6 สิ่งที่ควรตัด VS 6 สิ่งที่ควรโชว์บนเรซูเม่ | Techsauce
6 สิ่งที่ควรตัด VS 6 สิ่งที่ควรโชว์บนเรซูเม่

กันยายน 27, 2022 | By Connext Team

เรซูเม่เป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดในการหางาน เพราะไม่ว่าจะสมัครงานผ่านทางออนไลน์ด้วยตัวเองหรือสมัครผ่านคนรู้จัก ส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องใช้เรซูเม่ในการสมัครเพื่อให้ HR รู้ว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่ การเขียนเรซูเม่ให้สมบูรณ์แบบที่สุดถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในกระบวนการนี้

เรซูเม่

6 สิ่งที่ควรตัดบนเรซูเม่

มาดูกันว่าสิ่งที่ผู้สมัครงานไม่ควรใส่ลงไปในเรซูเม่มีอะไรบ้าง

1. ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับ Job description

หากก่อนหน้านี้คุณใส่ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับ Job description ของงานที่จะสมัครให้ตัดสิ่งนั้นทิ้ง เพราะความสำเร็จบางอย่างอาจไม่ตรงกับสิ่งที่งานใหม่กำลังมองหา หากใส่ไปก็จะเปลืองพื้นที่เปล่าๆ นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการเขียนหน้าที่ความรับผิดชอบในเรซูเม่ที่คัดลอกมาจาก Job description ด้วย เพราะสิ่งที่คัดลอกมาเป็นการบอกแค่ว่าคุณทำอะไรมาบ้าง แต่ไม่ได้บอกว่าคุณทำอย่างไรและผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร

ดังนั้น ให้ตัดสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องออก และหันมาเน้นสิ่งที่เกี่ยวข้องแทน รวบรวมคีย์เวิร์ดหลักๆ ใน Job description มาโยงกับทักษะที่คุณมี และอธิบายให้เห็นถึงความสำเร็จที่ผ่านมา

2. Career Objective ที่ไม่เหมาะกับงาน

Career Objective หรือจุดมุ่งหมายในการทำงาน เป็นสิ่งที่จะปรากฏให้ HR เห็นเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะพูดถึงการแนะนำตัวผู้สมัครงานให้ HR รู้จักแบบย่อๆ เช่น ผู้สมัครมีเป้าหมายในการทำงานอย่างไร มีคุณสมบัติหรือทักษะอะไรที่โดดเด่น และประสบการณ์ทำงานแบบคร่าวๆ 

ห้ามเขียน Career Objective ที่ไม่เหมาะกับงาน แต่เขียนปรับแต่งให้เข้ากับตำแหน่งที่สมัคร โดยอิงจากคีย์เวิร์ดในประกาศรับสมัครงาน แต่ต้องเป็นเรื่องจริง ห้ามโกหก เพื่อจะได้ทำงานในบริษัทที่เหมาะกับตัวเองจริงๆ ไม่ใช่ขายแค่ในสิ่งที่บริษัทต้องการแต่ไม่เป็นตัวเอง

3. ประวัติการทำงานเก่าๆ หรือไม่เกี่ยวข้อง

หลายคนเมื่อสมัครงานใหม่อาจจะเลือกใส่ประวัติการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมา แต่ทางที่ดีควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าทักษะที่ใช้ในแต่ละตำแหน่งมีความเกี่ยวข้องกับ Job description งานใหม่หรือไม่ ปรับแต่งเนื้อหาในเรซูเม่ให้เข้ากับงานที่สมัคร เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณมีทักษะที่เหมาะสมกับตำแหน่งใหม่จริงๆ

4. ความซ้ำซ้อน

หากที่ผ่านมามีประสบการณ์ทำงานมาหลายตำแหน่ง อย่าเขียนอธิบายรายละเอียดทุกตำแหน่งเพราะอาจเกิดความซ้ำซ้อนขึ้นได้ แต่ให้เขียนเน้นถึงสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด พูดง่ายๆ คือ ให้เน้นที่คุณภาพแทนปริมาณ 

5. การใส่รูปบนเรซูเม่

เลิกใส่รูปบนเรซูเม่ เว้นแต่ว่าบริษัทมีการขอไว้ว่าให้ใส่รูป  เพราะการใส่รูปในเรซูเม่เป็นวิธีการที่เริ่มล้าสมัยแล้ว ควรหันมาให้พื้นที่กับการอธิบายทักษะและส่วนอื่นๆ แทนจะดีกว่า

6. การใช้ฟอนต์ที่อ่านยาก

เนื่องจากว่า HR ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการสแกนเรซูเม่ หากคุณใช้ฟอนต์ที่อ่านยาก หรือฟอนต์เล็กเกินไป ก็อาจทำให้ HR มองข้ามข้อมูลสำคัญๆ ไปได้ ดังนั้นจึงควรใช้ฟอนต์ทั่วไปที่สามารถอ่านได้ง่ายๆ ไม่เล็กจนเกินไป

6 สิ่งที่ควรโชว์บนเรซูเม่

เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการเขียนเรซูเม่มีอะไรบ้าง ทีนี้มาดูกันต่อว่าอะไรคือสิ่งที่ควรโชว์บนเรซูเม่

1. Career Objective ที่ดี

ในส่วนของ Career Objective จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนที่เคยพักทำงานหรือต้องการเปลี่ยนอาชีพ อย่างที่เคยแนะนำไปก่อนหน้านี้คือคุณควรเขียนในส่วนนี้โดยการปรับแต่งให้เข้ากับตำแหน่งงานและบริษัทที่สมัคร โดยการนำคีย์เวิร์ดที่มีในโพสต์รับสมัครงานมาใช้

2. ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงาน

การเขียนประสบการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากคุณเป็นคนที่เริ่มทำงานได้ไม่นาน หรือต้องการที่จะเปลี่ยนสายงานกลับไปสายเดิม สิ่งสำคัญคือไม่ว่าคุณจะเคยมีประสบการณ์ทำงานอะไรมาก่อนก็ตาม อย่าใส่ลงไปในเรซูเม่ทั้งหมด ให้ใส่แค่ประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับงานก็พอ

3. ทักษะ

การทำเรซูเม่รูปแบบเก่าๆ คือการใส่ทักษะลงในส่วนประสบการณ์ทำงาน แต่ Recruiter ใช้เวลาสแกนเรซูเม่ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ดังนั้นจึงควรเน้นทักษะให้เห็นง่ายๆ ไปเลยจะดีกว่า ด้วยการจัดระเบียบส่วนทักษะให้เป็นกลุ่มก้อน เช่น Soft Skill, Hard Skill, Technical Skill หรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณสมัครงานตำแหน่ง Project Manager คุณสามารถสร้างส่วนทักษะแยกออกมาและตั้งหัวข้อว่า Project Manager Skill และเขียนทักษะที่เกี่ยวข้องลงไปในส่วนนี้ สิ่งสำคัญคือจะต้องมีทักษะที่บริษัทกำลังมองหาและต้องเป็นทักษะที่คุณมีจริงๆ

4. Bullet Points

อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า Recruiter ใช้เวลาสแกนเรซูเม่เพียงไม่กี่วินาที ลองนึกภาพดูว่าถ้าเป็นคุณจะอยากอ่านข้อความที่เป็นพารากราฟยาวๆ หรือ Bullet Points มากกว่ากัน การใช้ Bullet Points จะช่วยให้ Recruiter อ่านง่ายขึ้น สแกนง่ายขึ้น และสามารถดึงดูดความสนใจได้มากกว่า

5. ใบประกาศนียบัตรที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนการศึกษา นอกจากการศึกษาระดับปริญญาแล้ว คุณยังสามารถใส่ใบประกาศนียบัตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องลงไปได้เช่นกัน เช่น การเรียนคอร์สออนไลน์ หรือการเข้าอบรมต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณมีความพยายามในการพัฒนาอาชีพ

6. การลิงก์ไปยัง Cover Letter, Portfolio, และ LinkedIn 

เนื่องจากเรซูเม่เป็นการเขียนประวัติย่อๆ ที่เกี่ยวกับตำแหน่งงานและบริษัทที่สมัครโดยเฉพาะ แต่ LinkedIn, Cover Letter และ Portfolio เป็นการเขียนข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้สมัครมากกว่า อีกทั้งยังสามารถลงรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ให้มากขึ้นกว่าเรซูเม่ได้ แต่ก็ต้องมีการบอกเล่าเรื่องราวที่สอดคล้องกัน ไม่ทำให้ Recruiter อ่านพอร์ตฟอลิโอแล้วรู้สึกเหมือนเป็นของคนอื่น

อ้างอิง careercontessa

No comment