สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยรายงาน "Global EV Outlook 2018" ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลก ระบุยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเมื่อปี 2017 เพิ่มขึ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว พบจีนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากที่สุดในโลก แต่รถยนต์ไฟฟ้าจากนอร์เวย์กลับครองตลาดทั่วโลกได้มากที่สุด
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (Internation Energy Agency: IEA) เปิดเผยรายงานข้อมูลเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) จากทั่วโลกที่ชื่อว่า "Global EV Outlook 2018" โดยระบุว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเมื่อปี 2017 เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 54 เปอร์เซ็นต์แล้ว เมื่อเทียบกับข้อมูลในปี 2016
ข้อมูลจากรายงานยังบอกอีกว่า ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งทำยอดขายในปี 2017 ได้โตมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2016 แต่กลับครองส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ได้เพียง 2.2 เปอร์เซ็นต์
ในขณะที่ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดของยานยนต์ไฟฟ้าได้มากที่สุดในโลกอยู่ที่ 39.2 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับทำยอดขายได้เพียง 6.4 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเมื่อปี 2017
"ตลาดที่มีปริมาณการผลิต (จีน) และยอดขาย (นอร์เวย์) สูง ต่างมีการผลักดันด้านนโยบายที่แข็งแกร่ง" IEA กล่าว
อย่างไรก็ตาม IEA ยังมองในแง่บวกว่า ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ถึงจะทำให้เติบโตตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และจะทำให้ตลาดของรถยนต์ดีเซล-เบนซินเล็กลงไปในอนาคต
รายงานฉบับกล่าวต่อว่า "การสนับสนุนด้านนโยบายและการลดต้นทุน[การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า] มีแนวโน้มที่จะเพิ่มการเติบโตต่อตลาดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2030 อย่างมีนัยสำคัญ"
นอกจากนี้ยังมองว่า "ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย" ควรให้ความสำคัญกับข้อตกลงสิ่งแวดล้อม พร้อมระบุว่า "จำนวนยานพาหนะที่ใช้งานง่ายในการขับขี่บนท้องถนนจะมี 125 ล้านคันภายในปี 2030"
ด้านสหภาพยุโรป (European Union: EU) ประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Dioxide: CO2) ภายในปี 2030 โดยตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง 40 เปอร์เซ็นต์จากค่าที่วัดไปเมื่อช่วง 1990 และจะผลักดันให้มีการใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย
ซึ่งฝรั่งเศสก็เตรียมยกเลิกการขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน-ดีเซลภายในปี 2040 ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกด้วย
ถึงแม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะใช้แบตเตอรี่เป็นพลังานแทนน้ำมัน ซึ่งช่วยลดการทำลายสภาพแวดล้อมไปได้
แต่ก็มีข้อถกเถียงเกิดขึ้น โดยมีคำถามจากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนว่า การผลิตแบตเตอรี่จำเป็นต้องใช้แร่โคบอลต์ที่หาได้ยากจากประเทศคองโก จะทำให้เกิดการคอรัปชัน จนนำไปสู่การกดขี่ผู้ใช้แรงงานในเหมืองคองโกหรือไม่ตามมาด้วยเช่นกัน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด