เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปทิศทางของการทำงานก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางเทคโนโลยี และการเผชิญวิกฤตโรคระบาด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้คนมี “New Normal” หรือวิถีในการใช้ชีวิตแบบใหม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลกแห่งการทำงานซึ่งเราจะเห็นได้จาก The Great resignation และ Quiet quitting ที่องค์กรต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรขนาดเล็กควรเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อรองรับความคาดหวังของพนักงานที่เปลี่ยนไป
ในบทความนี้ ConNEXT จะพาทุกคนไปศึกษาแนวโน้มและทิศทางการทำงานที่คุณควรจับตามองในปีหน้าที่กำลังจะมาถึงให้เหมาะสมกับตัวคุณเองได้
1. Gen Z น้องใหม่มาแรงที่กำลังทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานยุคใหม่
Gen Z (ค.ศ. 1997-2010) ถือเป็นกลุ่มแรงงานยุคใหม่ล่าสุดในปัจจุบันซึ่งคนกลุ่มนี้ค่อนข้างแตกต่างจาก Generation ก่อนๆ โดยกลุ่ม Gen Z เกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีอินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์กลาง ทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มที่องค์กรต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของแรงงานและจัดหาซอฟต์แวร์ที่จำเป็นสำหรับกลุ่มคนรุ่นนี้
นอกจากนี้การที่ Gen Z กำลังเข้ามาแทนที่แรงงานทั่วโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ายังส่งผลให้หลายๆ องค์กรต้องสำรวจความคิด ปรับกลยุทธ์ ปรับการทำงาน และจัดฝึกอบรมทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของคนกลุ่มนี้เพื่อให้คนรุ่นใหม่และองค์กรสามารถช่วยผลักดันซึ่งกันและกันให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. Remote work หรือการทำงานระยะไกลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
หลังจากเกิดการแพร่ของโรคระบาดตั้งแต่แรกๆ จนถึงตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าการทำงานทางไกลจะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงมากขึ้น เนื่องจากการทำงานทางไกลสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย และช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานให้กับพนักงานได้ ซึ่งในปี 2022 นี้เราได้เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ถูกพัฒนาให้ตอบโจทย์การทำงานทางไกลให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่าพนักงานยุคใหม่ชอบอิสระและความยืดหยุ่นที่เพิ่งค้นพบซึ่งมาพร้อมกับการทำงานจากระยะไกล จึงทำให้การเพิ่มขึ้นของคนรุ่นใหม่ในตลาดแรงงาน และกระแส Digital nomads กระตุ้นให้องค์กรต่างๆ กำหนดรูปแบบการทำงานใหม่ และมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการทำงานจากระยะไกลมากยิ่งขึ้น
3. พนักงานต้องการการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
บริษัทต่างๆ กำลังมองหาวิธีเพิ่มความยืดหยุ่นในช่วงเวลาและสถานที่ในการทำงาน จากการสำรวจ Pulse Survey of C-suite ของ PWC พบว่า มีบริษัทกว่า 43% นำเสนอโมเดลไฮบริด ที่เน้นในเรื่อง สุขภาพกาย สุขภาพใจ การเงิน และพ่วงมาด้วยผลประโยชน์อื่นๆ เช่น การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ วันหยุดพักผ่อนและการทำงานจากที่ใดก็ได้ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานแบบมีส่วนร่วมซึ่งทุกคนมีความเท่าเทียมกันอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลราว 45% ของ Millennials และ 49% ของ Gen Z ที่ต้องการงานที่มีความยืดหยุ่น อ้างอิงจาก The Deloitte Global, 2022 ตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ที่ได้ทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลา 2 เดือนจากนั้นพบว่าการปรับรูปแบบการทำงานดังกล่าวทำให้พนักงานมีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเพิ่มขึ้น 24% การมีส่วนร่วมในองค์กรเพิ่มขึ้น 20% และระดับความเครียดลดลง 7% อีกด้วย (CNN, 2018)
4. Centralized communication หรือการรวมศูนย์ข้อมูลที่ทุกองค์กรควรนำมาปรับใช้
Centralized data หรือการรวมศูนย์ข้อมูล เป็นเทคโนโลยีที่องค์กรไม่ควรมองข้ามเพราะการรวมศูนย์ข้อมูลจะสามารถทำให้องค์กรรวบรวมข้อมูลที่ต้องใช้งานในปัจจุบัน และที่อาจต้องใช้งานในอนาคตมารวมที่ศูนย์โครงสร้างพื้นฐานข้อมูล (Data infrastructure) เพื่อให้ง่ายต่อพนักงานในการใช้งานข้อมูลได้จากแหล่งเดียวกัน พร้อมกันและเห็นภาพรวมโครงสร้างข้อมูลในมุมมองเดียวกัน ทั้งนี้องค์กรควรออกแบบระบบและเทคโนโลยีให้รองรับกับการปรับเปลี่ยนเพื่อให้พร้อมในการต่อยอดการใช้งานในอนาคตอีกด้วย
5. พนักงานรุ่นใหม่เน้นความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานมากขึ้น
ทุกวันนี้พนักงานรุ่นใหม่จัดให้ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดี ( Work-life balance) สำคัญสูงที่สุด ดังนั้นถ้าองค์กรสามารถทำให้คนรุ่นใหม่พึงพอใจโดยการสร้างสังคม สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมที่หลากหลาย และให้สมดุลกับการทำงานได้ ก็มีแนวโน้มที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ และมีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่จะอยู่กับองค์กรนั้นๆ มากกว่าห้าปีอีกด้วย
6. หลายองค์กรลงทุนในสวัสดิการของพนักงานเพิ่มขึ้น
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาพนักงานในตลาดแรงงานต้องเผชิญกับการทุ่มเทให้กับการทำงานมากจนละเลยความเป็นอยู่ของตนเอง จนส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด และอาการ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนให้องค์กรตระหนักเพื่อพยายามดึงบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้เป็นผลให้ในปัจจุบันหลายๆ องค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของที่ทำงานมากขึ้น โดยมีองค์กรจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ได้วางกลยุทธ์ด้านสุขภาพในสถานที่ทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เช่น ศูนย์ออกกำลังกายที่ออฟฟิศ อาหารกลางวันฟรี บริการดูแลเด็ก(บุตรของพนักงาน) และสวัสดิการการรักษาพยาบาล
7. ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ
ปัจจุบันโลกแห่งการทำงานเปิดกว้างมากขึ้น และกระแสความเท่าเทียมทางเพศกำลังมาแรง ทำให้หลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นแคมเปญความหลากหลายที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาหนึ่งของ McKinsey, 2020 พบว่าองค์กรที่มีตัวแทนในระดับผู้นำที่เป็นเพศหญิงนั้นมีแนวโน้มที่จะมีชัยเหนือคู่แข่งถึง 50% นอกจากนี้การเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างเพศยังสามารถเพิ่ม GDP ได้ประมาณ 35% อีกด้วย
8. ธุรกิจที่มีแนวคิดเพื่อสังคมมีแนวโน้มที่ดึงดูดผู้ที่มีความสามารถรุ่นใหม่ได้มากกว่า
ผู้สมัครงานในปัจจุบันต้องการบริษัทที่แสดงความมุ่งมั่นที่จะรักษาคุณค่าและให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม จากรายงานของ The Deloitte Global, 2022 ได้กล่าวว่าการมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทโดยประมาณ 20% ของการสำรวจพนักงานทั่วโลกเผยว่าจะปฏิเสธการทำงาน หากงานนั้นๆ ไม่ได้สอดคล้องกับคุณค่าในชีวิต ซึ่งหากนายจ้างแสดงออกถึงความใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีวัฒนธรรมในองค์กรที่ยอมรับในความหลากหลายก็มีแนวโน้มสูงที่คนรุ่นใหม่จะทำงานกับองค์กรนั้นๆ นานกว่า 5 ปี
9. Gig Economy เติบโตอย่างต่อเนื่อง
Gig Economy หรือเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ที่องค์กรจะเน้นการจ้างงานในรูปแบบชั่วคราว สัญญาจ้าง และฟรีแลนซ์ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า Gig Economy น่าจะกลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจหลักในอนาคต เพราะมีลักษณะการทำงานที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่และช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายทางธุรกิจขององค์กรได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการจ้างพนักงานประจำอีกด้วย
10. Upskilling เพื่อยกระดับทักษะในการทำงาน
ทุกสิ่งเกี่ยวกับแรงงานทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การ Upskill หรือกระบวนการที่บุคคลเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้นในแวดวงธุรกิจ พนักงานจึงต้องเรียนรู้ทักษะและความสามารถใหม่ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล นอกจากนี้รายงานปี 2017 โดย Capgemini และ LinkedIn เผยว่า Skill Gap ทำให้องค์กรสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากการขาดแคลนผู้ที่มีความสามารถ ทำให้หลายบริษัทลงทุนอย่างหนักไปกับการอัพสกิลให้กับพนักงานมากขึ้นกว่าที่เคย
11. หุ่นยนต์ + มนุษย์ในที่ทำงาน
ทุกวันนี้วิวัฒนาการของ AI และ Machine learning สามารถทำงานอัตโนมัติเพื่อจัดการกับงานทั่วไปได้ทำให้พนักงานที่เป็นมนุษย์สามารถทำงานได้อย่างง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น การเข้ามาของเทคโนโลยีเหล่านี้จึงทำให้พนักงานมีเวลามากขึ้นในการโฟกัสกับงานที่มีความสำคัญมากกว่าได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลของ Tractica ได้เผยว่าการใช้ผู้ช่วยดิจิตอลเสมือนจะกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยในที่ทำงาน และมีจะผู้ใช้เกือบ 1 พันล้านคนที่ต้องพึ่งพาผู้ช่วยเสมือนที่ขับเคลื่อนด้วย AI ภายในปี 2568 นอกจากนี้ 74% ขององค์กรยังเชื่อว่า AI จะรวมอยู่ในแพลตฟอร์มขององค์กรทั้งหมดภายในปี 2566 ด้วยเหตุ เช่น AI ช่วยรวบรวมข้อมูลให้มนุษย์สามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดค่าใช้จ่ายได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทต่างๆ เพิ่ม AI เข้าไปในองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ
12. เทรนด์ Soft Skill กำลังมาแรง
แน่นอนว่าหลายคนยังให้ความสำคัญกับ Hard Skill มากกว่าเพราะมองว่าถ้าเราขาดสิ่งนี้ไปก็คงไม่สามารถประกอบอาชีพนั้นๆ ได้เลย ขณะเดียวกันการที่เราจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ก็ต้องใช้ Soft Skill ที่ช่วยให้เราสามารถทำงานและสื่อสารกับผู้อื่นได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งขาดไม่ได้ในโลกการทำงานในปัจจุบันด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนกลับมองข้ามเพราะอาจด้วยความที่วัดยาก แต่กลับมีบทบาทสำคัญในประสิทธิภาพและประสิทธิผลของพนักงาน เพราะทักษะด้านอารมณ์เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ และสร้างโอกาสสำหรับความก้าวหน้า พูดง่ายๆ ก็คือ ทักษะด้านอารมณ์ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงาน และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เทรนด์ Soft Skill กำลังมาแรง
แนวโน้มทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าทิศทางในปีหน้า หลายๆ องค์กรต้องทำการบ้านคือ เรื่องของการให้ความสำคัญระหว่างความสมดุลของชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ความเป็นอยู่ ความเท่าเทียมและการพัฒนาทักษะของพนักงานให้มากขึ้น เพื่อทำให้วัฒนธรรมขององค์กรสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ และรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรได้นานมากขึ้น
อ้างอิง Financesonline