บทความโดย นายพนิต เวชศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด
นับตั้งแต่ปลายปี 2021 หลังจากที่ Mark Zuckerberg เจ้าพ่อแห่ง Facebook ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทตัวเองเป็น Meta และประกาศทุ่มสุดตัวกับการลงทุนนับพันล้านเหรียญบนสิ่งที่เรียกว่า Metaverse ชาวเทคโนโลยีและผู้ชื่นชอบในสังคมออนไลน์ทั้งโลกต่างก็หันมาสนใจกับสิ่งนี้ ไม่ว่าจะอยากจะลองเล่นแว่นตา VR (Virtual Reality) ล้ำ ๆ อยากจะเข้าไปลองสร้างวิธีการหารายได้ใหม่ๆจากกิจกรรม Play-to-earn หรือแม้กระทั่งอยากจะสร้าง Metaverse เป็นของตัวเอง แต่ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำอะไรซักอย่าง “Token X” บริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ในฐานะผู้ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Blockchain ได้รวบรวมตัวอย่างของ Metaverse ในรูปแบบต่างๆ ว่า Metaverse คืออะไร และเราทำอะไรกับมันได้บ้าง
ถ้าผู้อ่านเป็นนักเล่นเกมที่เล่นเกม MMORPG (Massive Multiplayer Online Role-Playing Game) ตั้งแต่สมัยเกมยุคแรก ๆ อย่าง Ragnarok Online หรือเกมที่ยังฮิตในยุคปัจจุบันอย่าง World of Warcraft หรือ Final Fantasy XIV ก็น่าจะคุ้นเคยกับระบบสังคมที่เกิดขึ้นในเกม
มีการชวนเพื่อนไปต่อสู้ร่วมกัน ตั้งกลุ่มคุยเล่น เปิดร้านขายของ และอื่น ๆ อีกมากมายตามที่ระบบของเกมแต่ละเกมจะสร้างให้ผู้เล่นสามารถทำได้ คำว่า Metaverse ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะสังคมของผู้คนในเกม ก็เปรียบเสมือนกับสังคมคู่ขนานจากโลกจริงที่เราสัมผัสได้ ต่างกันแค่ทุกสิ่งเกิดขึ้นในโลกเสมือนโดยมีหน้าฉากเป็นเกมออนไลน์
สำหรับคนที่ไม่ได้เล่นเกมออนไลน์ อาจจะลองจินตนาการภาพจากภาพยนตร์ชื่อดังที่พูดถึงโลกเสมือนที่เหมือนกับโลก Metaverse เช่น Avatar หรือ Ready Player One ที่ให้ผู้คน ใส่อุปกรณ์สวมศีรษะหรือติดตัว และพาผู้ใช้เข้าสู่โลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แยกออกมาจากโลกแห่งความจริง
ความเป็น Metaverse นอกจากมีโลกเสมือนที่สร้างขึ้นเป็นสามมิติแล้ว Metaverse หลาย ๆ เจ้า มีการสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นมาโดยนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้ เพื่อสร้างโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นระบบเงินตรา และสร้าง NFT ขึ้นมาเพื่อแทนสิ่งของต่าง ๆ
ด้วยความที่ระบบบล็อกเชนนั้นไม่มีตัวกลางและมีความน่าเชื่อถือ ทำให้มันเป็นส่วนประกอบที่ดีที่จะมาเป็นระบบพื้นฐานทางด้านการเงินให้กับ Metaverse ต่าง ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะ Metaverse บางระบบ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่นเพื่อการทำงานร่วมกันกับเพื่อนที่ทำงานที่บ้าน (Work from home) เพราะฉะนั้น ระบบการเงินอาจจะไม่จำเป็น
ผู้เขียนมีความเชื่อว่า Metaverse แต่ละแพลตฟอร์มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างที่ชัดเจน ลองมาดูกันว่าในอนาคต เมื่อมี Metaverse เกิดขึ้นมามากมาย จะมีMetaverse ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไรได้บ้าง
เกมออนไลน์ที่มีผู้เล่นหลายคน เป็นพื้นฐาน และเป็นต้นแบบของการสร้างระบบของ Metaverse จึงสามารถทำนายได้เลยว่าจะมีเกมออนไลน์ใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ของความเป็น Metaverse ที่สามารถทำงานร่วมกับแว่น VR มีระบบเศรษฐกิจของโทเคนที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน ซึ่งประเภทของเกมก็สามารถมีได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเกมเล่นง่ายๆ อย่างเกมกีฬา บอร์ดเกม เกมต่อสู้แนวสงคราม หรือจะเป็นเกมแนว RPG แบบ Open World ซึ่งก็เข้ากันได้ดีกับลักษณะของความเป็น Metaverse ยกตัวอย่างเช่นแพลตฟอร์มอย่าง The Sand Box ที่มีการเปิดตัวมาก่อนที่ Metaverse จะเป็นเทรนด์ แต่ก็เกาะกระแส Metaverse ไปได้อย่างดี
ในโลกที่ครอบครัวที่อยู่บ้านเดียวกันมีขนาดเล็กลง ครอบครัวใหญ่แตกเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือเมื่อลูก ๆ เติบโตขึ้นและแยกย้ายออกไปมีชีวิตของตนเอง การที่มีบ้านเสมือน ที่พ่อแม่ลูก ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้อง สามารถเข้ามาพบปะ พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบกันได้ตลอดเวลา ก็อาจจะทำให้สมาชิกของครอบครัวใหญ่ที่อยู่ห่างกันด้วยข้อจำกัดทางระยะทางได้ใกล้กันมากขึ้นผ่านทางโลกเสมือน
ในการประชุมทางธุรกิจในปัจจุบัน เราสามารถใช้วีดีโอคอลแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Zoom, Microsoft Teams, หรือ Google Meet ในการประชุมแบบเห็นหน้ากันได้ แต่ประสบการณ์การประชุมแบบนั่งร่วมโต๊ะกัน หรือการยืนคุยกันหน้า Whiteboard เขียนกระดาน และออกความคิดเห็นกัน ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยการประชุมออนไลน์แบบเดิม ๆ
นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนบางส่วนยังโหยหาการเข้าไปทำงานที่ออฟฟิส ซึ่งถ้าประสบการณ์นี้สามารถทดแทนได้ด้วยห้องประชุมบน Metaverse การเข้าไปเจอกันที่ออฟฟิส ก็อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป
สำหรับบริษัทที่มีหลายสาขาที่อยู่ห่างไกลกัน การให้ผู้บริหารหรือพนักงานบินไปเยี่ยมชมและทำงานที่ออฟฟิศในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศเป็นครั้งคราว ช่วยให้พนักงานที่ต้องทำงานร่วมกันระหว่างแต่ละออฟฟิส มีความคุ้นเคยกันมากขึ้น ช่วยลดปัญหาในการสื่อสารและทำให้งานประสิทธิภาพมากขึ้น
การเข้ามาของ Metaverse ที่สามารถสร้าง Avatar ให้เหมือนตัวตนในโลกจริง อาจจะทำให้ความจำเป็นที่จะต้องบินไปมาระหว่างประเทศลดลง บริษัทบางบริษัท อาจจะตัดสินใจรับพนักงานในจังหวัด หรือประเทศ ที่มีค่าแรงถูกกว่าที่สำนักงานใหญ่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายก็สามารถทำได้ถ้า Metaverse สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีในการพบปะผู้คน
สำหรับเด็กนักเรียนอนุบาล ประถม หรือมัธยม คงจะไม่มีอะไรทดแทนการเจอเพื่อนตัวจริง ได้เล่นกับเพื่อนและฝึกทักษะการเข้าสังคม แต่สำหรับการศึกษาขั้นที่สูงขึ้นหรือการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อผู้เข้าเรียนมีเวลาน้อย เช่น การเทรนนิ่งคอร์สสั้น ๆ หรือการเรียนปริญญาโท
การนำ Metaverse มาใช้แทนห้องเรียน สามารถช่วยลดเวลาการเดินทาง และอาจจะสร้างประสบการณ์ที่ดีได้มากกว่าการเรียนผ่านโปรแกรมแบบประชุมทางวีดีโอเมื่อจำเป็น การทำงานกลุ่มร่วมกัน การปรึกษากันเป็นกลุ่มย่อย ถ้าหากมีการพัฒนา Metaverse ที่มีความสามารถที่เหมาะกับการนำมาใช้เป็นห้องเรียนก็จะทำให้ทุกคนใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลังจากสถานการณ์โควิดดีขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนไปเป็น New normal ก็คือหลาย ๆ บริษัทการทำงานที่บ้านเป็นเรื่องปรกติ หรือหลาย ๆ คนมีการย้ายกลับภูมิลำเนาโดยยังทำงานที่เดิมแบบ Remote หรือกลุ่มเพื่อนที่ปรกติเคยนัดพบปะกันเดือนละครั้ง ก็อาจจะเริ่มนัดเจอตัวกันยากขึ้นด้วยสภาพการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป
การมีกิจกรรมสนุกๆ นัดเจอกลุ่มเพื่อนแบบสั้น ๆเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพบปะพูดคุย เล่นบอร์ดเกม จิบน้ำลำไยวุ้น หรือทำกิจกรรม Team Building แข่งขันกันเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็สามารถทำได้บน Metaverse แพลตฟอร์มประเภทเกม หรือประเภทที่มีการตกแต่งสถานที่ให้เข้ากับบรรยากาศในการทำกิจกรรมร่วมกัน
ถ้าหากมีกิจกรรมงานบรรยายต่างๆที่มีผู้บรรยายบนเวที หรือ Presentation เปิดตัวสินค้าต่างๆ การย้ายมาจัดอยู่บน Metaverse ที่มีการออกแบบประสบการณ์เป็นลักษณะเวทีใหญ่ และสามารถจุผู้คนได้พร้อม ๆ กันหลายๆคนจากทั่วทุกมุมโลก ก็ดูจะเป็นไอเดียที่สะดวกและดูทันสมัย และอาจจะถูกใจผู้เข้าร่วมที่อยู่ห่างจากสถานที่จริงมากโดยไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาเดินทาง
แต่การสร้างประสบการณ์ที่ผู้ที่พูดบนเวที สามารถแสดงท่าทางที่ใช้ภาษากาย เช่นการชี้ การผายมือ หรือการพยักหน้า อาจจะต้องใช้การผสมผสานระหว่างภาพจริง และภาพในโลกเสมือนด้วยเทคนิคอย่างการใช้ Green Screen แต่ก็เชื่อว่า เมื่อเทคโนโลยีการเชื่อมการเคลื่อนไหวของคนเข้ากับ Avatar ในMetaverse ได้พัฒนาขึ้นมาเพียงพอ การยืน Present บนโลก Metaverse ก็จะทำได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน
มีศิลปินหลาย ๆ คนเริ่มสนใจที่จะออกคอนเสิร์ต บน Metaverse แพลตฟอร์มเช่นเดียวกับ อารีอานา กรานเด (Ariana Grande) หรือ ทราวิส สก็อตต์ (Travis Scott) ซึ่งในปัจจุบัน การสร้างคอนเสิร์ตที่ดี นอกจากการแสดงของศิลปินที่อาจจะต้องใช้เทคนิคการผสมภาพจริงและภาพสามมิติแล้ว การมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมคอนเสิร์ตก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญมาก
เช่น การที่ผู้ชมได้วิ่งเข้าไปหน้าเวทีเพื่อสัมผัสศิลปินใกล้ ๆ หรือได้เต้นตามจังหวะเพลงที่ศิลปินกำลังร้อง ระบบ Metaverse ที่สามารถรองรับการจัดคอนเสิร์ตที่ดีนั้น อาจจะต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่แบบเฉพาะ มากกว่าการไปใช้งานแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่สำหรับการสร้างคอนเสิร์ตโดยตรง ซึ่งก็พอใช้งานได้ แต่ยังไม่ได้ประสบการณ์ที่ดีที่สุด
ในเมื่อระบบ Metaverse บางระบบ มีการสร้างระบบเศรษฐกิจและสร้างสกุลเงินขึ้นมาใช้จ่ายในระบบ การสร้างตลาดหรือสถานที่ที่ให้ผู้คนมาจับจ่ายใช้สอย ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เจ้าของแพลตฟอร์ม Metaverse เอง อาจจะสามารถดูจากตัวอย่างการสร้างระบบตลาดของเกมออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีการซื้อขายไอเทมภายในเกมกันเป็นปรกติ
ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งของที่นำมาซื้อขายกัน ถ้าอยู่ในรูปแบบ Digital Asset เช่น NFT หรือ Item ต่างๆ น่าจะสามารถทำได้ง่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจจะมี Shopping Mall ใน Metaverse บางแห่ง ขายของที่มีการส่งสินค้าจริงไปยังผู้ใช้ก็ทำได้ แต่คงจะต้องพึ่งพาระบบ Logistic แบบดั้งเดิมเพื่อทำการจัดส่ง
จากหลาย ๆ ตัวอย่างด้านบน ถ้าคุณเป็นผู้ใช้ทั่วไป ที่อยากทดลองเล่นกับ Metaverse มีประสบการณ์ในการใช้งานเป็นอย่างไร อาจจะเข้าไปทดลองใช้แพลตฟอร์มต่างๆเช่น The SandBox, Decentraland, Meta Horizon World, Roblox ซึ่งส่วนใหญ่แพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันจะมีลักษณะเป็นเกมออนไลน์ แต่ก็มีบางอัน ที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถประสงค์อื่นๆเช่นเป็น Virtual Officeอย่าง Gather Town
แต่ถ้าคุณเป็นบริษัท หรือนักพัฒนา ที่สนใจจะสร้างแพลตฟอร์ม Metaverse ของตัวเอง อาจจะต้องพิจารณาในเรื่องต่างๆเหล่านี้ว่าคุณพร้อมและเข้าใจมันหรือไม่
จะเห็นได้ว่า การสร้างแพลตฟอร์ม Metaverse ขึ้นมาใหม่ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและซับซ้อน แม้กระทั่งบริษัทอย่าง Meta ที่มีเงินลงทุนระดับหลายพันล้านยังตั้งเป้าหมายจะสร้างแพลตฟอร์ม Metaverse โดยใช้ระยะเวลา 5-10 ปี
เพราะฉะนั้นวิธีการที่ง่ายและประหยัดเวลาถ้าหากจะทดลองเริ่มต้นกับ Metaverse อาจจะไม่ใช่การสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่หมด แต่เป็นการทดลองสร้าง Metaverse ขึ้นมาบนแพลตฟอร์มเปิดที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันอย่างเช่น The Sand Box หรือ Decentraland ที่มีทุกอย่างพร้อมใช้ ให้นักพัฒนาสามารถต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว
โดยหากผู้อ่านเกิดความสนใจและอยากหาที่ปรึกษา ที่สามารถให้คำปรึกษาในส่วนของเทคโนโลยีบล็อกเชนและ Tokenization ซึ่งอาจถือว่าเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล สามารถติดต่อ Token X ได้ที่อีเมล [email protected]
บทความโดย นายพนิต เวชศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด