บริษัท Startup ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไหม? | Techsauce

บริษัท Startup ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไหม?

ภาพจาก Tax Credit Flickr https://www.flickr.com/photos/76657755@N04/6921643174

บริษัท Startup อาจจะมีคำถามว่ากิจการของตนมีภาระต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่? ดังนั้นจึงควรเข้าใจก่อนว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับ Startup

ภาษีมูลค่าเพิ่ม มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า VAT (Value Added Tax) คือ ภาษีที่เก็บจากฐานยอดขายสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเข้าระบบ VAT แล้วจะมีหน้าที่ต้องยื่น VAT ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ทั้งนี้ ปัจจุบัน VAT จะจัดเก็บอยู่ในอัตราคงที่ 7% ของมูลค่าสินค้าและบริการ

ที่จริงแล้วผู้ที่รับภาระเสีย VAT จริงๆ คือตัวลูกค้าเอง โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่เพียงจัดเก็บและนำส่งให้รัฐ ยกตัวอย่างเช่น

สินค้าหรือบริการราคา 100 บาท ผู้ประกอบการจะต้องเรียกเก็บ VAT จากลูกค้าอีก 7% ทำให้ราคาที่ต้องชำระรวมเป็น 107 บาท โดยผู้ประกอบการจะทำหน้าที่นำส่งเงินภาษี 7 บาทนี้ให้กรมสรรพากรเป็นรายเดือน โดยภาษีที่เรียกเก็บจากตอนขายจะเรียกสั้นๆ ว่า ภาษีขาย

ในทางกลับกัน ถ้าผู้ประกอบการซื้อสินค้ามาในราคา 107 บาท แสดงว่าสินค้านั้นจริงๆ ราคาเพียง 100 บาท แต่อีก 7 บาทนั้นคือ VAT ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายตอนซื้อสินค้า ซึ่งค่าภาษี 7 บาทที่จ่ายไปตอนซื้อสินค้าเข้ามา เรียกสั้นๆ ว่า ภาษีซื้อ

ในกรณีที่ Startup เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT แล้ว จะได้ประโยชน์จากการซื้อขายสินค้าและบริการคือสามารถนำ VAT ที่ตัวเองจ่ายไปในฐานะภาษีซื้อมาหักกลบกับภาษีขาย ทำให้ภาระต้นทุนต่ำลงได้ เช่นจากเดิมต้นทุน 107 บาทจะเหลือเพียง 100 บาท เพราะลูกค้าของผู้ประกอบการจะเป็นผู้แบกรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 บาทให้แทน

อย่างไรก็ดี แม้ต้นทุนเรื่องสินค้าหรือบริการจะลดลง แต่การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะมีต้นทุนค่าทำบัญชีเพิ่มขึ้นด้วย

Startup ทุกรายต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ VAT หรือไม่?

ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจของ Startup แต่ละราย แต่โดยพื้นฐานสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มดังนี้

1. กิจการกลุ่มที่กฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียน VAT

โดยทั่วไปการขายสินค้าหรือบริการในประเทศที่ไม่มีกฎหมายเขียนยกเว้นเอาไว้จะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งถ้ายอดขายระหว่างปีเกิน 1,800,000 บาท (เฉลี่ยยอดขายเกินเดือนละ 150,000 บาท) Startup จะถูกบังคับให้ต้องจดทะเบียน VAT ตามกฎหมาย เช่น ค่ารับจ้างพัฒนา software, ค่าสินค้า gadget, ค่าลิขสิทธิ์ หรือค่า license เป็นต้น

2. กิจการกลุ่มที่กฎหมายไม่บังคับให้ต้องจดทะเบียน VAT

กลุ่มนี้ได้แก่

  • การขายสินค้าหรือบริการในประเภทที่ยอดขายระหว่างปีไม่เกิน 1,800,000 บาท (เฉลี่ยยอดขายไม่เกินเดือนละ 150,000 บาท)

  • การขายสินค้าหรือบริการในประเภทที่กฎหมายยกเว้น VAT ให้อยู่แล้ว แม้ยอดขายตลอดปีจะเกิน 1,800,000 บาท ก็ไม่มีภาระต้องจดทะเบียน VAT แต่อย่างใด เช่น การขายสินค้าเกษตรหรือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน เป็นต้น

Taxtic

ถ้าบริษัท Startup มีการขายสินค้าหรือให้บริการในต่างประเทศ ยอดขายส่วนนี้จะไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสีย VAT แต่อย่างใด แม้ว่ายอดขายส่วนนี้ตลอดทั้งปีจะเกิน 1,800,000 บาทก็ตาม เพราะ VAT จะคำนวณจากฐานยอดขายสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น

แต่ถ้าการขายสินค้าหรือบริการนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทยจะอยู่ในข่ายต้องเก็บ VAT ด้วย ซึ่งหากมีปริมาณซื้อขายมาก การจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ VAT จะช่วยลดต้นทุน VAT ได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่พึงระลึกด้วยว่าอาจมีต้นทุนทางบัญชีในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษากฎหมายภาษีของ iTAX และเป็นเจ้าของผลงานพ็อคเก็ตบุ๊ค ITAX ภาษี ง่ายได้อีก

ปัจจุบัน ดร.ยุทธนา เป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม โดย ดร.ยุทธนา สำเร็จการศึกษาทางด้านกฎหมายภาษีในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Southern Methodist University ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยสยาม

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image
Responsive image

9 ทักษะดิจิทัล ปี 2024 สร้างมูลค่าให้บริษัทด้วย Tech Skills แห่งอนาคต

ทักษะดิจิทัล หรือทักษะด้านเทคโนโลยี (Tech Skills) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด...

Responsive image

AI ล้ำหน้าหรือภัยอนาคต? แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อ | Tech for Biz EP.17

ในยุคที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีการคาดการณ์ว่ากว่า 300 ล้านตำแหน่งจะหายไป คำถามคือ คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหนระหว่างเหยื่อที่ถูกแทนที่ หรือนักล่าที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ? แล้วต้องปรับต...