12 วิธีรับมือกับความเครียดในที่ทำงาน | Techsauce
talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast
12 วิธีรับมือกับความเครียดในที่ทำงาน
By Chanapa Siricheevakesorn ตุลาคม 28, 2022
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

ความเครียดเป็นการตอบสนองต่อแรงกดดันตามธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อบรรยากาศในการทำงานและทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้ แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดความเครียดทั้งหมดออกจากชีวิต แต่คุณสามารถเรียนรู้ที่จะรับมือและจัดการกับปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด?

มีหลายปัจจัยที่ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานเกิดสภาวะตึงเครียดได้ เช่น ความวิตกกังวลด้านประสิทธิภาพในการทำงาน (Performance anxiety) และวัฒนธรรมของบริษัทอาจทำให้คุณเผชิญกับระดับความเครียดที่สูงขึ้นและส่งผลต่อความรู้สึกของคุณได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยต่างๆ อีกมากมายที่สามารถสร้างแรงกดดันในการทำงานได้ เช่น

  • ภาระงานหนักหรือเพิ่มขึ้น
  • เงินเดือนไม่สอดคล้องกับงานที่ต้องทำ
  • รูปแบบการจัดการในการทำงานที่ไม่ดี
  • เพื่อนร่วมงาน Toxic
  • สภาพแวดล้อมในการทำงานมีความกดดันสูง
  • ความรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงาน

6 เคล็ดลับรับมือความเครียดในระยะสั้น

การจัดการกับความเครียดทันทีแทนที่จะปล่อยให้สถานการณ์บานปลายถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความเครียดในที่ทำงาน แม้ว่าสิ่งนี้จะไม่สามารถทำได้เสมอไปเพราะบางสิ่งอาจอยู่เหนือการควบคุมของคุณ แต่เคล็ดลับทั้ง 6 ข้อนี้ อาจทำให้คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรับมือเบื้องต้นกับความเครียดในการทำงานของคุณได้

1. พยาพยามจัดเวลาพักเบรกสั้นๆ ในระหว่างทำงาน

ถ้าเป็นไปได้ ให้ลองหยุดพักหรืออยู่ห่างจากแหล่งที่มาของความเครียดที่เกิดขึ้นในที่ทำงานของคุณ เช่น

  • พักเข้าห้องน้ำ
  • ใช้เวลาสักนาทีชงชาหรือเดินเล่น
  • หยุดงานที่ทำให้คุณรู้สึกเครียดและลองไปทำงานในส่วนอื่นๆ แทน
  • รับชมวิดีโอผ่อนคลายสั้นๆ บน YouTube หรือ Tiktok

2. ทำสมาธิโดยการโฟกัสไปที่การหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ  

ทันทีที่ความเครียดของคุณเพิ่มขึ้น ให้ลองฝึกหายใจลึกๆ งานวิจัยจาก Frontiers in Human Neuroscience ได้ชี้ให้เห็นว่าเทคนิคการหายใจมีประโยชน์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมทั้งยังบรรเทาความเครียดได้อีกด้วย

3. การจดบันทึก

งานวิจัย The Permanente Journal ในปี 2564 เผยว่าการจดบันทึกประจำวันช่วยคลายเครียดได้และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจิต

4. ออกกำลังกายและพาตัวเองออกไปคลายเครียดบ้าง

การออกกำลังกายทุกวันมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตของคุณ อ้างอิงจากงานวิจัย Exercise effects on depression: Possible neural mechanisms พบว่าการออกกำลังกายส่งผลต่อส่วนต่างๆ ของสมองที่ควบคุมอารมณ์และรับมือกับความเครียด เพราะการออกกำลังจะกายสามารถเพิ่มฮอร์โมนดี เช่น เอ็นดอร์ฟิน โดปามีน และเซโรโทนิน ได้ แต่หากคุณไม่สามารถออกกำลังกายเป็นประจำได้ ให้พยายามยืดเส้นยืดสายบนเก้าอี้ของคุณ เดินเล่นก่อน ระหว่าง หรือหลังเลิกงาน หรือขึ้นและลงบันไดให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ 

พยายามพาตัวเองออกไปข้างนอกบ้าง เพราะจะทำให้คุณคลายเครียดได้ งานวิจัยจาก Frontiers in Psychology ได้เผยว่าการใช้เวลานอกบ้าน 20 นาที แม้จะแค่นั่งเฉยๆ ก็ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดความเครียดได้ เช่น การเดินไปทำงาน ใช้เวลาที่สวนสาธารณะหลังเลิกงาน หรือแม้แต่การมองออกไปนอกหน้าต่างเป็นเวลา 5 นาทีเพื่อโฟกัสไปที่ท้องฟ้า ต้นไม้ นก แสงไฟ หรืออะไรก็ตาม อาจช่วยให้คุณจัดการกับความเครียดในที่ทำงานได้เช่นกัน

5. ฟังเพลง

งานวิจัย Psychological and Physiological Signatures of Music Listening in Different Listening Environments—An Exploratory Study พบว่าการฟังเพลงเป็นเวลา 10 นาที ช่วยลดระดับคอร์ติซอลและปรับอารมณ์ของคุณให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพลงนั้นเป็นเพลงโปรดของคุณ

6. ทำสมาธิ

National Center for ComplementNational Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) กล่าวว่า การทำสมาธิไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง คุณสามารถฝึกทำสมาธิสั้นๆ 1-3 นาทีต่อครั้งได้ที่โต๊ะทำงานหรือระหว่างพักเข้าห้องน้ำ เพราะการทำสมาธิเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจ

6 เคล็ดลับจัดการความเครียดในที่ทำงานในระยะยาว

การจัดการกับความเครียดในที่ทำงานแบบระยะยาวอาจง่ายกว่าที่คุณคิด ถ้าคุณรู้เคล็ดลับทั้ง 6 ข้อนี้

1. การพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญ

รู้หรือไม่? การนอนไม่เพียงพออาจทำให้ระดับความเครียดเพิ่มขึ้นได้ การนอนหลับไม่เพียงพออาจทำให้คุณไม่มีสมาธิและทำงานในที่ทำงานได้ยากขึ้น 

หากคุณกำลังใช้ชีวิตในรูปแบบที่อาจส่งผลต่อรูปแบบการนอนของคุณ ลองจัดตารางชีวิตและทำงานใหม่ให้เหมาะสมเพื่อให้ในเวลาทำงานก็สามารถทำได้เต็มที่ ส่วนเวลาพักผ่อนก็ผ่อนคลายได้เต็มที่เช่นกัน หรือติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อขอคำแนะนำในการจัดการการนอนหลับให้ดีมากยิ่งขึ้น

2. สร้างแพทเทิร์นในการแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดความเครียดล่วงหน้า

ลองเขียนรูปแบบและสาเหตุที่อาจทำให้คุณเกิดความเครียด พร้อมทั้งพยายามเขียนอย่างน้อยหนึ่งหรือสองวิธีที่เป็นไปได้ในการจัดการกับความเครียดเหล่านั้นล่วงหน้า การทำแบบนี้จะสามารถช่วยให้คุณจัดการความเครียดในระยะยาวได้ง่ายขึ้น

3. หัด ‘ปฏิเสธ’ 

การเป็นคนมีน้ำใจและมีความรับผิดชอบสูงเป็นเรื่องที่ดี แต่หากคุณกำลังมีงานล้นมือ “การเอ็นดูเขา อาจทำให้คุณเอ็นขาด” ได้ การกำหนดสมดุลความรับผิดชอบนี้ไม่ได้หมายความว่าให้คุณหลีกเลี่ยงงานของตัวเอง แต่เป็นการหาความสมดุลในการทำงานให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดที่ไม่จำเป็น 

4. การกำหนดขอบเขตในการทำงาน

การกำหนดขอบเขตในการทำงานจะช่วยเป็นแผนให้คุณสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดแรงกดดัน และลดความเครียดได้ เช่น

  • กำหนดเวลาทำงานของคุณ เช่น หลังเลิกงาน 6 โมงฉันจะไม่ทำงานเด็ดขาด
  • กำหนดประเภทของงานที่คุณรับผิดชอบ
  • กำหนดปริมาณงานที่จะทำในแต่ละวัน
  • กำหนดเวลาในการตอบกลับอีเมลหรือแชทในการทำงาน

5. บริหารจัดการเวลา

ในบางครั้ง คุณอาจพบว่าปริมาณงานของคุณสมเหตุสมผลแต่คุณยังประสบปัญหาในการดำเนินการทุกอย่างให้เสร็จตามกำหนด ในกรณีนี้ คุณอาจต้องสำรวจแนวทางการบริหารจัดการเวลาเพื่อให้คุณทำงานได้เหมาะสมมากขึ้น 

6. ขอความช่วยเหลือ

การขอความช่วยเหลืออาจเป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นหากคุณต้องการจัดการกับความเครียดในที่ทำงานให้ดีขึ้นโดย

  • ขอความชัดเจนในงานที่ได้รับมอบหมาย
  • แนะนำวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ขอขยายเวลาหากจำเป็นหรือขอความร่วมมือจากทีม
  • ขอความร่วมมือจากทรัพยากรบุคคล หรือเครื่องมือ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงานจะช่วยลดสถานการณ์ตึงเครียดได้ แต่หากคุณพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับความเครียดในที่ทำงานได้ให้ลองพูดคุยหรือปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อหาแนวทางในการดำเนินชีวิตในโลกแห่งการทำงานได้อย่างมีคุณภาพทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจและการงาน

อ้างอิง PsychCentral

No comment

คัดลอก URL

×

https://techsauce.co/talentsauce/life-hacks/12-ways-to-cope-with-stress-at-work