กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนร้องรัฐบาล ให้ใช้มาตรการ ‘เข้มงวดที่สุด’ ตอบโต้ยุโรป หลัง EU ตัดสินใจขึ้นภาษีรถไฟฟ้าจีนถึง 38.1 %
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 มิถุนายน) กลุ่มผู้ผลิตรถ EV จีนได้ขอเปิดประชุมลับกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีผู้ผลิตรถจีน 4 รายและผู้ผลิตจากยุโรป 6 ราย รวมถึงตัวแทนจากอุตสาหกรรมและการวิจัยเข้าร่วมการประชุมนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดมาตรการโต้กลับในระดับรุนแรงที่สุด ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากยุโรป 25% สำหรับรถที่เครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่า 2.5 ลิตร
ตามที่สื่อรายงาน การประชุมดังกล่าวมีผู้ผลิตรถยนต์เจ้าใหญ่ของจีนและยุโรป มีชื่อของ BYD, BMW, Volkswagen และ Mercedes-Benz ร่วมด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการประชุมก็เพื่อกดดันสหภาพยุโรปและล็อบบี้ค่ายรถใหญ่เพื่อต่อต้านการปรับขึ้นภาษีจากฝั่งยุโรป
สัปดาห์ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเพิ่มขึ้น 38.1% จากฐานเดิมอยู่ที่ 10% โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเป็นการปกป้องกลุ่มผู้ผลิตในสหภาพยุโรป (EU) จากมาตรการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมของจีน หลังสอบสวนพบว่า ผู้ผลิตจีนได้ประโยชน์จากการให้เงินอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐบาล และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต EV ในยุโรป
โดยผู้ผลิต EV ของจีน อาทิ BYD จะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 17.4% บริษัท Geely จะถูกเก็บ 20% และ บริษัท SAIC (เจ้าของแบรนด์ MG) จะถูกเก็บสูงถึง 38.1% โดยจะถูกเรียกเก็บในอัตรามากน้อยต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับระดับความร่วมมือกับการสอบสวน
ด้านวิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ว่า หากจีนมีการวางมาตรการตอบโต้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะถัดไป เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าหลักของ EU (10% ของการส่งออกทั้งหมดของ EU และ 23% ของการนำเข้าทั้งหมด หรือคิดเป็น 1.4% และ 3.9% ของ EU GDP ในปี 2565 ตามลำดับ)
ทั้งนี้ นอกเหนือจากผลกระทบของสงครามการค้ากับจีนที่อาจผลักดันให้ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อภาคบริการและค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีความระมัดระวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยวิจัยกรุงศรีประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2567 จะลดลงอีก 2 ครั้งในปีนี้
อ้างอิง : Bloomberg , Reuters , วิจัยกรุงศรี
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด