กรมสรรพากรพร้อมพันธมิตร ได้แก่ กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ธนาคารกรุงไทย ฯลฯ นำระบบเทคโนโลยี Blockchain มาให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวผ่าน Mobile Application ที่แรกของโลก (The World’s First VAT Refund for Tourists App powered by Blockchain)
คุณอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital อย่างเต็มรูปแบบสำหรับการนำระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวผ่าน Mobile Application ของกรมสรรพากรและพันธมิตร เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง 4 หน่วยงานกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินงานโครงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพระบบงาน นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้การพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าให้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
คุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากท่าอากาศยานนานาชาติทั้ง 10 แห่ง และตัวแทนให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมืองที่กรมสรรพากรได้อนุมัติ อย่างไรก็ดี จากสถิติการคืนภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2562) พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นสูงถึงกว่า 6 เท่า จาก 352,000 ราย ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 2.6 ล้านราย ในปี 2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มูลค่าการซื้อสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า จาก 10,900 ล้านบาท ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 46,000 ล้านบาทในปี 2562
ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวให้สามารถคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และปลอดภัย กรมสรรพากรได้นำระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้นักท่องเที่ยวผ่าน “Application Thailand VRT” ระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แบบ Digital เต็มรูปแบบ อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบข้อมูลการซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งข้อมูลการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน Click เดียวตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้ร่วมกับกรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และธนาคารกรุงไทยฯ พัฒนาระบบ Web Application เพื่อให้สามารถทำงานได้แบบ Paperless ในการตรวจสอบข้อมูลและยืนยันสถานะสินค้าที่ได้มีการนำออกนอกประเทศ และเปิด API ให้ร้านค้าสามารถส่งข้อมูลการซื้อสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยวเข้าสู่ระบบเพื่อการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรได้ นับว่าเป็นการพัฒนาระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวแบบ Digital เต็มรูปแบบ
คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง โดยในส่วนของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับกรมสรรพากรในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยว ผ่าน Application Thailand VRT นั้น ปัจจุบันพร้อมใช้งาน และธนาคารได้ร่วมกับกรมสรรพากรในการเชื่อมต่อกับร้านค้าต่างๆ โดยคาดว่าภายในไตรมาสแรกของปีนี้จะมีผู้ประกอบการร้านค้าอีกประมาณ 5,000 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ Vat Refund for Tourists พร้อมเข้าสู่ระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยว
“ธนาคารเชื่อมั่นว่า ระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของธนาคาร จะช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความพึงพอใจให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ธนาคารนำมาใช้นั้นมีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบการได้รับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวเลือกไว้ ไม่ว่าจะเป็น Alipay WeChat บัตรวีซ่า มาสเตอร์การ์ด เจซีบี และยูเนี่ยนเพย์ นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ร่วมลงนามกับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมสรรพากร กรมศุลกากร ในการเพิ่มช่องทางสื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการ Vat Refund for Tourists ภายใต้ภารกิจของกรมสรรมพากร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น"
คุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่าการบูรณาการความร่วมมือของ 4 หน่วยงานประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และธนาคารกรุงไทยฯ โดยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) นี้ เป็นต้นแบบของการบูรณาการการทำงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างแท้จริง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวก ลดระยะเวลาการดำเนินการ ลดค่าใช้จ่ายการบริการภาครัฐ และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด