ในขณะที่โลกกำลังหาทางรับมือกับภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์กลับค้นพบ “พระเอกที่ไม่คาดคิด” จากทวีปน้ำแข็งทางใต้สุดของโลก... และมันไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคหรือเทคโนโลยีล้ำสมัยอะไรทั้งนั้น แต่มันคือ “อึเพนกวิน”
งานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้เผยว่า ของเสียจากฝูงเพนกวินนับหมื่นตัวในแอนตาร์กติกา อาจมีบทบาทช่วยชะลอผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้จริงๆ ด้วยกลไกทางธรรมชาติสุดน่าทึ่ง
นักวิทยาศาสตร์พบว่า "อึเพนกวิน" หรือ กวาโน (guano) ที่สะสมอยู่ตามพื้นที่เพาะพันธุ์ขนาดใหญ่ หนึ่งในตัวอย่างก็คือ ฝูงเพนกวินพันธุ์ Adelie กว่า 60,000 ตัว ปล่อย ก๊าซแอมโมเนียออกมาในอากาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าแอมโมเนียจากแหล่งนี้มีความเข้มข้นสูงกว่าค่าปกติถึงพันเท่าในบริเวณที่ลมพัดผ่าน
สิ่งที่น่าสนใจคือ แอมโมเนียสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดเมฆได้ และเมฆเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เหมือนผ้าห่มบางๆ ที่ลอยอยู่บนฟ้า คอยสะท้อนแสงแดดกลับขึ้นไป ไม่ให้พลังงานจากดวงอาทิตย์ลงมาทำให้น้ำแข็งกับทะเลด้านล่างร้อนเกินไป ผลที่ได้คือ น้ำแข็งในแอนตาร์กติกาจะละลายช้าลง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในยุคที่อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นแบบนี้ เพราะในแอนตาร์กติกาไม่มีต้นไม้หรือพืชพรรณมาช่วยสร้างเมฆได้แบบภูมิภาคอื่นๆ การที่มูลของเพนกวินมาช่วยได้นั้น จึงเป็นการเติมช่องว่างทางธรรมชาติได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว น้ำแข็งทะเลของแอนตาร์กติกาอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 เท่าที่มีการบันทึกมา นั่นสะท้อนว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากทะเลที่อุ่นขึ้นกำลังทำให้ระบบนิเวศขั้วโลกสั่นคลอนมากขึ้นทุกปี
ซึ่งถ้าน้ำแข็งก้อนยักษ์เหล่านี้ละลายออกสู่ทะเลจริงๆ จะส่งผลต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาของหมีขั้วโลกหรือเพนกวินอีกต่อไป แต่จะกระทบถึงบ้านเราด้วย
เรื่องนี้ฟังดูเหมือนเรื่องเล็ก แต่จริงๆ แล้วมันคือหลักฐานอีกชิ้นที่ทำให้เราเห็นว่า โลกธรรมชาติที่ซับซ้อนนั้นมีความเชื่อมโยงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตตัวใหญ่หรือตัวเล็ก สิ่งที่เราคิดว่าไม่สำคัญอย่างอึของเพนกวิน ก็อาจเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่ช่วยพยุงระบบของโลกใบนี้เอาไว้
Matthew Boyer หนึ่งในนักวิจัยจากทีมศึกษานี้ กล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “การค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงลึกซึ้งระหว่างระบบนิเวศและชั้นบรรยากาศ ที่ส่งผลต่อสภาพอากาศในพื้นที่ ถ้าโลกเราร้อนขึ้นจริง ระบบนิเวศพวกนี้ก็จะได้รับผลกระทบแบบลูกโซ่”
อ้างอิง: bloomberg
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด