ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่จะเป็นใคร ? บทบาทท่ามกลางความท้าทายของโลกการเงินในบริบทใหม่ | Techsauce

ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่จะเป็นใคร ? บทบาทท่ามกลางความท้าทายของโลกการเงินในบริบทใหม่

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้กับประเทศ โดยบทบาทหน้าที่ของ ธปท. เบื้องต้นนั้นจะเป็นผู้ออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาล กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การกู้ยืมเงินตามการวางนโยบายทางการเงิน  การซื้อขายหลักทรัพย์เท่าที่จำเป็นและแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต เพื่อควบคุมปริมาณเงินในระบบการเงินของประเทศ 

 แบงก์ชาติ

นอกจากนี้ ธปท. ยังมีบทบาทเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงินและรัฐบาล โดยมีอำนาจหน้าที่ในการรับจ่ายเงินเพื่อบัญชีฝากของกระทรวงการคลัง  การรับเก็บรักษาเงิน  หลักทรัพย์ หรือของมีค่าอย่างอื่นเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล  การเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการซื้อขายโลหะทองคำและเงิน รวมถึงเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล  โดยมีอำนาจกระทำการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐบาล จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย  หรืออาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ  สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เป็นต้น 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วในการบริหารงาน และดูแลความเป็นไปของระบบการเงินของประเทศไทยทั้งหมด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย....

ดร.วิรไท ผู้ว่าแบงก์ชาติเดิม ประกาศไม่ลงสมัยที่ 2

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาธปท.ได้มีการประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แทน ดร.วิรไท สันติประภพ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ครบวาระแรกในวันที่ 30 กันยายน 2563 และได้ตัดสินใจไม่ประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกสำหรับการดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 ด้วยเหตุผลด้านครอบครัว

หลังจากนั้น ดร.วิรไท ได้ให้สัมภาษณ์กับทางคุณสุทธิชัย หยุ่น ถึงประเด็นที่ไม่ลงสมัครสมัยที่ 2 ว่า...เป็นเพราะเหตุผลส่วนตัว และการตัดสินใจในครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิกฤต  COVID-19 และเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายเลย ถึงแม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่า  ธปท. แล้ว  ในการช่วยเหลือประเทศชาตินั้นดร.วิรไท มองว่า ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในสังคมไทย เราก็สามารถที่จะมีบทบาทที่จะช่วยได้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

พร้อมกันนี้ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวนั้นคุณสุทธิชัย ได้มีการถามดร.วิรไท ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจไม่ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าตำแหน่งที่ 2 ว่าแรงกดดันการแก้วิกฤติ COVID-19 ในครั้งนี้มีส่วนหรือไม่ ดร.วิรไท ให้คำตอบว่า "จริงๆ แล้วในบทบาทของการเป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารระดับสูงของประเทศต้องเผชิญแรงกดดันโดยตลอด ธนาคารกลางก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันค่อนข้างมาก เพราะเรานั่งอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ ทุกอย่างที่ธนาคารกลางตัดสินใจ มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ย เรื่องค่าเงิน เรื่องมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน LTV ต่างๆ มันมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นเรื่องนี้คงไม่ใช่เฉพาะตอนเกิดเรื่องโควิดเท่านั้น เป็นเรื่องที่นักธนาคารกลางต้องเผชิญตลอด

ส่วนเรื่องแรงกดดันทางการเมือง นั้นหากพูดกันในหมู่นักธนาคารกลาง ไม่เฉพาะในเมืองไทย มันเป็นส่วนหนึ่งของภาระหน้าที่ (part  of the job description) แล้ว ไม่ว่าเราจะอยู่ประเทศไหน ถ้าเรามีเจตนาที่ดีเหมือนกันทั้งฝั่งของรัฐบาลและธนาคารกลาง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน เพราะว่าระยะเวลาของการมองต่างกัน การเมืองเขาก็จะมองระยะเวลาของการเลือกตั้งเช่น 4 ปี และประเทศไหนที่การเมืองไม่มั่นคงก็ยิ่งมองสั้นกว่านั้นอีก 

ดังนั้นการเมืองก็จะหวังผลระยะสั้นๆ แต่ธนาคารกลางมีหน้าที่ดูแลเรื่องเสถียรภาพ เสถียรภาพเป็นแนวคิดระยะยาว เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่เป็นจุดเปราะบางที่จะนำไปสู่ปัญหาในระยะยาวหรือไปเกิดวิกฤติในระยะยาว เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีเจตนาที่ดีเหมือนกัน แต่ก็จะมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นปัญหาของทุกธนาคารกลาง"

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 5  ปีที่ผ่านมาในการดำรงตำแหน่งของผู้ว่า ธปท.ของดร.วิรไท ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ผ่านการผลักดันระบบพร้อมเพย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการโอนเงินและการชำระเงินต่างๆ รวมทั้งยังผลักดันให้ ธปท. เริ่มทดลองใช้เงินดิจิทัลผ่านโครงการอินทนนท์ 

และปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ซึ่งได้เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ส่งผลต่อเสียระบบเศรษฐกิจและการเงินเป็นอย่างมาก จนทำให้ทางธปท.ได้มีการออกนโยบายการเงินที่ถือเป็นการฉีกตำราการเงินทั้งหมดที่เคยมีมา โดยเฉพาะการตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund หรือ BSF) 

ยุทธศาสตร์ใหม่ภายใต้ผู้ว่าคนใหม่ และประเทศไทยในบริบทใหม่

แบงก์ชาติได้มีการปรับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) : ธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง โดยระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) ธปท.ได้มุ่งไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจการเงินให้มีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืนทั่วถึง พร้อมปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อรองรับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ

ทั้งนี้ในระยะเวลาอีก 3-5 ปีข้างหน้า ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมดังกล่าวที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รูปแบบธุรกิจ บริการทางการเงิน และระบบเศรษฐกิจ (disruptive technology) เป็นตัวเร่งสำคัญ นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจสังคมไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการสะสมปัญหาเชิงโครงสร้างและความเปราะบางของสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มากขึ้นด้วย 

แบงก์ชาติ

โดยความท้าทายของระบบการเงินนั้น มี 7 ประเด็น ได้แก่...

  • ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว 
  • กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันกับความเสี่ยง และสภาพแวดล้อมใหม่
  • นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องคำนึงถึงขีดจำกัด โดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
  • อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูง และการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของภาคเอกชนจะมีความสำคัญมากขึ้น
  • ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน 
  • การดำเนินงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่หลีก เลี่ยงไม่ได้
  • การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายขึ้น

การวางรากฐานสำคัญขององค์กร 3 ประการ...

  • รากฐานสำคัญที่ 1 ปลดล็อกและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานให้เป็นพลังขององค์กร
  • รากฐานสำคัญที่ 2 ปรับวัฒนธรรมองค์กรและกระบวนการทางานไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูง
  • รากฐานสำคัญที่ 3 ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในทุกกระบวนการทำงาน 

(อ่านแผนยุทธศาสตร์ฉบับเต็มได้ที่นี่)

ความท้าทายของการดูแลเศรษฐกิจ-การเงิน ในสภาวะ New Normal

การเข้ามารับตำแหน่งของผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่นั้น ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่มีความท้าทายสูงมาก จากการที่บริบทต่างๆทั่วโลก ได้ถูกปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและรุนแรงเป็นอย่างมาก ซึ่งเราต่างก็ได้เห็นการงัดเครื่องมือทางการเงินต่างๆของผู้ดูแลระบบเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละประเทศออกมาใช้กันอย่างแสนสาหัสจากวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ เพราะทุก ๆ ครั้งที่เกิดวิกฤต หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ภาวะ New Normal หรือความปกติรูปแบบใหม่ 

ซึ่งถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว...สภาวะเศรษฐกิจโลก ที่จะมีอัตราการเติบโตชะลอตัวลงจากในอดีตและเข้าสู่อัตราการเติบโตเฉลี่ยระดับใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม ควบคู่ไปกับอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความผันผวนทางเศรษฐกิจจะไม่ได้เป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจเดิมแบบที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปหรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในลักษณะที่แตกต่างจากในอดีต

โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงเกิดจาก 3 สาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว ได้แก่ 1.) การใช้จ่ายทางการคลังจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยยอมให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น ซึ่งต้องชดเชยด้วยอัตราการเติบโตระดับต่ำในภายหลัง 2.) การกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น (re-regulation) หลังเกิดวิกฤติทั้งด้านการคลังและในตลาดเงิน จนนำมาสู่อัตราทดและผลตอบแทนทางการเงินที่ลดต่ำลง (deleveraging) และ 3.) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตในแต่ละเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับทรัพยากรและความต้องการภายในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต และลดการพึ่งพาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่อาจมีมากเกินไป

ลุ้นเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ เป็นใคร คนนอก หรือ คนใน...?

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครคัดเลือกผู้ว่า ธปท. คนใหม่ และได้มีกระแสข่าวระบุถึงผู้ที่มีคุณสมบัติครบ และมีความเหมาะสมว่าเป็นผู้ท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่า ธปท. ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปฏิเสธข่าวลือกับทางประชาชาติธุรกิจเป็นที่เรียบร้อย พร้อมทั้งกล่าวอีกว่ายังสนุกกับงานที่กรมสรรพกรอยู่ 

และมีกระแสถึงดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หนึ่งในกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งไม่ได้มีการปรากฏว่ายื่นใบสมัครแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีกระแสอีกว่า ดร.สันติธาร เสถียรไทย ผู้บริหาร Sea Group ลงสมัครชิงตำแหน่งดังกล่าวด้วย แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ออกมาปฏิเสธกับทาง สำนักข่าวมติชน โดยระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ปรารถนาดีให้ข้อคิดว่าควรสมัครแต่ตนนั้นยังสนุกกับงานที่ทำอยู่ที่ Sea Group แต่ถ้าหากมีอะไรที่จะช่วย ธปท. หรือประเทศไทยในการช่วยคิด ให้ความเห็นจากมุมมองของภูมิภาคด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีก็ยินดีเสมอ

หลังจากที่มีข่าวลืออย่างไม่เป็นทางการถึงการคาดเดาการลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่า ธปท. ไปนั้นล่าสุดได้มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีผู้ยื่นสมัครคัดเลือกผู้ว่า ธปท. 4 ราย เป็นคนใน 2 ราย และคนนอก 2 ราย สำหรับคนนอกที่สมัครไม่มีชื่อ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่เป็นตัวเต็งมีคุณสมบัติเป็นผู้ว่า ธปท. คนใหม่ ตามที่เป็นกระแสข่าวก่อนหน้านี้

ขณะที่คนในที่สมัครหนึ่งในนั้นมีชื่อของ คุณเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.

อย่างไรก็ตาม คุณรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท. จะประชุมเพื่อคัดสรรผู้เหมาะสมอีกครั้ง เพื่อทำงานต่อจากดร.วิรไท ที่จะหมดวาระในตำแหน่ง 5 ปี ในเดือนกันยายน นี้



ขอบคุณข้อมูลจาก BOT , SCBEIC ,Prachachat , Khaosod ,Matichon ,Bangkokbiznews 



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สภาดิจิทัลฯ ผนึกกำลังรัฐบาล ตั้งเป้าดันไทยสู่ Digital Hub แห่งอาเซียนภายใน 3 ปี

ในขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเร่งพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล ประเทศไทยก็ไม่ยอมนิ่งนอนใจ ล่าสุดสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ) นำโดย ...

Responsive image

OpenAI ท้าชน Google เปิดตัว ChatGPT Search พลัง AI ใช้ง่าย แม่นยำ ทันสมัย พร้อมใช้งานวันนี้

OpenAI เปิดตัวฟีเจอร์ค้นหา ChatGPT Search ท้าชน Google ในตลาด Search Engine ด้วยความสามารถที่ใช้งานง่าย รวดเร็ว แม่นยำและให้ข้อมูลที่ทันสมัย พร้อมให้ใช้งานจริงได้แล้ววันนี้!...

Responsive image

ทำไมสิงคโปร์ ถึงกลายเป็นที่ลงทุนด้าน Deep Tech จากทั่วโลก ?

แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงที่การลงทุนเกิดการชะลอตัว แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘สิงคโปร์’ ที่กำลังผงาดขึ้นอย่างเงียบๆ ในฐานะศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน “Deep Tech” ซึ่งเป็...