หลายคนที่กำลังหางานแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน วันนี้ Connext จะพามาดูวิธีเตรียมตัวเพื่อให้ได้งานภายใน 5 สัปดาห์ อ้างอิงจากบทความโดย Matt Heinz ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Cheeky Scientist แพลตฟอร์มฝึกอบรมการหางานสำหรับผู้ที่จบปริญญาเอก ส่วนขั้นตอนจะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกัน
สัปดาห์ที่ 1: อัพเดทเรซูเม่ เน้น Transferable Skills
Transferable skills คือ ทักษะที่สามารถถ่ายทอดส่งต่อได้ ประยุกต์ได้กับหลากหลายบทบาท หลากหลายธุรกิจ เช่น การบริหารเวลา (Time management) การแก้ปัญหา (Problem Solving)
ส่วน Non-transferable skills หรือ hard skills คือ ทักษะเฉพาะทางสำหรับบางธุรกิจ เช่น การเขียนโค้ด (Coding) การผลิตอนิเมชัน ภาพเคลื่อนไหว (Animation)
การปรับแต่งเรซูเม่ให้เฉพาะเจาะจงกับงานที่สมัครอาจใช้ไม่ได้อีกแล้วในปี 2021 เนื่องจากหลายบริษัทกังวลเกี่ยวกับการจ้างผู้สมัครที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะไม่แน่ใจว่าภูมิทัศน์ทางธุรกิจ (business landscape) จะเป็นไปในทิศทางใดภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด
เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนปรับตัวได้ คุณควรสรุปทักษะในเรซูเม่ออกเป็น 3 ส่วนหลัก
Systems-oriented skills หรือ ทักษะที่เน้นระบบ ทักษะนี้สัมพันธ์กับความเชี่ยวชาญของคุณ เช่น คุณเคยเป็น content creator ที่บริษัทซอฟต์แวร์แห่งหนึ่ง ในกรณีนี้ ให้เน้นไปที่ “การเขียนเชิงธุรกิจ (business writing)” จากนั้นค่อยแจกแจงรายละเอียด เช่น สร้างบล็อกโพสต์ เขียนอีเมลทางการตลาด การเขียนทักษะลักษณะนี้จะช่วยพิสูจน์ว่าคุณสามารถใช้ทักษะนี้กับงานอะไรก็ได้ ไม่ใช่แค่ในบริษัทซอฟต์แวร์
People-oriented skills หรือ ทักษะที่เน้นผู้คน ทักษะนี้เน้นความสามารถด้านการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน ขณะนี้ บริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับผู้สมัครที่สามารถทำงานร่วมกันได้จากระยะไกลและมีศักยภาพเป็นผู้นำทีมผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้น ในเรซูเม่ของคุณ อาจใส่ keywords เช่น การบริหารผลการปฏิบัติงาน (performance management), การฝึกอบรมเสมือนจริง (virtual training) และการมอบหมายงาน (task delegation)
Self-oriented skills หรือ ทักษะที่เน้นตนเอง ทักษะนี้จะบอกนายจ้างว่าคุณสามารถทำงานอย่างขยันขันแข็ง เรียนรู้เร็ว และสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนไปทำงานทางไกลได้ (productivity ลดลง, หมดไฟในการทำงาน ฯลฯ) อาจใส่ keywords เช่น การรู้จักควบคุมตนเอง (autonomy) การบริหารเวลา (time management) และ การเริ่มต้นด้วยตนเอง (self-starter)
จากข้อมูลพบว่า การเน้นทักษะที่ถ่ายทอดได้จะนำไปสู่ผลลัพธ์การโทรกลับที่ดีขึ้น เนื่องจาก นายจ้างจำนวนมากจะอ่านเฉพาะส่วนที่เป็นตัวหนาของส่วนประสบการณ์การทำงานก่อนที่จะติดต่อคุณ
สัปดาห์ที่ 2: ปรับปรุง Personal Brand บน LinkedIn และทำให้โปรไฟล์สามารถมองเห็นได้ง่ายขึ้น
Personal Brand คือ การนำเสนอภาพลักษณ์ของคุณ เป็นตัวที่บ่งบอกว่าคุณเคยทำอะไรมาบ้าง ได้เรียนรู้อะไรมา
เช่นเดียวกับที่คุณใช้ Google เพื่อค้นหาข้อมูล hiring managers ใช้ LinkedIn เพื่อค้นหาผู้สมัคร ตรวจสอบให้แน่ใจว่า hiring managers เห็นโปรไฟล์ LinkedIn ของคุณ โดยใช้ keywords เพื่อให้ได้ผลการค้นหามากขึ้น เริ่มแรก ให้คัดลอกคำอธิบายของงานที่คล้ายกัน 10 งานที่คุณสนใจ และวางลงใน word cloud คำที่พบบ่อยที่สุดคือคำที่ควรรวมไว้ในส่วนต่าง ๆ ของโปรไฟล์
คุณควรอัปโหลดรูปโปรไฟล์ที่เป็นมืออาชีพและเป็นมิตร (โปรไฟล์ที่มีรูปถ่ายจะได้รับการเข้าชมเพิ่มขึ้นถึง 21 เท่า และคำขอเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่า เมื่อเทียบกับโปร์ไฟล์ที่ไม่มีรูป) ส่วนแบนเนอร์ควรมีสีที่กลมกลืน ไม่ซับซ้อนยุ่งเหยิง หากคุณต้องการให้แบนเนอร์โดดเด่น ลองใส่ keywords 3–5 คำ หรือ ทักษะที่ถ่ายทอดได้ไว้ด้านบนสุดของแบนเนอร์
นอกจากนี้ คุณอาจกดถูกใจและแสดงความคิดเห็นในโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ในธุรกิจของคุณ เผยแพร่โพสต์แบบข้อความ แบ่งปันบทความต้นฉบับ และค้นหาคนรู้จักเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้สามารถดึงดูดความสนใจของนายจ้างได้
สัปดาห์ที่ 3: Informational Interview กับคนที่ทำงานในสายงานที่คุณสนใจ
Informational Interview คือการสัมภาษณ์คนที่อยู่ในวงการนั้น ๆ แบบสบาย ๆ เพื่อให้เข้าใจ Insight ของอาชีพ บริษัท ธุรกิจ และช่วยสร้างคอนเนคชั่นกับลูกจ้างในบริษัทได้
วิธีเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือ ติดต่อกับคนรู้จัก (เช่น ผู้ติดต่อใน LinkedIn ครอบครัว เพื่อน) ที่ทำงานในบริษัทที่คุณสนใจ หรือมีคนรู้จักทำงานในบริษัทที่คุณสนใจ การสนทนาจะทำให้คุณได้ข้อมูล หรืออาจนำไปสู่โอกาสอื่น ๆ เช่น บริษัทหรือตำแหน่งงานอื่นที่น่าสนใจที่คุณไม่เคยนึกถึงมาก่อนก็ได้
หลังจากนั้น แสดงให้เห็นว่าคุณเป็นผู้ติดต่อที่มีคุณภาพ โดยเสนอจะเชื่อมต่อเขากับคนที่อาจเป็นประโยชน์ อาจจะเป็นในเชิงอาชีพหรือเชิงส่วนตัว ทำให้คำขอกระชับและเจาะจงเกี่ยวกับหัวข้อที่คุณต้องการพูดคุย
เมื่อนัดวันและเวลาโทรแล้ว ให้เตรียมคำถาม 2–3 ข้อและพยายามรักษาน้ำเสียงสนทนาให้เป็นกันเองในขณะที่คุณควรจะแสดงความเป็นมืออาชีพด้วย
คุณอาจถามด้วยว่ามีใครบ้างที่อาจแนะนำให้คุณติดต่อเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณกับเขาพูดคุยอะไรไปบ้าง การสละเวลาเพื่อพูดคุยเรื่องนี้จะแสดงว่าคุณใส่ใจเกี่ยวกับตำแหน่งงานมากพอ เพียงเท่านี้ คุณก็นำหน้าผู้สมัครที่เฉยเมยมากขึ้นแล้ว
สัปดาห์ที่ 4: ติดต่อขอบุคคลอ้างอิงจากคอนเนคชั่นของคุณ
ถ้าคุณมีบุคคลอ้างอิงที่สามารถพูดถึงประสบการณ์และความสามารถของคุณได้ คุณจะได้เปรียบกว่าผู้สมัครที่ไม่มีบุคคลอ้างอิง
หากคุณสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง Informational Interview ในสัปดาห์ที่ 3 ให้ติดต่อขอบุคคลอ้างอิงก่อนที่คุณจะสมัครงานในองค์กรของพวกเขา การได้รับบุคคลอ้างอิงนั้นสำคัญ เพราะแสดงให้นายจ้างเห็นว่ามีบุคคลอื่นมั่นใจในทักษะของคุณ และเป็นการรับประกันว่าใบสมัครของคุณจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเรียกสัมภาษณ์
สัปดาห์ที่ 5: เตรียมพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งานออนไลน์
ก่อนสัมภาษณ์งาน คุณควรหาข้อมูล ข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับบริษัทที่สมัคร และแนวโน้มที่เกิดขึ้นในธุรกิจ รวมถึงอาจตรวจสอบโปรไฟล์ LinkedIn และ Twitter ของบุคคลที่จะสัมภาษณ์คุณ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพและความสนใจของพวกเขา
คิดคำถาม 2–3 คำถามที่เหมาะกับบริษัท งานที่พวกเขาทำ หรือโปรเจกต์ที่พวกเขาเปิดตัวแล้วคุณสนใจ นอกจากนี้ คุณควรถามคำถาม 2–3 ข้อเกี่ยวกับผู้สัมภาษณ์และงานของพวกเขาโดยเฉพาะ การแสดงความอยากรู้อยากเห็นจะทำให้คุณแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น ๆ
ส่วนของคำถามที่พวกเขาจะถามคุณ ขอให้รู้ว่านายจ้างจำนวนมากกังวลเรื่องความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (work-life balance) ในยุคการทำงานทางไกล ดังนั้น อาจเจอคำถาม เช่น “คุณทำงานอย่างไร” “กิจวัตรประจำวันของคุณคืออะไร” เตรียมคำตอบของคุณไว้ล่วงหน้าเพื่อแสดงว่าคุณสามารถจัดลำดับความสำคัญของงานและจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุดท้ายนี้ physical presence ก็เป็นสิ่งสำคัญ ดาวน์โหลดแอพลิเคชันที่ใช้สัมภาษณ์งานให้พร้อม (Zoom, WebEx, Microsoft Teams) มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (ใช้พื้นหลังเรียบง่าย ธรรมดา) แสงสว่างเพียงพอ ไม่ย้อนแสง และสบตาผู้สัมภาษณ์เพื่อให้ดูมั่นใจ (มองเข้าไปในเว็บแคม) แต่งกายด้วยชุดสุภาพ สีกลาง ๆ และใช้ภาษากายเพื่อแสดงว่าคุณมีส่วนร่วมในการสนทนา เช่น พยักหน้า เลิกคิ้ว ใช้ท่าทางมือเพื่อเน้นจุดสำคัญ
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงไหนของวัยทำงานก็สามารถทำตามขั้นตอนนี้ได้ ไม่มีคำว่าสายเกินหรือเร็วเกินไปสำหรับการหางาน ขอเพียงแค่สู้ไม่ถอย สักวันต้องเป็นวันของเราแน่นอน
อ้างอิง: HBR
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจบทความเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน ทักษะที่จำเป็นในอนาคต สามารถลงทะเบียนเพื่อรับอัพเดทข้อมูลข่าวสาร และบทความในอนาคต จาก ConNEXT ได้ ที่นี่ https://bit.ly/3xKvJtn
ติดต่อร่วมงานกับ ConNEXT ได้ที่อีเมล [email protected]