สรุปกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2564 ของ 6 ธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ในไทย | Techsauce

สรุปกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2564 ของ 6 ธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ในไทย

ประกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อยสำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ วันนี้ Techsauce จะมาสรุปและรวบรวมให้ดูว่า ไตรมาสแรกของ 6 ธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ในไทยจะเป็นอย่างไรกันบ้าง กับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 

สรุปกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2564 ของธนาคารพาณิชย์

ธนาคารกรุงเทพ 

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลประกอบการไตรมาส1/2564  ธนาคารฯมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,923 ล้านบาท ลดลง 9.8% จากไตรมาส 1/2563 ที่ทำได้ 7,670 ล้านบาท เนื่องจาก ธนาคารฯมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงถึง 15,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 จากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตาเข้ามา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนและมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 6,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 เพื่อเตรียมความพร้อมตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตามธนาคารฯมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 4,525 ล้านบาท จากไตรมาส 4/2563  โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินรับฝากลดลงจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.17  สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากค่าธรรมเนียมการให้บริการกองทุนรวมและบริการประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์  ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง  ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 51.1 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 6,326 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง 

ธนาคารกรุงไทย

ธนาคารกรุงไทยและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/2564 เท่ากับ 5,578 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.73 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,466 ล้านบาท เนื่องจาก รายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงร้อยละ 13.0 ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมาส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) ลดลงเป็นร้อยละ 2.50 จากร้อยละ 3.14 ในไตรมาส 1/2563 ทั้งนี้ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยายตัวดีทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ ซึ่งขยายตัวจากค่าธรรมเนียมการจัดการ และค่าธรรมเนียมการรับรอง อาวัลและค้ำประกัน และรายได้จากการดำ เนินงานอื่น ประกอบกับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่ลดลงร้อยละ 5.8 โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 44.25 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 43.49 ในไตรมาส 1/2563

ธนาคารกรุงศรี 

ธนาคารกรุงศรีรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2564 มีกำไรสุทธิ จำนวน 6,505 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 92.2% หรือจำนวน 3,120 ล้านบาทจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Management Overlay) ในไตรมาสก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิปรับตัวลดลง 7.5% หรือจำนวน 528 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ

คุณเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภายใต้นโยบายการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบระมัดระวังของกรุงศรี ในท่ามกลางสภาวะการณ์ที่ท้าทาย พอร์ตสินเชื่อเพื่อธุรกิจของธนาคารยังคงเติบโตที่ 1.63% ในไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนในด้านสภาพคล่องและสินเชื่อให้แก่ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม”

ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย งานผลประกอบการไตรมาส 1/2564 มีกำไรสุทธิ 10,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3,252 ล้านบาท หรือ 44.10% หลัก ๆ เกิดจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 1,923 ล้านบาท หรือ 19.30% เป็นผลจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to Market) ของสินทรัพย์ทางการเงินตามภาวะตลาด และค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 950 ล้านบาท หรือ 5.44% จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.30% รวมทั้ง ธนาคารและบริษัทย่อยมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,650 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3,222ล้านบาท หรือ 27.14% โดยยังคงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ของโควิด-19  

ธนาคารทหารไทย

ธนาคารทหารไทยประกาศกำไรสุทธิ อยู่ที่ 2,782 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 33.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 4,163 ล้านบาท เนื่องจาก ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นจำนวน 12,872 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ในไตรมาส 1/2564 ลดลง 12 bps จากร้อยละ 3.12 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการลดลงของ NIM มีปัจจัยหลักมาจากอัตราผลตอบแทนเงินให้สินเชื่อลดลงและส่วนหนึ่ง มาจากการทบทวนรายปีในการปรับประมาณการทางบัญชีของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR)สำหรับพอร์ตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสะท้อนการแข่งขันและพฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกค้าสุทธิด้วยต้นทุนเงินฝากที่ลดลงจากการปรับโครงสร้างงบดุลให้มีความเหมาะสม 

ธนาคารไทยพาณิชย์  

ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานผลประกอบการไตรมาส1/2564 ธนาคารฯมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 10,087 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.04   ที่ทำได้ 9,250  ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากความแข็งแกร่งของธุรกิจในการขยายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และความมุ่งมั่นในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

โดยไตรมาส1/2564 ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 14,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อย 21.2 จากปีก่อน การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเป็นผลของการขยายฐานรายได้ของธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และการรับรู้กำไรตามราคาตลาดในปัจจุบันของพอร์ตการลงทุนของธนาคารและบริษัทในเครือ

ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 15,101 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดลงของต้นทุนในการให้บริการจากการใช้ช่องทางดิจิทัลที่มากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในไตรมาส 1 ของปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นอย่างเด่นชัดเป็นร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ 44 ในปีก่อน




แหล่งที่มา : ตลาดหลักทรัพย์ฯ





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สินค้าจีนบุกสิงคโปร์ ฐานที่มั่นใหม่ทดลองตลาดโลก มุ่งหาแหล่งรายได้ใหม่ เหตุเศรษฐกิจจีนซบเซา

สมรภูมิใหม่ของการค้าโลกกำลังระอุ เมื่อแบรนด์จีนเลือก สิงคโปร์ เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ สิงคโปร์กำลังจะเป็นฐานทดลองเพื่อขยายธุรกิจจีนสู่ตลาดโลก เนื่องจากผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกและตะวั...

Responsive image

เปิด 7 ข้อเสนอ สมาคมสตาร์ทอัพไทย เร่งรัฐบาลใหม่หนุน Startup Ecosystem

สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) ประกาศวิสัยทัศน์และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลชุดใหม่ หวังผลักดันให้ประเทศไทยใช้จุดแข็งด้านสุขภาพ อาหาร และการท่องเที่ยว สร้างความได้เปรียบในต...

Responsive image

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า (EVAT) เปิดตัวนายกฯ คนใหม่ ตั้งเป้าดันไทยศูนย์กลางผลิต-ส่งออก EV อันดับต้นใน SEA

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เปิดตัวนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และคณะกรรมการชุดใหม่นาทัพโดยนาย สุโรจน์ เเสงสนิท พร้อมประกาศเดินหน้าผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกยานยนต...