Chul Thai Silk ส่งคลังความรู้ออนไลน์ให้เกษตรกรยุคใหม่ผ่าน App | Techsauce

Chul Thai Silk ส่งคลังความรู้ออนไลน์ให้เกษตรกรยุคใหม่ผ่าน App

Thai silk หรือผ้าไหมไทยที่ผ่านขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำในแนวทาง 'From Soil to Silk' ของจุลไหมไทย (Chul Thai Silk) ล้วนแต่มีนวัตกรรมสอดแทรกอยู่ กระทั่งปัจจุบันที่พัฒนา App (แอพพลิเคชั่น) มาช่วยแบ่งเบาภาระให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมของบริษัท พร้อมยกระดับวิชาชีพเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มเป้าหมายปริมาณรังไหมเข้าโรงงานที่ 5,000 ตันต่อปี ภายในปี 2568

thai silk-chul-ceo

เมล็ดพันธุ์แห่งกลุ่มบริษัทไร่กำนันจุลงอกงามขึ้นเมื่อกว่า 80 ปีก่อนโดยผู้ก่อตั้งรุ่นหนึ่ง กำนันจุล คุ้นวงศ์ ที่ยึดมั่นเจตนารมย์ตั้งใจสร้างพื้นที่การเกษตรให้อุดมสมบูรณ์ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งยังคงสืบต่อมาถึงวันนี้ภายใต้การบริหารงานของทายาทรุ่นสาม จงสฤษดิ์ คุ้นวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทไร่กำนันจุล

อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจไหมที่ต่อยอดมาจากอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและสาวไหมเส้นยืนไม่ได้เป็นช่องทางหาเลี้ยงชีพนับแต่แรกที่ริเริ่มกิจการ แต่คือทางออกให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติที่ไร่ส้มถูกทำลายจนไม่อาจฟื้นคืนจากโรครากเน่าระบาดที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2501

กระทั่งพบว่าธุรกิจไหมสามารถตอบโจทย์ดังที่กิจการครอบครัวกำนันจุลต้องการ ทั้งในแง่เป็นอาชีพเกษตรที่มีอุตสาหกรรมรองรับ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนหมู่มาก และเป็นอาชีพที่ทำได้ยากหรือถือว่ามีคู่แข่งน้อยนั่นเอง

จนนำไปสู่การก่อตั้ง บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ในปี 2511 เพื่อผลิตรังไหม พร้อมกับจัดตั้งโรงงานสาวไหม ที่กลายเป็นธุรกิจที่สร้างฐานรายได้หลักจนถึงปัจจุบัน โดยเน้นส่งเสริมอาชีพเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและผลิตเส้นไหมคุณภาพทดแทนการนำเข้าอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการทำธุรกิจของจุลไหมไทยในวันนี้ จงสฤษดิ์เล่าว่า เป็นไปตามแนวคิด ‘From Soil to Silk’ ที่ช่วยให้สามารถควบคุมการผลิตเส้นไหมอย่างครบวงจรตั้งแต่ การพัฒนาสายพันธุ์ไหมที่เหมาะสมกับภูมิอากาศแต่ละฤดูของประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์หม่อนร่วมกับกรมหม่อนไหมกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเจริญเติบโตของตัวไหมควบคู่กับการส่งเสริมเกษตรกรหม่อนไหมใน 30 จังหวัดทั่วประเทศไทย ให้มีความรู้ความสามารถและมีความมั่นคงในอาชีพ ตลอดจนการสาวเส้นไหมที่ทำให้ผลิตเส้นไหมได้หลากหลายรูปแบบ

ปัจจุบันจุลไหมไทยมีกำลังการผลิตเส้นไหมอุตสาหกรรมอยู่ที่ราว 500 ตันต่อปี ถือเป็นโรงงานสาวไหมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยธุรกิจไหมของกลุ่มบริษัทไร่กำนันจุลได้แตกแขนงเป็นบริษัทย่อยอื่น ๆ ได้แก่ ด้านผลิตไข่ไหม ดำเนินกิจการโดย บริษัท จุลไทย แอคโกร-อินดรัสตรี จำกัด เป็นบริษัทที่พัฒนาพันธุ์ไหมให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ให้คำปรึกษา แนะนำอาชีพให้กับเกษตรกรหม่อนไหม

ขณะที่ในฝั่งผลิตเส้นไหม ดำเนินกิจการโดย บริษัท จุลไหมไทย จำกัด โดยใช้เครื่องจักรจากประเทศญี่ปุ่นมาผลิตเส้นไหมคุณภาพ และยังเป็นโรงงานสาวไหมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งด้วยศักยภาพที่ควบคุมการผลิตได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ทำให้เป็นบริษัทแรกในโลกที่ได้รับรองเส้นไหมออร์แกนิคตาม มาตรฐาน Global Organic Textile Standards (GOTS) จาก Control Union ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบจากยุโรปที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และ มาตรฐาน Organic Thailand จาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ด้านการส่งออกเส้นไหม มีบริษัท จุลอินเตอร์ซิลค์ จำกัด เป็นเจ้าภาพในการผลิตเส้นไหมคุณภาพสูงเพื่อการส่งออก และพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมแปรรูป ส่วนด้านฟอกย้อมเส้นไหมดำเนินกิจการโดย บริษัท จุลไทยฟอกย้อม จำกัด ที่ทำการย้อมสีเส้นไหมด้วยสีย้อมคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ท้ายสุดคือโรงเรียนสอนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งบริหารงานโดยมูลนิธิจุลไหมไทย ก่อตั้งโดยเงินให้เปล่าจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ สอนเกษตรกรหม่อนไหมให้มีความรู้เพื่อประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้อย่างยั่งยืน

Thai silk-chul-ceo

เสริมแต้มต่อด้วย App

จาก pain point ที่จุลไหมไทยต้องการยกระดับเกษตรกรให้เพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องทีมงานทำให้ไม่อาจขับเคลื่อนได้ดังใจ ด้วยปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรกรเพียง 30 รายที่ทำภารกิจในฐานะนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรให้คำปรึกษาแนะนำอาชีพให้กับเกษตรกรหม่อนไหมที่มากกว่า 5,000 รายใน 30 จังหวัด จึงเท่ากับเจ้าหน้าที่ 1 รายต้องดูแลเกษตรกรราว 200 คน

ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากที่มีผู้สนใจทำงานดังกล่าวน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากปัจจัยที่แรงงานรุ่นใหม่ที่นิยมทำงานในเมืองหลวงและในสำนักงานมากกว่าที่ต้องออกพื้นที่

แต่ด้วยแนวโน้มที่เล็งเห็นว่าต่อไปน่าจะมีจำนวนเจ้าหน้าที่ลดลงสวนทางกับจำนวนเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ โดยหาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ 1 รายสามารถดูแลเกษตรกรได้ตั้งแต่ 400 ถึง 500 รายขึ้นไป

เราหาคนมาทำงานส่งเสริมยากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมองว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะหาใครมาทำงาน จึงต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน ซึ่งนอกจากช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้วยังช่วยให้ลงทุนหรือจ่ายผลตอบให้เจ้าหน้าที่ได้สูงขึ้น

Thai silk-chul-ceo

ดังนั้นจงสฤษดิ์จึงตัดสินใจร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พัฒนา App ชื่อไหมจุลเพื่อนำมาใช้ในงานส่งเสริมเกษตรกรในเครือข่ายของบริษัท

โดยมีขั้นตอนการพัฒนา App เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกสำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม (พนักงานของบริษัท) ระยะสองสำหรับหัวหน้ากลุ่มเกษตรกร (ผู้แทนเกษตรกร) ที่มีอยู่ราว 200 กลุ่มจากทั้งหมด 5,000 ราย และระยะสามสำหรับเกษตรกร

โดยเริ่มเข้าสู่แผนระยะแรกในเดือนมิถุนายน 2562 ที่เริ่มทดลองใช้ภายในบริษัทก่อน และหลังจากนั้นคาดว่าจะปรับระบบให้ลงตัวเสร็จสมบูรณ์ภายในปลายปีนี้ ขณะที่จะเข้าสู่การใช้งานระยะ 2 ภายในปีหน้า และต่อยอดได้ครบ 3 ระยะภายในปี 2564 ตามที่วางแผนพัฒนาไว้

แม้ในแต่ละ phase ไม่ได้เพิ่ม function ขึ้นมาก แต่เราอยากให้ระบบเสถียรก่อนที่จะเปิดให้คนภายนอกใช้งาน App

จงสฤษดิ์อธิบายเพิ่มเติมถึงประโยชน์ของ App ที่จะมาช่วยงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมว่า เริ่มจากลดงานติดตามผลการเพาะปลูก โดยเจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจสอบจากรายงานข้อมูลการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้จากทาง App แต่ยังคงไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรเพื่อให้คำแนะนำและความรู้ต่าง ๆ เช่นเดิม

อีกทั้งยังมีระบบเก็บข้อมูลของเกษตรกรและมีระบบนำทางให้เจ้าหน้าที่สามารถเดินทางไปพบปะกับเกษตรกรได้ถูกต้อง พร้อมมีตารางงานที่จะระบุกำหนดการที่ต้องไปพบเกษตรกร ซึ่งต้องดูแลใด้ด้วย เช่นเดียวกับที่ทำให้ฝ่ายบริหารของบริษัทสามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ผ่านทางระบบตารางงานนี้ได้

นอกจากนี้ใน App ยังสามารถเรียกดูรายงานข้อมูลการเพาะปลูกของเกษตรกรแต่ละรายได้ทั้งที่เป็นข้อมูลล่าสุดและย้อนหลัง รวมถึงยังมีระบบ Machine learning ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลของตัวเกษตรกรเองและการเพาะปลูก เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถให้คำแนะนำตรงจุดและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น เกษตรกรรายนี้ควรปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง จึงช่วยย่นระยะเวลาเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมที่มาใหม่ให้เหลือเพียง 1 ปี จากเดิมที่เคยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

"ก่อนนี้กว่าจะดูข้อมูลการเพาะปลูกของเกษตรกรแต่ละคนได้ต้องให้ฝ่ายบัญชีเข้าไปดึงข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ mainframe ที่บริษัทแล้วพิมพ์ออกมาให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งล่าช้าและยุ่งยากมาก"

ขณะที่ประโยชน์สำหรับตัวเกษตรกรที่จะเริ่มใช้งานได้ช่วงแผนระยะ 3 ของการพัฒนา App นั้น จงสฤษดิ์เล่าว่าจะมีการให้ความรู้ผ่าน video clip สั้น ๆ ราว 3-5 นาที ซึ่งสามารถเปิดดูได้ทุกเมื่อที่ต้องการ และยังให้คำแนะนำด้วยว่าเกษตรกรรายนั้น ๆ ควรดู video clip เรื่องไหนเป็นพิเศษ จึงจะปรับปรุงได้ตรงจุด ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือให้สามารถทบทวนความรู้ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมได้เคยไปสอนวิชาต่าง ๆ ให้แล้ว

thai silk-chul-ceo

Chul Thai Silk จองพื้นที่บนตลาดโลก

“เราจะมีฐานการผลิตที่มั่งคงและเข้มแข็งมาก ๆ” คือคำยืนยันของจงสฤษดิ์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการนำ App ไหมจุลมาใช้อย่างเต็มที่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจการผลิตเส้นไหมในโลกนี้แข่งขันกันที่ปริมาณและคุณภาพการผลิต โดยขณะนี้ศักยภาพการผลิตเส้นไหมอุตสาหกรรมของจุลไหมไทยครองส่วนแบ่งอยู่ที่ราว 80% ของตลาดในเมืองไทย แต่ถ้าเทียบกับตลาดโลกแล้วอยู่ที่เพียง 0.3% ของยอดรวมเท่านั้น ซึ่งหากสร้างฐานการผลิตให้เข้มแข็งจริง ๆ ดังแผนที่วางไว้ เชื่อว่าในระยะยาวจุลไหมไทยจะสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งราว 5-10% ของตลาดโลกได้

ทั้งนี้จงสฤษดิ์เชื่อว่าด้วย App ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญด้านส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จะถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สามารถผลิตรังไหมป้อนโรงงานของบริษัทได้ถึง 5,000 ตันต่อปีภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่ราว 2,000 ตันต่อปี เพื่อให้สามารถเข้มแข็งและสามารถสู้กับผู้เล่นในตลาดโลกได้จริง เพื่อให้พร้อมไปต่อได้

นอกจากการพัฒนา App ด้านส่งเสริมเกษตรกรแล้ว ทางจุลไหมไทยได้ริเริ่มทำเรื่อง Smart Farm ในด้านของสวนหม่อน หรือการนำนวัตกรรมมาช่วยทดแทนแรงงานคน เนื่องจากมีแนวโน้มที่ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตใบหม่อนต่อไร่ต่อปีให้เพิ่มขึ้นด้วย

ในส่วนโรงเลี้ยงไหมก็ใช้แนวคิดเรื่อง Smart Farm มาปรับใช้เช่นกัน โดยการนำเทคโนโลยีพื้นบ้านที่ไม่ได้ซับซ้อนเกินกว่าที่เกษตรกรจะทำด้วยตัวเองได้ มาปรับสภาพโรงเรือนให้สะอาดและมีอุณหภูมิเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของตัวไหมที่จะได้มีโอกาสรอดสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณรังไหมที่เป็นวัตถุดิบหลัก ที่สุดท้ายจะทำให้รายได้ของเกษตรกรสูงขึ้นตามมา

จากที่ทดลองทำพบว่าแม้เป็นเทคนิคแบบบ้าน ๆ ก็สามารถช่วยได้จริง เพราะเกษตรกรที่ลองทำก็สามารถสร้างกำไรได้สูงกว่าคนที่ไม่ได้ทำ

สำหรับวิวัฒนาการในส่วนอื่น ๆ ที่ จงสฤษดิ์ เตรียมการไว้เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวให้แก่จุลไหมไทย ตัวอย่างเช่น ในส่วนของโรงงานที่แปรรูปรังไหมให้กลายเป็นเส้นไหม ที่เขามองว่าในอนาคตจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Robotics (วิทยาการหุ่นยนต์) มาทดแทนแรงงานคนวัยหนุ่มสาวที่นับวันจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ

รวมไปถึงนำกระบวนการ Design Thinking มาปรับใช้ในส่วนการตลาดเพื่อสามารถให้บริการและตอบโจทย์ฐานลูกค้าที่ยังเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ทอผ้าไหมตามท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาไหมไปยังธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากสิ่งทอ และทำให้ไหมมีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น เช่น การแพทย์ ความงาม เป็นต้น

"มองว่าเรื่อง online จะมีบทบาทมากขึ้น เพราะแม้จะอยู่พื้นที่ชนบทแต่พวกป้า ๆ ที่ทอเส้นไหมก็ใช้ LINE กันอย่างกว้างขวาง จึงใช้เป็นช่องทางสื่อสารการตลาดเช่น ส่งรายการสินค้าได้"

ทั้งนี้ในฐานะผู้ประกอบการในแวดวงค้าไหม จงสฤษดิ์ เชื่อว่าหากสามารถทำให้ต้นทุนในการผลิตไหมต่ำลงแต่คุณภาพเสถียรขึ้น ตลอดจนทำให้การจับจ่ายไหมคล่องตัวขึ้นก็จะเกิดประโยชน์กับภาพรวม เพราะเป็นธุรกิจที่สามารถกระจายรายได้จากคนรวยสู่คนจนได้อย่างชัดเจน


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ปลดล็อกศักยภาพท่องเที่ยวไทยสู่ Global Destination ยกระดับประเทศผ่านเอกลักษณ์และความร่วมมือ

ร่วมวิเคราะห์เชิงลึกจากการเสวนาของคุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และ ดร. วิทวัส สิทธิเวคิน Moderator ใน session นี้ เกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายข...

Responsive image

ความท้าทาย โอกาส และการปรับตัวของประเทศไทย เจาะลึกยุทธศาสตร์นำทัพไทยในพายุภูมิรัฐศาสตร์ 2025

โลกกำลังเผชิญกับ Turbulent Times หรือยุคแห่งความผันผวนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความผันผวนนี้ส่งผลกระทบต่อทุกมิติ ตั้งแต่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไปจนถึงสิ่งแว...

Responsive image

ก้าวสู่สังคมสูงวัย เป็นโอกาสทองของไทยหรือความท้าทายที่ต้องเผชิญ ?

เพราะการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ไปจนถึงการลดลงของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ...