'อเล็กซานดรา ไรช์' CEO หญิงคนแรกของ dtac กับภารกิจที่ไม่ง่าย | Techsauce

'อเล็กซานดรา ไรช์' CEO หญิงคนแรกของ dtac กับภารกิจที่ไม่ง่าย

ยุคของ 4G ที่เริ่มต้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อาจเป็นช่วงที่ไม่ง่ายเลยสำหรับ dtac ที่ไม่สามารถประมูลคลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz มาได้ คลื่น 850MHz ที่ใกล้จะสิ้นสุดสัมปทานก็ยังไม่มีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน รวมทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร รวมทั้ง CEO คนล่าสุดอีกด้วย ความท้าทายนี้ตกไปอยู่ที่ 'อเล็กซานดรา ไรช์' ผู้หญิงคนแรกที่นั่งตำแหน่ง CEO ของ dtac

อเล็กซานดรา ไรช์เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 การเข้ารับตำแหน่งครั้งนี้ก็มาพร้อมกับการแบกรับวิกฤติหลายเรื่อง โดยเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นล่าสุดคือความไม่ชัดเจนของคลื่น 850 MHz ที่กำลังจะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 กันยายนนี้ นั่นคือจำนวนผู้ใช้งานกว่า 4 แสนเลขหมายที่ dtac มีอยู่ และด้วยความไม่ชัดเจนนี้ dtac นำโดย อเล็กซานดรา มาชี้แจ้ง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา

มาตรการเยียวยาในอดีต

คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ True และ DPC (บริษัทในเครือ AIS)

ในปี 2556 คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ TRUE และ DPC (บริษัทในเครือ AIS) สิ้นสุดสัมปทาน กสทช. ได้ออกประกาศมาตรการเยียวยาฯ โดยให้ผู้ใช้บริการของ TRUE และ DPC (บริษัทในเครือ AIS) ได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 1 ปีหลังจากสิ้นสุดสัมปทาน

ในช่วงเวลาที่ผู้ใช้บริการได้รับความคุ้มครองอยู่นั้น คสช. ได้มีคำสั่งให้ชะลอการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี โดยให้นำมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ มาใช้บังคับในระยะเวลาที่ระหว่างที่ชะลอการประมูล และเมื่อระยะเวลาที่ถูกขยายตามคำสั่ง คสช. ดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดลง คสช. ก็ได้สั่งการให้ กสทช. คุ้มครองผู้ใช้บริการต่อไปจนกว่าการประมูลจะสิ้นสุดลง จนในที่สุดได้สิ้นสุดลงในปี 2558 เมื่อ TRUE และ AIS ชนะการประมูล รวมระยะเวลาที่ TRUE และ DPC ให้บริการต่อไปตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ เป็นเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 2 เดือนหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ AIS

เมื่อคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ AIS สิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2558 AIS ก็ได้เข้าสู่ประกาศมาตรการเยียวยาฯ โดยอัตโนมัติเนื่องจากยังไม่มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามารับช่วงต่อคลื่นความถี่ดังกล่าว หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ขึ้น โดย TRUE และ JAS Mobile เป็นผู้ชนะการประมูล และเมื่อ TRUE ได้รับใบอนุญาตแล้ว กทค. ได้มีคำสั่งให้ AIS ยุติการให้บริการในวันถัดมา  AIS จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติ กทค. ประกอบกับ JAS Mobile ได้ทิ้งใบอนุญาต ส่งผลให้ผู้ใช้บริการของ AIS ได้รับความคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ต่อไป จนกระทั่งมีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz อีกครั้งเสร็จสิ้นในปี 2559 และ AIS ชนะการประมูล รวมระยะเวลาที่ AIS ให้บริการต่อไปตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ เป็นเวลาทั้งสิ้น 8 เดือนหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

มาตรการเยียวยาฯ ผู้ใช้บริการของ dtac?

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ TRUE และ DPC (บริษัทในเครือ AIS) และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ AIS จะเห็นได้ว่า ผู้ใช้บริการของทั้งสองคลื่นความถี่ล้วนได้รับความคุ้มครองให้สามารถใช้บริการต่อเนื่องต่อไปได้ตามปกติ จึงเกิดคำถามว่าแล้วเหตุใดผู้ใช้บริการ dtac จึงไม่ควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกันกับผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการรายอื่นทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน?

หากจะมองว่าการที่ TRUE และ DPC ได้รับความคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ เพราะยังไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน ทำให้ผู้ใช้บริการอาจไม่สามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่องได้นั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว dtac ยังคงให้บริการอย่างเดียวกันบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เช่นเดียวกัน จึงไม่ใช่กรณีที่ผู้ใช้บริการไม่มีทางเลือกอื่นใดในการจะใช้บริการอย่างต่อเนื่องได้ แต่เมื่อผู้ใช้บริการไม่ประสงค์ที่จะย้ายค่าย ผู้ใช้บริการของ TRUE และ DPC ก็ได้รับความคุ้มครองให้สามารถใช้บริการต่อไปได้ ผู้ใช้บริการของ dtac ที่ไม่ประสงค์จะย้ายค่ายก็ควรได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมายังมีกระแสข่าวว่า dtac ไม่ยอมเข้าร่วมประมูล จึงไม่ควรมีการบังคับใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ กับกรณีของ dtac ข้อเท็จจริงก็คือ คลื่นความถี่ที่ dtac ถือครองอยู่เป็นคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz แต่การจัดประมูลเป็นการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งเป็นคนละคลื่นความถี่กัน ประกอบกับที่ผ่านมามีความไม่แน่นอนในการจะนำคลื่นความถี่ใดออกประมูลหรือไม่ออกประมูลมาโดยตลอด dtac จึงไม่อาจทราบได้แน่ว่าจะมีการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูลหรือไม่อย่างไร ดังนั้น แม้ dtac จะเข้าร่วมและชนะการประมูลดังกล่าว dtac อาจต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 2 ปี เพื่อเตรียมการสำหรับให้บริการบนคลื่นความถี่ใหม่ ผู้ใช้บริการของ dtac จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ในระหว่างที่ dtac ยังไม่พร้อมเริ่มให้บริการเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ยังมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว พร้อมทั้งติดตั้งระบบป้องกันการกวนสัญญาณทั้งหมด อีกทั้ง กสทช. ยังสงวนสิทธิ์ปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นความถี่ได้กรณีจำเป็น ฯลฯ ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ทั้งหมดก่อให้เกิดต้นทุนสูงมากและไม่มีใครสามารถระบุได้แน่นอนว่าจำนวนเงินที่แท้จริงจะเป็นเท่าใด อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนหากมีการปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นอาจทำให้ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด ความเสี่ยงดังกล่าวจึงทำให้ dtac ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เช่นเดียวกันกับที่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมการประมูลเช่นกัน  

DTAC จะได้ใช้คลื่น “ฟรี” จริงหรือ?

ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ผู้ให้บริการไม่สามารถรับลูกค้ารายใหม่เพิ่มได้ในขณะที่ยังคงต้องให้บริการอย่างต่อเนื่องและต้องรักษาคุณภาพการให้บริการให้คงเดิม และยังมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์แจ้งระยะเวลาสิ้นสุดความคุ้มครอง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการโอนย้ายออกจากระบบไปยังผู้ให้บริการรายอื่น และเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการ รับภาระค่าใช้จ่ายในการพัฒนาช่องทางและเพิ่มประสิทธิภาพในการโอนย้ายเลขหมาย และยังได้กำหนดอีกว่าให้ผู้ให้บริการเป็น “ผู้รับชำระเงินรายได้จากการให้บริการแทนรัฐ” ซึ่งก็หมายความว่ารายได้ระหว่างการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ตกเป็นของรัฐ ผู้ให้บริการเป็นเพียงผู้รับรายได้แทนรัฐเท่านั้น เมื่อได้รับรายได้มา ผู้ให้บริการทำได้เพียงหักต้นทุนค่าใช้จ่ายและนำส่วนที่เหลือส่งเข้ารัฐเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป จึงจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากมาตรการเยียวยาได้ คำกล่าวที่ว่า “dtac ใช้คลื่นฟรี” จึงไม่เป็นความจริง ในทางตรงกันข้าม การคุ้มครองตามมาตรการเยียวยาเป็นไปเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์ ไม่ประสบภาวะ “ซิมดับ” และสามารถใช้บริการต่อเนื่องต่อไปได้เท่านั้นเอง

ความเห็นกองบรรณาธิการ

CEO หญิงคนแรกของ dtac คงต้องเหนื่อยทีเดียวกับการสานต่อยุคของ 4G และการเตรียมเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5G ซึ่งอาจไม่ใช่ยุคที่รุ่งโรจน์นักสำหรับ dtac ทั้งเรื่องของคลื่นที่ถืออยู่ในมือที่มีน้อยกว่าอีก 2 ค่าย และปัญหาการเปลี่ยนแปลงภายใน และสำหรับกรณีของคลื่น 850 MHz ที่อาจไม่ได้รับมาตรการเยียวยา ซึ่งจากทิศทางการออกมาชี้แจงแล้ว คาดว่าต้องมีการกระทบกระทั่งกับด้านกสทช. อีกไม่น้อย ทั้งอาจมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป ที่สุดแล้วไม่ว่าฝ่ายใดจะกระทำการใด กว่า 4 แสนเลขหมายซึ่งก็คือผู้บริโภคไม่ควรตกอยู่จำเลยของเหตุการณ์นี้และควรได้รับประโยชน์สูงที่สุด

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Gartner คาดการณ์ความท้าทายองค์กรยุค AI พนักงานอาจเจอปัญหาเสพติดดิจิทัล โครงสร้างองค์กรอาจเปลี่ยนไป

Gartner บริษัทวิจัย และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เผยการคาดการณ์กลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2025 โดยชี้ให้เห็นว่า Generative AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ และจะส่งผลกระทบต่อการทำงา...

Responsive image

จุดสีส้มบน iPhone และจุดสีเขียวบน Android หมายความว่าอย่างไร ?

รู้หรือไม่? จุดสีส้มบน iPhone และจุดสีเขียวบน Android บ่งบอกว่ากล้องหรือไมโครโฟนกำลังทำงาน ควบคุมความเป็นส่วนตัวของคุณด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ที่ต้องรู้!...

Responsive image

สรุปอนาคตงานปี 2025-2030 จาก World Economic Forum งานไหนมาแรง ทักษะใดสำคัญ

World Economic Forum ออกรายงานประจำปีในหัวข้อ Future of Jobs Report 2025 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคตโดยอ้างอิงข้อมูลจากนายจ้างกว่า 1,000 รายทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวแทนของพ...