เมื่อคนสแกนใบสมัครไม่ได้มีแค่ HR จะเขียน Resume อย่างไรให้เข้าตา AI? | Techsauce
เมื่อคนสแกนใบสมัครไม่ได้มีแค่ HR จะเขียน Resume อย่างไรให้เข้าตา AI?

มกราคม 7, 2022 | By Siramol Jiraporn

ยุคสมัยกำลังเปลี่ยนไปเพราะหลายบริษัทหันมาใช้ AI มากขึ้น และหนึ่งในสิ่งที่บริษัทใหญ่ๆ นำมาใช้คือ ระบบ Applicant Tracking System (ATS) โดยนำมาช่วยสแกน Resumeในกระบวนการจ้างงานและสรรหาบุคคล

การมี AI เข้ามาในกระบวนการจ้างงานนี้เป็นข่าวดีสำหรับนายจ้าง แต่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ที่กำลังหางาน จากรายงานโดย Harvard Business School พบว่า ระบบ ATS ทำให้ผู้สมัครหลายคนที่ยื่นเรซูเม่เข้าไป อาจไม่ผ่านระบบ ATS ซึ่งหมายความว่า HR จะไม่เรียกสัมภาษณ์ แม้ว่าจะมีคุณสมบัติดีแค่ไหนก็ตาม

Resume ATS

การทำงานของ ATS คือ เมื่อเรซูเม่ขาดคีย์เวิร์ดที่นายจ้างต้องการ หรือรูปแบบที่มีความสร้างสรรค์เกินไปจนระบบ ATS ไม่สามารถอ่านได้ เรซูเม่ของผู้สมัครงานก็จะถูกปัดตกทันที เมื่อรู้ถึงปัญหานี้แล้วสิ่งที่สามารถทำได้คือการเตรียมเรซูเม่ให้ดีด้วยวิธีการต่อไปนี้

1. ใช้รูปแบบเรซูเม่แบบง่ายๆ

ระบบ ATS มักจะสแกนเรซูเม่จากซ้ายไปขวา หากเรซูเม่เป็นแบบคอลัมน์แนวตั้ง ระบบ ATS อาจจะอ่านข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน ควรใช้รูปแบบหัวข้อที่เป็นแนวนอนและใช้ Bullet Point ในการเขียนเรซูเม่ และรูปแบบไฟล์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับ ATS ก็คือ การใช้ไฟล์ WORD 

อย่าใช้สิ่งที่ ATS ไม่สามารถอ่านได้ เช่น ตัวย่อ เพราะระบบอาจไม่เข้าใจว่าตัวย่อนั้นหมายถึงอะไร ดังนั้นจึงควรเลี่ยงการใช้คำศัพท์ทางเทคนิคให้น้อยที่สุดและควรสะกดคำให้ถูกต้องด้วย

2. ใช้คีย์เวิร์ด

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ ระดับประสบการณ์ ที่อยู่ปัจจุบัน และทักษะที่บริษัทต้องการ เพราะหาก Job description ระบุว่าต้องมีประสบการณ์ 10 ปี แต่ผู้สมัครงานมีแค่ 5 ปี เรซูเม่ก็จะถูดปัดตกอย่างรวดเร็ว อีกทั้งหากผู้สมัครคนไหนที่ระบุที่อยู่ห่างไกลจากบริษัทก็อาจไม่ได้รับการพิจารณาเช่นเดียวกัน

ระบบ ATS จะมองหาทักษะที่นายจ้างต้องการในเรซูเม่ ดังนั้นให้ใส่คีย์เวิร์ดอย่างน้อย 3-5 คำ โดยอาจดูจากโพสต์รับสมัครงานและใส่ลงในเรซูเม่ส่วนทักษะและประสบการณ์การทำงาน อีกทั้งยังสามารถใช้เครื่องมือช่วยดูได้ว่าคีย์เวิร์ดที่หายไปในเรซูเม่คืออะไร ด้วย Skillsyncer หรือ Jobscan

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญคือความซื่อสัตย์ อย่าโกหกเพียงเพื่อต้องการให้เรซูเม่ของตนเองผ่านการคัดเลือก ใส่ข้อมูลเฉพาะสิ่งที่เป็นความจริงและสิ่งที่คิดว่าตนเองสามารถทำได้ดี

3. ขอความช่วยเหลือ

เมื่อส่งเรซูเม่ไปแล้วถูกระบบ ATS ปัดตก แต่มั่นใจว่าตนเองมีคุณสมบัติเพียงพอและเขียนเรซูเม่ในรูปแบบที่ถูกต้องแล้วอย่าเพิ่งยอมแพ้ ให้ส่งอีเมลโดยตรงไปยัง Hiring Manager หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทนั้นๆ พร้อมแนบเรซูเม่ไปเพื่อยืนยัน ขั้นตอนเล็กๆ นี้อาจช่วยให้มีโอกาสได้งานมากขึ้น

แม้การมี AI เข้ามาในกระบวนการจ้างงานจะดูเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจสำหรับผู้ที่กำลังหางานอยู่ แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะเราสามารถเตรียมตัวให้ดีได้ เพื่อที่จะได้ไม่พลาดโอกาสดีๆ ในการได้งานไปอย่างง่ายดาย

ที่มา - CNBC, Forbes


No comment