สภาดิจิทัลฯ สกสว. บพข. ร่วมทำ MOU ดัน ‘วิจัย-นวัตกรรม-ดิจิทัล-AI’ มุ่งสู่ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล | Techsauce

สภาดิจิทัลฯ สกสว. บพข. ร่วมทำ MOU ดัน ‘วิจัย-นวัตกรรม-ดิจิทัล-AI’ มุ่งสู่ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล

ความร่วมมือใหม่ๆ ด้านนวัตกรรมและ AI เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน ล่าสุด สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว. หรือ TSRI) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข. หรือ PMUC) ร่วมลงนามใน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ เพื่อผนึกกำลังผลักดัน 'งานวิจัย-นวัตกรรม-ดิจิทัล-เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์' หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพาไทยก้าวสู่ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับพิธีลงนาม MOU เสริมแกร่งเศรษฐกิจดิจิทัลไทยด้วยงานวิจัย นวัตกรรม ดิจิทัล และ AI ผลักดันไทยสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และเศรษฐกิจดิจิทัลในเวทีโลก ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ณ อาคารสุทธิ ชั้น 4 สภาดิจิทัลฯ มีผู้ร่วมลงนาม ดังนี้

  • ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท
    ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
  • ดร.วีระ วีระกุล 
    รองประธานสภาดิจิทัล และประธานพันธกิจด้านการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค
  • รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ 
    รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
  • รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์
    ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ในด้านเป้าหมายของการลงนามความร่วมมือดังกล่าว ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวถึงสภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐบาล และภาคประชาชน ซึ่งมีหน้าที่ในการผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงร่วมมือกับ สกสว. และ บพข. ในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้และผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไทยอย่างยั่งยืน

ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวต่อถึงเป้าหมายสำคัญในการยกระดับผู้ประกอบการดิจิทัลและประชาชนไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยสภาดิจิทัลฯ มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันผลักดันงานวิจัยสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ อันจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จะช่วยเปิดโอกาสในการสร้างรายได้ เพิ่มความมั่นคงทางเทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลภายในประเทศ ซึ่งล้วนส่งผลต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจในด้านการจัดทำนโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยร่วมผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างยั่งยืน โดยการจัดทำกรอบวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ตามแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 - 2570 นอกจากนี้ สกสว.ยังสนับสนุนระบบและกลไกการนำผลงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมของประเทศ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะนำพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสำเร็จ

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย และการสนับสนุนทุนวิจัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งนี้ บพข. จะร่วมมือกับสภาดิจิทัลฯ ในการกำหนดกรอบวิจัย งบประมาณวิจัย รวมทั้งการพัฒนากำลังคน ครอบคลุมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลงานวิจัยแบบบูรณาการในการส่งเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการแข่งขันด้านดิจิทัล ก่อให้เกิด Digital Transformation นำไปสู่การลงทุนและยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในอนาคต

DCTระหว่างการเสวนาในหัวข้อ 'งานวิจัยไทยสู่เชิงพาณิชย์ Lesson Learning สู่ความท้าทาย'

หลังจากลงนามใน MOU ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อ 'งานวิจัยไทยสู่เชิงพาณิชย์ Lesson Learning สู่ความท้าทาย' ซึ่งมีการนำเสนอกลไกการสนับสนุน ตัวอย่างเฟรมเวิร์กและแพลตฟอร์มต่างๆ นำโดย

  • รศ.วิรุฬ ศรีบริรักษ์ 
    นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย
  • คุณผาณิต เผ่าพันธ์ 
    รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พอยท์ ไอที คอนซัลทิ่ง จำกัด
  • ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต 
    ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. เป็นผู้ดำเนินรายการ

DCT

และปิดท้ายด้วยการนำเสนอโครงการนวัตกรรมที่น่าสนใจโดยนักวิจัยชั้นนำจากมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อหาคู่ความร่วมมือ รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อต่อยอดสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์  ได้แก่ 

DCTระหว่างการนำเสนอโครงการนวัตกรรมโดยนักวิจัยชั้นนำจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

  • 1. โครงการระบบกรอบงานอัตโนมัติเพื่อการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธรัฐสำหรับรูปภาพ โดย ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ ม.มหิดล
  • 2. โครงการการพัฒนาต่อยอด Smart Breath และ BreatheMAX เพื่อรองรับเทคโนโลยี Digital Twin สำหรับการบริการทางการแพทย์ โดย รศ.ดร.ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ ม.สงขลานครินทร์
  • 3. โครงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับวิเคราะห์ทำนายการเคลื่อนไหวในชุดพยุงหลังและเสริมแรง โดย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ สวทช.
  • 4. AgentiveX: Large-Scale Multi-Agent Simulation โดย ดร.ถิรภาพ ฟักทอง จาก บริษัท Tetragram จำกัด
  • 5. Smart Financial Infrastructure for Business โดย คุณอภิรักษ์ เชียงเจริญ จาก สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
  • 6. Smart management of birds to reduce crop damage and contribute to global food security  โดย Dr. Saurabh Katiyar จาก CP Research and Development
  • 7. แพลตฟอร์มกลางระบบตรวจสอบย้อนกลับสมุนไพรไทย โดย คุณสุเมธ เตชาพิสุทธิ์

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

YouTube Shorts ยกระดับวิดีโอสั้น เพิ่มความยาววิดีโอสูงสุดเป็น 3 นาที พร้อมฟีเจอร์ใหม่ เริ่ม 15 ตุลาคมนี้

YouTube Shorts กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการสร้างคอนเทนต์วิดีโอสั้น โดยเตรียมเพิ่มความยาวสูงสุดของวิดีโอจาก 60 วินาที เป็น 3 นาที นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้...

Responsive image

โดรนบุก! Silicon Valley เปิดตัวขนส่งสุดล้ำ ส่งตรงถึงบ้านด้วยระบบอัตโนมัติ

Matternet ผู้นำด้านเทคโนโลยีโดรน สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ด้วยการเปิดตัวบริการส่งของด้วยโดรนในซิลิคอนวัลเลย์ใครจะเชื่อว่าภาพยนตร์ไซไฟที่เราเคยดูจะกลายเป็นจริง เมื่อโดรนเริ่มส่งของถึงบ้า...

Responsive image

เปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” นำร่อง จุฬาฯ - มจพ. - สจล. เริ่มเรียนปีการศึกษา 2568

เปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ครั้งแรกของประเทศไทย โดยจะเริ่มเรียนในปีการศึกษา 2568 นี้ มีสถาบันนำร่องถึง 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาฯ, มจพ. และ สจล....