 Days per week

  • รูปแบบการทำงานแบบ 4 Days per week เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2010 โดยบริษัทหลายแห่งในยุโรปและอเมริกาเหนือเริ่มทดลองให้พนักงานทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ วันละ 10 ชั่วโมง แทนการทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง และได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
  • ผลการวิจัยจากการทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า รายได้ในทุกบริษัทเพิ่มขึ้น 8.1% ในช่วงทดลอง และเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2021
  • ความเหนื่อยล้าของพนักงานลดลง ความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานลดลง
  • ความสมดุลในชีวิตการทำงานและครอบครัวเพิ่มขึ้น 60% ในขณะที่ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและสมาชิกในครอบครัวดีขึ้น 44.9% และโดยรวมแล้ว ความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้น 57.5%
  • รูปแบบการทำงานแบบ 4 Days per week มีข้อดีคือ พนักงานสามารถมีเวลาว่างมากขึ้นสำหรับพักผ่อนและทำงานอดิเรก อย่างไรก็ตาม รูปแบบนี้ก็มีจุดอ่อนคือ พนักงานอาจต้องทำงานหนักขึ้นในแต่ละวันเพื่อให้งานเสร็จทันกำหนด

แล้วรูปแบบการทำงานแบบไหนที่เหมาะกับเรานะ?

รูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับเรานั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ลักษณะงาน ไลฟ์สไตล์ส่วนตัว รายได้และความพึงพอใจ

ถ้าเราเป็นคนที่ชอบทำงานเป็นทีมและต้องการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน การไปทำงานประจำที่ออฟฟิศอาจเป็นรูปแบบการทำงานที่เหมาะกับเรา

แต่ถ้าเราเป็นคนที่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานและต้องการใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น การ Work from home หรือ Hybrid work อาจเป็นรูปแบบการทำงานที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้

ส่วนรูปแบบการทำงานแบบ 4 Days per week นั้น ยังคงเป็นที่น่าจับตามองว่าประเทศไทยเราจะสามารถทำงานรูปแบบนี้ในอนาคตได้หรือไม่? 

สรุป รูปแบบการทำงานแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นจากแนวคิดของคนต่าง ๆ ที่ต้องการปรับปรุงการทำงานให้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมอบความยืดหยุ่น สวัสดิการที่ดีและตอบโจทย์มากขึ้นให้กับพนักงาน ซึ่งรูปแบบการทำงานแบบ 9-5, Remote work, Hybrid work,และ 4 Days per week นั้น ล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความต้องการและข้อตกลงของพนักงานและองค์กรในการทำงานร่วมกัน

แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ ชอบทำงานรูปแบบไหน? อย่าลืมมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะ

อ้างอิง Sources 1, Sources 2, Sources 3, Sources 4, Sources 5, Sources 6, Sources 7, Sources 8

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/talent-insights/history-of-work-