กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ หัวเว่ย เทคโนโลยี ประเทศไทย ร่วมเสริมกำลังบุคลากรทางการแพทย์ไทย โดยการส่งมอบโซลูชันผู้ช่วยเทคโนโลยี AI สำหรับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี
คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) ร่วมส่งมอบโซลูชันผู้ช่วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) สำหรับตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แทนรับมอบ
“กระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญกับประชาชนและสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 จึงเร่งนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก และประสบการณ์ในการพัฒนานวัตกรรมรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ในประเทศจีนมาช่วยเสริมประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้กับวงการแพทย์ของไทย โดยนวัตกรรมดังกล่าวคือ โซลูชัน AI บน HUAWEI CLOUD จาก Huawei ที่จะช่วยให้แพทย์สามารถนำมาวินิจฉัยผลตรวจจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยในช่วงเวลานี้ อีกทั้งสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa กล่าวว่า depa ได้ทำงานร่วมกับ Huawei เทคโนโลยี่ ประเทศไทย ในการส่งมอบโซลูชันผู้ช่วย AI สำหรับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว พร้อมรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อในประเทศไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ขณะที่ คุณอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งในวิธีมาตรฐานในการตรวจหา COVID-19 ที่มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งสามารถวินิจฉัยและประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในไทยที่กำลังรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ โดยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) และช่วยลดภาระงานของรังสีแพทย์ อีกทั้งยังช่วยส่งมอบผลตรวจแบบ CT Quantification อย่างอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์นี้ช่วยให้แพทย์นำมาใช้วินิจฉัยผลตรวจ CT ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว โดยสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติของปอด โดยนำข้อมูล CT ของคนไข้ส่งไปบนระบบ CLOUD เพื่อวินิจฉัยโรคและยังสามารถระบุได้ว่าเชื้อ COVID-19 อยู่ในระยะเริ่มต้น ระยะลุกลาม หรือระยะรุนแรง โดยใช้เวลาประมวลผลเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส นับว่าเป็นเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไทยในการรับมือสถานการณ์ในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่คนไข้เข้ามาด้วยอาการหอบเหนื่อยในตอนต้น เพื่อช่วยในการวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงที โดยไม่รอการตรวจในขั้นตอนอื่น ๆ
ก่อนหน้านี้ Huawei เทคโนโลยี่ ประเทศไทย ได้ส่งมอบ “Huawei Telemedicine Video Conference Solution” ระบบนวัตกรรมสื่อสารทางไกลเพื่อการแพทย์ให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของแผนรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยระบบดังกล่าวเป็นระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์แบบเรียลไทม์เต็มรูปแบบที่สามารถช่วยให้การดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยมีความคล่องตัว สามารถตรวจวินิจฉัยได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์มือถือ และที่สำคัญคือช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้แก่ทีมแพทย์ไทยได้อีกด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด