เจาะรากความสำเร็จ Samsung แชโบลตระกูลสำคัญ จากพ่อค้าปลาแห้ง สู่ผู้คุมเศรษฐกิจเกาหลีใต้ | Techsauce

เจาะรากความสำเร็จ Samsung แชโบลตระกูลสำคัญ จากพ่อค้าปลาแห้ง สู่ผู้คุมเศรษฐกิจเกาหลีใต้

เคยได้ยินเรื่องราวของ Samsung จากพ่อค้าปลาแห้ง ที่ไต่เต้าจนกลายมาเป็นผู้คุมเศรษฐกิจของประเทศ กันไหม ?

นี่ไม่ใช่นิยายแต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1938 ของชายชาวเกาหลีที่ชื่อว่า Lee Byung-chul (ลี บยอง ชอล) เจ้าของร้านขายของชำที่มาพร้อมพรสวรรค์ด้านการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็ประสบความสำเร็จไปเสียหมด

ในบทความนี้ Techsauce จะพาไปเจาะว่าทำไมร้านของชำในเมืองเล็ก ๆ ถึงสามารถเติบโตจนกลายมาเป็นผู้คุมเศรษฐกิจของประเทศได้ แท้จริงแล้วมันมาจากความของเก่งของ Lee Byung-chul อย่างเดียวหรือเปล่า?

ผลพลอยได้ของ ‘พ่อค้าปลาแห้ง’ ใต้จักรวรรดิญี่ปุ่น

1938 คือปีที่ Lee Byung-chul ก่อตั้งร้านขายของชำแห่งแรกที่เมืองแทกูในชื่อ Samsung ที่แปลว่า ดาว 3 ดวง ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น และยังเป็นช่วงที่เกาหลีอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่นอีกด้วย (ตั้งแต่ 1910-1945) 

ในภาวะสงครามแบบนี้ คนส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นช่วงที่ไม่เหมาะสมในการทำธุรกิจ แต่สำหรับ Lee Byung-chul เขากลับมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะภายใต้จักรวรรดิญี่ปุ่นเกาหลีได้รับการวาง 3 รากฐานสำคัญในการทำธุรกิจ ได้แก่ กฎหมายก่อตั้งบริษัท, สกุลเงินที่มีมาตรฐาน, และประมวลกฎหมายการค้าแบบเยอรมันสมัยใหม่

จากการศึกษาพบว่า การเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่นทำให้ระบบการทำธุรกิจของเกาหลีดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ตลอดช่วงยุคอาณานิคมของญี่ปุ่นมีจำนวนบริษัทใหม่ในเกาหลีเพิ่มขึ้นถึง 11 เท่า แม้ว่าธุรกิจส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์จะเป็นบริษัทญี่ปุ่นก็ตาม แต่ผลพลอยได้ของเกาหลีก็คือ รากฐานด้านระบบการค้าและการเงินที่ดีนั่นเอง

ด้วยความมีวิสัยทัศน์ของ Lee Byung-chul ที่มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ เพราะในตอนนั้นเมืองแทกูยังไม่ขยายตัวเป็นเมืองใหญ่ ทำให้พอมีช่องว่างสำหรับธุรกิจขายของชำอยู่พอสมควร เขาจึงได้เริ่มมาจับธุรกิจร้านชำที่มีสินค้าหลักอย่างปลาแห้ง ผักผลไม้แห้ง และบะหมี่ที่ทำเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่คนส่วนใหญ่ในเกาหลีต้องการ ณ ช่วงนั้น

วิสัยทัศน์อันก้าวไกลของ Lee Byung-chul ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้คนเกาหลีได้รู้จักกับธุรกิจที่ชื่อว่า Samsung แม้ในตอนนั้นจะเป็นเพียงแค่ร้านขายของชำประจำเมืองก็ตาม และต่อมาธุรกิจร้านชำ Samsung ก็กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างและได้ค้าขายส่งออกสินค้าให้กับเมืองรอบๆ 

เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นถอนกำลังออกจากเกาหลี หลังจากนั้นราว 2 ปี ร้านชำ Samsung ก็ขยายสาขาเข้าสู่กรุงโซลได้สำเร็จ  นับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างมาก

Samsung โบกมือลาธุรกิจของชำ

ใครจะคิดว่าธุรกิจที่กำลังไปได้สวยจะต้องมาหยุดชะงักเพราะ ‘สงครามเกาหลี’ ในปี 1950 จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Samsung ต้องโบกมือลาธุรกิจร้านชำอันรุ่งเรือง และสาขาใหม่ที่ขยายไปยังกรุงโซลก็ต้องปิดลงในปีนี้เช่นเดียวกัน 

สงครามกินเวลานานถึง 3 ปี ทำให้ในตอนนั้นเกาหลีใต้บอบช้ำมาก สูญเสียทั้งบ้านเมือง ประชากร ทหาร และเศรษฐกิจ เมื่อสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง สิ่งแรกที่รัฐบาลเกาหลีใต้มุ่งมั่นทำมากที่สุดก็คือ ‘การฟื้นฟูประเทศ’ เพราะในเวลานั้นเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย

โดยการฟื้นฟูประเทศในครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่เข้ามาพัฒนาคน การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน (ประปา ถนน ทางรถไฟ ฯลฯ) ไปจนถึงให้เงินกู้ที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม, และสิ่งทอ เป็นต้น

Lee Byung-chul ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเดิมจึงหันมาทำธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมหลักด้วยเช่นกัน เริ่มจากโรงกลั่นน้ำตาลในปูซาน ขยายไปสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอและสร้างโรงงานขนสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ขณะนั้น 

การจับธุรกิจที่หลากหลายช่วยกระจายความเสี่ยง และทำให้ Lee Byung-chul กลายเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยมาก จนบริษัท Samsung โตแบบก้าวกระโดดและสามารถขยายไปสู่ธุรกิจประกันภัย หลักทรัพย์ และการค้าปลีกได้ (เพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนโดยตรง ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องการ ซึ่งเมื่อทำธุรกิจประเภทนี้ก็จะมีแต่รวยเอา รวยเอา)

การไต่เต้ามุ่งสู่ ‘ผู้คุมเศรษฐกิจเกาหลีใต้’

ในปี 1960 นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลเริ่มมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้หลากหลาย เพราะในช่วงนี้รัฐบาลเกาหลีต้องการจะปั้นกลุ่มผู้ประกอบการหลักที่จะเข้ามาทำธุรกิจเพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ให้โตอย่างรวดเร็ว 

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการให้คนเพียงแค่กลุ่มหนึ่งเป็นแม่ทัพในการทำธุรกิจ เพื่อที่จะดึงเศรษฐกิจของประเทศให้โตอย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่การกระจายโอกาสให้ทุกๆ คน เนื่องจากเป้าหมายสำคัญคือการฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็วเท่าที่จะทำได้  

ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน Lee Byung-chul ก็ถือเป็นเป็นนักธุรกิจที่มั่งคั่งและมีกิจการหลากหลาย ซึ่งจุดนี้อาจอนุมานได้ว่า Samsung นั้นมีศักยภาพมากพอที่จะช่วยดันเศรษฐกิจเกาหลีใต้ให้โตไวอย่างที่รัฐหวัง 

รัฐบาลเกาหลีใต้จึงได้อัดฉีดงบที่ได้จากสหรัฐ รวมถึงออกนโยบายกีดกันธุรกิจอื่นๆ เพื่อดันให้ Samsung มาเป็นแม่ทัพสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนี้คือยุคที่กลุ่มธุรกิจแชโบลถือกำเนิดขึ้น รวมถึง Samsung ก็เป็นผู้ประกอบการรุ่นแรกของแชโบลด้วยเช่นกัน 

ตั้งแต่ 1960-1980 จึงเป็นปีแห่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่พลิกธุรกิจจากผู้ประกอบการธรรมดา สู่ธุรกิจที่ผูกขาดทั้งเศรษฐกิจเกาหลีใต้

‘อิเล็กทรอนิกส์’ อุตสาหกรรมใหม่เกาหลีใต้ในร่ม Samsung

เมื่อได้ทุนอัดฉีดจากรัฐ Samsung ก็เริ่มมองหาน่านน้ำใหม่ๆ เพราะตอนนี้ธุรกิจค้าปลีกก็มีแล้ว ธุรกิจหลักทรัพย์ก็มีแล้ว หรือแม้แต่ประกันภัยก็มีแล้ว และยังเหลืออุตสาหกรรมไหนที่สามารถดึงเศรษฐกิจเกาหลีใต้และอาจกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของคนในอนาคตอีก?

คำตอบก็คืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ในปี 1960-1980 จึงเป็นช่วงที่ Samsung เริ่มต้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมุ่งเน้นใน 4 แผนกสำคัญ ได้แก่ 

  • Samsung Electronics Devices: แผนกนี้เน้นไปที่การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงโทรทัศน์ วิทยุ และอุปกรณ์ในครัวเรือนอื่นๆ
  • Samsung Electro-Mechanics: ผลิตส่วนประกอบระบบเครื่องกลไฟฟ้า เช่น ตัวเก็บประจุ ตัวต้านทาน และขั้วต่อไฟฟ้า เป็นต้น
  • Samsung Corning: พัฒนาผลิตภัณฑ์แก้วคุณภาพสูงสำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หน้าจอแสดงผลและเลนส์
  • Samsung Semiconductor & Telecommunications: ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคม 

มีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจมากมายที่เข้ามาร่วมมือกับ Samsung และหนึ่งในนั้นก็คือ Sanyo บริษัทอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น เข้ามาจับมือ Samsung ร่วมกันพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้า ปูทางไปสู่การผลิตทีวี ไมโครเวฟ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ 

ในปี 1970 Samsung Electronics ผลิตทีวีขาวดำเครื่องแรกสำเร็จ และได้เริ่มส่งออกไปยังปานามาในปี 1971 ซึ่งขนาดตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องขยายไลน์การผลิต และในปี 1978 บริษัทสามารถผลิตทีวีขาวดำได้ถึง 4 ล้านเครื่อง เป็นการผลิตโทรทัศน์ที่มากที่สุดในโลกในช่วงนั้นเลย 

จนในปี 1980 บริษัทสามารถขยายสาขาไปยังไปยังเยอรมนี โปรตุเกส และนิวยอร์กได้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญไม่ใช่การขยายสาขา เพราะหลังจากดำเนินกิจการในสหรัฐฯได้ 3 ปี Samsung Electronics ในสหรัฐฯ สามารถพัฒนาชิป Dynamic Random-Access Memory (DRAM) ตัวแรกของบริษัทได้สำเร็จ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ประเภทอื่นๆ ต้องมี

ในปี 1984 บริษัทจึงมียอดขายทะลุ 1 ล้านล้านวอน ซึ่งเทียบเท่า 3.4 ล้านล้านวอน ในปัจจุบัน (ประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท) และทำให้ Samsung กลายเป็นผู้นำตลาดในชิปหน่วยความจำในช่วงต้นปี 1990 ซึ่งปี 1993 ก็กลายเป็นผู้ผลิต DRAM ชั้นนำของโลก 

และยังคงครองตำแหน่งในฐานะผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลกจนถึงทุกวันนี้ เพราะแม้แต่ Apple คู่แข่งของ Samsung ก็ยังใช้ชิปชิปหน่วยความจำของ Samsung เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นบริษัทแรกๆ ของเกาหลีใต้ที่เริ่มมาพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเลย

ความสำเร็จมาจากความเก่งของ Lee Byung-chul อย่างเดียว?

หากย้อนกลับที่คำถามตั้งต้นว่า ทำไมร้านของชำในเมืองเล็ก ๆ ถึงสามารถเติบโตจนกลายมาเป็นผู้คุมเศรษฐกิจของประเทศได้ แท้จริงแล้วมันมาจากความเก่งของ Lee Byung-chul อย่างเดียวหรือเปล่า?

ก็อาจพูดได้ว่าที่ Samsung ก้าวมาเป็นผู้คุมเศรษฐกิจเกาหลีได้ส่วนหนึ่งก็มาจากวิสัยทัศน์และความยืดหยุ่นเอาตัวรอดของ Lee Byung-chul ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจและรู้ว่าเมื่อไหร่ธุรกิจไหนควรจบลง และธุรกิจไหนควรไปต่อ 

แต่ความยิ่งใหญ่ของ Samsung และกลุ่มแชโบลทั้งหลายในเกาหลีใต้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีแรงสนับสนุนจากรัฐบาล จุดนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ Samsung ผงาดง้ำค้ำประเทศได้ขนาดนี้ และหากถามว่าประเทศเกาหลีได้ประโยชน์อะไรจากการสนับสนุนกลุ่มแชโบล 

สิ่งที่เห็นชัดมากที่สุดคือเกาหลีหลุดจากประเทศที่อยากจนที่สุด และก้าวขึ้นมาเป็นเสือตัวที่ 4 ของเอเชียที่เศรษฐกิจของประเทศใหญ่ติดอันดับ Top 10 ของโลกได้ แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องแลกมาด้วยการผูกขาดทางเศรษฐกิจของกลุ่มแชโบล จากเรื่องราวของ Samsung ทุกคนคิดว่าในประเทศไทยมีกลุ่มธุรกิจไหนที่คุมเศรษฐกิจของเราแบบนี้อยู่หรือเปล่า ?

อ้างอิง: hse.ru, blogs.lse.ac.uk, ciaotest.cc.columbia.edu, washingtonpost, lifewire, archive.nytimes, businessinsider

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เปิดที่มาคุกกี้กล่องแดง จากเดนมาร์กสู่ของขวัญครองใจคนไทย ตำนานความอร่อยที่ไม่เคยจาง

บทความนี้จะพาคุณย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของคุกกี้กล่องแดงที่มีประวัติความเป็นมายาวนานที่ครองใจผู้คนทั่วโลกมาอย่างช้านาน และมีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับวัฒ...

Responsive image

เจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จของ Mistine ตำนานแบรนด์ขายตรงไทย สู่ผู้นำตลาดครีมกันแดดในจีนมูลค่าหมื่นล้านบาท

เจาะลึกเส้นทางความสำเร็จของมิสทิน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในไทยจนถึงการก้าวสู่ตลาดจีน พร้อมเผยกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชาญฉลาด การสร้างแบรนด์ให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล และการตอบโจทย์ความต้องการข...

Responsive image

ย้อนรอยเส้นทางความสำเร็จของ TSMC จากบริษัทเล็กๆ ในไต้หวัน สู่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเซมิคอนดักเตอร์

ย้อนกลับไปในปี 1987 บนเกาะไต้หวันที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงการเทคโนโลยีในขณะนั้น ใครจะคาดคิดว่าการก่อตั้งบริษัทเล็ก ๆ อย่าง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC จะกลาย...