British Council ไม่ได้เป็นแค่สถาบันสอนภาษา แต่ยังเป็นองค์กรที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ อีกทั้งยังส่งเสริมการศึกษาให้กับผู้คนด้วยการมอบทุนมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ ทุน Women in STEM แล้วทุนนี้คืออะไร? ถ้าอยากได้รับทุนนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร? มาร่วมหาคำตอบได้จากเส้นทางการได้รับทุน Women in STEM กับคุณลิซ ศรีสุวรรณ สตรีข้ามเพศคนแรกของไทยและอาเซียนที่ได้รับทุนและไปเรียนต่อสาย STEM ที่ประเทศอังกฤษ
Women in STEM คืออะไร?
Women in STEM เป็นทุนที่ผลักดันให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง(Cis women) หรือสตรีข้ามเพศ (Trans women) มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับ Higher Education มากขึ้น เนื่องจากผลการศึกษาโดย UNESCO ชี้ให้เห็นว่า นักวิจัยที่เป็นผู้หญิงมีน้อยกว่า 30% เมื่อเทียบกับผู้ชาย เรียกได้ว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันพอสมควร
อีกทั้งจำนวนของผู้หญิงที่ศึกษาต่อระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกในสาย STEM (Science Technology Engineering Maths) มีน้อยกว่า 30% เช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นเหตุผลให้ British Council และประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมาสมัครทุนนี้ และมีโอกาสไปศึกษาต่อปริญญาโทในสาขา STEM ที่ประเทศอังกฤษมากขึ้น
โดยทุนนี้เป็นทุนเต็มจำนวน ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่ค่าการทำวีซ่า ประกันสุขภาพช่วงไปเรียนต่อ ค่าเครื่องบินไป-กลับ ค่าเทอม และค่ากินอยู่ก็จะได้เดือนละประมาณ 1,100 ปอนด์ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษ
นอกจากนี้ ทุน Women in STEM ในปีนี้ก็จะมีมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษให้เลือกมากขึ้นด้วย โดยคุณสมบัติหลักๆ ของผู้ที่สามารถสมัครทุนนี้ได้ก็คือ ต้องเป็นผู้หญิง เพราะทุนนี้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงโดยเฉพาะ อาจจะเป็นผู้หญิง (Cis women) หรือสตรีข้ามเพศ (Trans women) ก็ได้ และต้องเรียนจบในสาขา STEM อีกทั้งยังต้องมีประสบการณ์การทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องด้วย
สำหรับใครที่สนใจ ตอนนี้ทาง British Council ก็กำลังเปิดรับสมัครอยู่ และจะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละมหาวิทยาลัยที่จะสมัครด้วย ผู้ที่สนใจจะต้องไปสมัครกับมหาวิทยาลัยโดยตรงก่อน เมื่อได้ Offer จากทางมหาวิทยาลัยแล้ว พร้อมกับมีจดหมาย Personal Statement ก็สามารถนำไปยื่นสมัครกับทาง British Council ได้เลย
เตรียมตัวอย่างไรให้ได้รับทุน Women in STEM?
การที่เราจะได้รับ Unconditional offer จากทางมหาวิทยาลัยได้ เราต้องเตรียมตัวสอบ IELTS ก่อน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะต้องการระดับคะแนนไม่เหมือนกัน บางที่อาจต้องการ 6.5 หรือบางที่อาจต้องการ 7
สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เราต้องถามตัวเองก่อนว่าเราอยากได้ทุนนี้ไปทำอะไร เพราะจุดประสงค์ของทุนนี้คือ เขาต้องการให้ผู้ที่ได้รับทุนนำความรู้กลับไปใช้พัฒนาประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราอยากทำอะไร เรากำลังทำอะไร และเราอยากได้ทุนนี้ไปเพื่ออะไร
เพราะเราคิดว่าเหตุผลที่เราได้รับทุนมาจากการที่เรามีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าเรากำลังทำอะไร เราอยากทำอะไรต่อไปในอนาคต และการได้ทุนนี้จะทำให้เป้าหมายที่เราอยากทำประสบความสำเร็จได้อย่างไร
ประสบการณ์การเรียนต่อสาย STEM ที่ประเทศอังกฤษ
หลังจากได้รับทุนแล้ว เราได้ศึกษาต่อในหลักสูตร International Public Health หรือสาธารณสุขนานาชาติ เนื่องจากเราต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนกลุ่ม LGBTQ+ เราอยากแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนมากขึ้น ซี่งต้องแก้ตั้งแต่ระดับนโยบายหรือระดับโครงสร้าง
หลักสูตรนี้ก็เปิดโอกาสให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้และได้พัฒนาทักษะด้านการวิจัยเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเขาเปิดโอกาสให้เราได้ศึกษาเรื่องที่ตัวเองสนใจ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในหลักสูตร เช่น ในเรื่องของการพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพ เราก็จะมีความสนใจที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะสนใจเรื่องผู้ติดเชื้อ HIV หรือเรื่องแม่และเด็ก แต่เราสนใจเรื่อง LGBTQ+ เราก็เลยโฟกัสไปที่เรื่องนี้
สิ่งที่ทำให้สนใจเรื่องการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของกลุ่ม LGBTQ+
เหตุผลที่สนใจประเด็นด้านการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของ LGBTQ+ มาจากสองเหตุผลหลักๆ อย่างแรกคือ เราเป็น Transgender ทำให้เราเข้าใจเรื่องความละเอียดอ่อน รวมถึงเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเรามีโอกาสทำงานในสถานที่ที่ให้บริการทางด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล หรือศูนย์วิจัยโรค สภากาชาดไทย ทำให้เราเห็นว่ากลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญกับปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพจริงๆ อีกทั้งคนบางกลุ่ม เช่น Transgender ยังถูกเลือกปฏิบัติ และถูกตีตราจากผู้ให้บริการด้วย
เรามองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด และเราอยากป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นมากกว่าการตามมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยเราอาจเห็นตัวอย่างได้จากประเทศอังกฤษที่มีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสำหรับคนที่เป็น LGBTQ+ มากขึ้น นอกจากนี้กฎหมายเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพและกฎหมายเรื่องการต่อต้านการเลือกปฏิบัติค่อนข้างมีความเข้มแข็ง ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด
ประเทศไทยอาจดูเหมือนเป็นประเทศที่เปิดกว้างในเรื่อง LGBTQ+ แต่จริงๆ แล้ว คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง
สิ่งนี้จึงเป็นเป้าหมายในอนาคต เราอยากพัฒนาปัญหาเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น หลังเรียนจบเราก็อยากกลับประเทศไทย เพื่อกลับไปทำให้กลุ่ม LGBTQ+ เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ที่อยากเรียนต่อประเทศอังกฤษ
สิ่งที่อยากแนะนำคือเรื่อง การเรียนภาษา ถ้าอยากเรียนให้มีประสิทธิภาพและได้ผลเร็วที่สุดก็ต้องพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ภาษาอังกฤษ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ อย่างเราก็เรียนจบมาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลักสูตรไทยมาก่อน ทำให้มีปัญหาเรื่องภาษาในการเรียนอยู่บ้าง
แต่เราแก้ปัญหาโดยการใช้ความขยันเข้าสู้ เช่น ถ้าเพื่อนที่เป็นคนอังกฤษใช้เวลาอ่านหนังสือ 2 ชั่วโมง เราก็ใช้เวลาในการอ่านหนังสือ 4 ชั่วโมง ส่วนเคล็ดลับในการพัฒนาทักษะการพูดและทักษะการฟังภาษาอังกฤษส่วนตัวคือ การเริ่มดูหนังภาษาอังกฤษ
โดยในตอนแรกเริ่มดูแบบมีซับไทย เมื่อเริ่มคุ้นชินมากขึ้นก็เริ่มปิดซับ เพื่อดูว่าฟังรู้เรื่องมากน้อยแค่ไหน และถ้ามีตรงไหนไม่เข้าใจก็ให้เปิดซับไทยดูอีกรอบเพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น วิธีนี้ก็จะทำให้เราได้รับทั้งความสนุกและความรู้ควบคู่กันไป
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางการเรียนต่อที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก หากใครอยากมีโอกาสได้รับทุนนี้ ก็ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า เราอยากทำอะไรต่อไปในอนาคตเพื่อประเทศ แล้วการเรียนต่อจะช่วยทำให้เป้าหมายของเราเป็นจริงได้อย่างไร และสำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนการสมัครทุน Women in STEM ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะทุนนี้เป็นทุนที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้หญิงเป็นอย่างมาก