เมื่อใช้เวลาในการเรียนมหาวิทยาลัยไปถึง 4 ปี และเรียนจบออกมาด้วยเกรดดีๆ แน่นอนว่าเด็กจบใหม่ก็ต้องคาดหวังไว้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะมีหน้าที่การงานที่ดี แต่หลังจากที่เรียนจบออกมาหลายเดือนแล้ว เรากลับยังต้องหางานอยู่และไม่มีวี่แววจะมีงานทำสักที จะทำอย่างไรดี?
หากใครกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ข้างต้น เราอาจรู้สึกหงุดหงิดใจจากการส่งใบสมัครงานและนับวันเวลารอคนเรียกสัมภาษณ์ แต่พอผ่านไปหลายวันกลับไม่มีใครติดต่อกลับมา บทความนี้จะพาไปดูเคล็ดลับสำหรับคนที่เรียนจบมาหลายเดือนแล้วแต่ยังไม่มีงานทำ
1. อย่าสมัครงานอะไรก็ได้เพื่อเพียงให้มีงานแรกทำ
หลังจากที่เรียนจบออกมาแล้วยังไม่ได้งานแรกทำ เด็กจบใหม่หลายคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ก็จะสมัครงานไปเรื่อยๆ แบบแพนิค เพราะหวังว่าจะได้งานแรก
คนที่แพนิคและสมัครงานไปเรื่อยๆ จะทำให้เปลี่ยนโฟกัสจากงานที่เหมาะสมกับตัวเองเป็นการสมัครงานอะไรก็ได้เพื่อให้มีงานทำ
การสมัครงานอะไรก็ได้เยอะๆ จะทำให้ประสิทธิภาพของการสมัครงานต่ำ เนื่องจากนายจ้างต้องการเด็กจบใหม่ที่เหมาะสมกับตำแหน่งและมีความสนใจในตำแหน่งที่สมัคร รวมถึงบริษัท และอุตสาหกรรมนั้นจริงๆ
2. ค้นหาว่างานสำหรับเด็กจบใหม่แบบไหนที่ใช่สำหรับเราจริงๆ
เด็กจบใหม่หลายคนมักทำข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งคือ การไม่ค้นหาว่าบทบาทไหนที่เหมาะกับตัวเองก่อนที่จะสมัครงาน
หากเราไม่รู้ว่าจริงๆ ว่าจะสมัครงานอะไร และตัวเองเหมาะกับงานแบบไหน การสมัครงานนั้นจะขาดการโฟกัส เวลาการสมัครงานก็จะยืดยาวออกไป
ใครที่มองหางานมาเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือนและยังไม่ประสบความสำเร็จ ให้ลองสะท้อนความคิดตัวเองดูว่าเราเหมาะที่จะสมัครงานในบทบาทใด หลังจากนั้นก็สมัครงานให้แคบลงมา
3. ค้นหาว่าตัวเองมีทักษะเพื่อการทำงานอะไรบ้าง
Confederation of British Industry (CBI) ได้ระบุทักษะเพื่อการทำงานได้ด้วยกัน 9 ทักษะที่นายจ้างกำลังมองหา ดังนี้
- การมีความเข้าใจในโลกธุรกิจ
- การมีความสามารถด้านการสื่อสาร
- ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ
- ความคล่องแคล่วด้าน IT
- การคำนวณ
- การแก้ไขปัญหา
- การล้มเร็วลุกเร็ว
- การจัดการตัวเอง
- การทำงานเป็นทีม
หากใครมีทักษะที่กล่าวมาข้างต้นจะทำให้มีความโดดเด่นจากผู้แข่งขันคนอื่นในการสมัครงาน และทำให้นายจ้างรู้สึกมั่นใจว่าเราจะสามารถทำงานได้จริงๆ สำหรับผู้ที่หางานมามากกว่า 3 เดือน ให้ลองทำตามวิธีต่อไปนี้
จากลิสต์ทักษะเพื่อนการทำงาน 9 อย่างข้างต้น ให้เขียนอธิบายและยกตัวอย่างด้วย STAR Method เพื่ออธิบายว่าเราใช้ทักษะนั้นในการทำอะไร และผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร หากใครไม่มีประสบการณ์อะไรให้เขียนมากนัก ก็ยกตัวอย่างกับการทำงานอาสาสมัคร งานที่ทำในห้องเรียน กีฬา หรือสังคมมหาวิทยาลัยต่างๆ แทน
4. เติมเต็มช่องว่างทักษะของตัวเอง
หากรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทักษะเพื่อการทำงานที่กล่าวไปข้างต้น อาจจะต้องเติมเต็มทักษะตัวเองผ่านการออกไปหาประสบการณ์การทำงานหรือการฝึกงานอย่างน้อยหนึ่งเดือนก่อนที่จะสมัครงานประจำหลังเรียนจบ
แม้ว่าเราจะเป็นเด็กจบใหม่ แต่ทางนายจ้างเองก็คาดหวังว่าจะมีประสบการณ์การทำงานมาบ้างบนเรซูเม่ เราไม่สามารถวางใจได้กับการมีแค่ใบจบจากมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความประทับใจให้กับนายจ้าง เนื่องจากตลาดแรงงานของเด็กจบใหม่มีการแข่งขันสูง และเราต้องแข่งขันกับเด็กจบใหม่ด้วยกันเองหลายพันคนที่มีใบจบจากมหาวิทยาลัยและประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน
5. ทำเรซูเม่ใหม่
ลองสังเกตเรซูเม่ตัวเองดูก่อนว่าเราได้เขียนเน้นถึงความสำเร็จของตัวเองไว้หรือไม่ หากส่งใบสมัครงานไปหลายที่แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับเลย ก็อาจต้องทำเรซูเม่ใหม่ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะเรซูเม่เป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญที่ HR ใช้ในการพิจารณาว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่
สิ่งที่ต้องเขียนในเรซูเม่ต้องประกอบไปด้วย:
- Personal Statement
- ทักษะและความสำเร็จที่สำคัญๆ
- ความสำเร็จด้านวิชาการ
- ความสำเร็จที่ไม่ใช่ด้านวิชาการ
6. ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพ
สำหรับผู้ที่ลองมาหลายวิธีแล้วแต่ก็ยังหางานไม่ได้สักที ก็ควรลองขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างโค้ชด้านอาชีพโดยตรงจะดีกว่า เพราะเขาสามารถให้คำแนะนำแนวทางที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้
โค้ชด้านอาชีพสามารถช่วยเราได้ในเรื่อง:
- การค้นหา Career path ที่ใช่
- การเขียนเรซูเม่
- การสัมภาษณ์งานอย่างมั่นใจ
- การได้รับประสบการณ์ทำงาน
- การส่งใบสมัครงานที่มีคุณภาพสูง
- การต่อรองเงินเดือน และอื่นๆ
หลายคนเมื่อเรียนจบมาหลายเดือนแล้วแต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีงานทำสักที เมื่อเห็นเพื่อนหลายคนมีงานทำเรื่อยๆ ก็จะเริ่มตื่นตระหนกและเครียดขึ้นเรื่อยๆ เพราะนำเอาความสำเร็จของผู้อื่นมากดดันตัวเอง แต่การกดดันตัวเองมากไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น ดังนั้นจึงควรลองพยายามใช้วิธีใหม่ๆ ดู แล้วความสำเร็จจะรอเราอยู่ข้างหน้าอีกไม่ไกล
อ้างอิง Graduate Coach