มัดรวมแผนงานชุดใหญ่ที่ ‘depa’ มุ่งทำตามแนวคิด Digital Infinity | Techsauce

มัดรวมแผนงานชุดใหญ่ที่ ‘depa’ มุ่งทำตามแนวคิด Digital Infinity

ไม่บ่อยนักที่หน่วยงานภาครัฐจะมากางแผนงานโดยอธิบายแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานทั้งชุดใหญ่-ชุดย่อย พร้อมด้วยเป้าหมายที่วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างที่ทีมงาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า มาเผยความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย สังคมและเศรษฐกิจประเทศไทย หลังจากมุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมดิจิทัล การพัฒนาคนที่มีทักษะดิจิทัล ตลอดจนการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล 

DIGITAL INFINITY ‘ดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุด’

“ตั้งแต่จัดตั้งดีป้า เรารู้ว่าประเทศไทยต้องการกำลังคนปีละแสน แต่จะสร้างจากไหนได้หลักแสน เพราะคนไทยเรียนจบปีละ 20,000 คน เราจึงหาทางเพิ่มอีก 80,000 คน โดยพยายามสร้างเยาวชนที่มีทักษะความรู้ ความคิด ลงไปสอนถึงเรื่อง Coding และเพิ่มจำนวนคนขึ้นเรื่อย ๆ” ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพล ระบุเพิ่มว่า ที่ผ่านมา ดีป้ามีการลงทุนในสตาร์ทอัพ ด้าน AI Platform รวม 130 ล้านบาท นอกจากนี้ยังลงทุนใน Food Platform กับ Travel Platform ด้วย

“เราให้เด็กเรียน Coding ในโรงเรียนใกล้บ้าน จากที่จัดสอนแล้ว 131 โรงเรียน มีผู้เรียนแล้ว 113,195 คน ปีหน้าเราเปลี่ยนเป้าจัดสอนทักษะ Coding จากจำนวน 80 โรงเรียน เป็น 1,500 โรงเรียน โดยจะเพิ่มกลไกสนับสนุน เช่น สอนคนในชุมชนในวันเสาร์อาทิตย์ด้วย จาก 1,500 โรงเรียน ก็จะมีผู้เรียน 1.25 ล้านคน”

5 ปีที่ผ่านมา ผศ.ดร.ณัฐพลย้ำเรื่องการพัฒนากำลังคนว่าทำมาตลอด เพื่อปูพื้นฐานความรู้ให้คนไทยก้าวไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงได้ในอนาคต และนอกจากใช้งานได้แล้ว คนไทยจะต้องมี Digital Literacy

“ประชากร 60 กว่าล้านคน มีการถือครองดีไวซ์เพิ่มขึ้น วันนี้เราอยู่ใน Top 3 ของอาเซียน แต่อยู่ในระดับของการใช้งาน เนื่องจากคนไทยใช้ดีีไวซ์ไปผิดทาง เราจึงพยายามสร้าง Digital Literacy อย่างการใช้ระบบเพย์เมนต์ เมื่อใช้จนเป็นเรื่องเคยชินจะทำให้คนหาโอกาสทำการค้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Aging, Unemployment, New Skill ทุกคนจะต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น”

สำหรับปี 2566 ดีป้าจะต่อยอดภารกิจต่าง ๆ ตามแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2566 – 2570 ภายใต้แนวคิด DIGITAL INFINITYดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุด โดยแยกได้เป็น

  • Ecosystem and Beyond โดย นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ และ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ 
  • NATIONAL TRANSFORMATION & BEYOND โดย ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ และ ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่
  • TECHNOLOGY & BEYOND โดย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ และ ดร.ศุภกร สิทธิไชย ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่
  • DIGITAL INCLUSION โดย ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ และ นางสาวกษมา กองสมัคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่
  • LOOKING FORWARD โดย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ และ นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่

“Digital Infinity มันจะสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน กลายเป็นโอกาสหรือเป็นเทรนด์ธุรกิจ โดย What we do เราช่วยทำให้ประเทศมีรายได้ที่ดีขึ้นในภาคประชาชน และมีข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขันอย่างยั่งยืน (High Competitive Sustain) How we get there เราจะปรับรูปแบบการบริหาร, เชิญชวนคนเข้ามาทำให้เกิด Human Capital เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ดีขึ้น รวมทั้งต้องเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ ต้องเป็นแบบ comprehensive เริ่มจากจุดที่สำคัญที่สุดก่อน เพื่อให้หินก้อนใหญ่ส่งต่อแรงกระเพื่อมออกไปในวงกว้าง” ผอ.ดีป้ากล่าว

Ecosystem and Beyond : ระบบนิเวศสตาร์ทอัพต้องมาก่อน

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ กล่าวถึงการสนับสนุนระบบนิเวศสตาร์ทอัพผ่าน 2 แกนหลัก ได้แก่ Financial Capital ระบบเศรษฐกิจที่เคลื่อนไหวโดยทุน โดยทำให้กลไกภาครัฐเอื้อต่อการเติบโตของระบบนิเวศสตาร์ทอัพ และ Human Capital พัฒนาคนไทยให้มีทักษะดิจิทัล และก้าวสู่ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพที่ขยายสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป

ระบบนิเวศดิจิทัลถูก Disrupt จากภาวะเศรษฐกิจ การค้า และผู้คนที่เปลี่ยนไป ดังนั้น ดีป้าจึงมุ่งสร้างชุมชนของเหล่าดิจิทัลสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางของดิจิทัลสตาร์ทอัพทุกชาติ และทุกอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) แต่ครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) 
  • อุตสาหกรรมเกม (Game) 
  • อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware & Smart Device) 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)

โดยทางดีป้าดำเนินการสร้างกลไกส่งเสริมการลงทุนที่จะกลายเป็นหนึ่งในระบบนิเวศสำคัญในการเปิดตลาดประเทศไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งเตรียมขยายตลาดเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ (Main Land) โดยมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานการเชื่อมโยงสู่ประเทศจีน

National Transformation and Beyond : เตรียมทรานส์ฟอร์มทั้งประเทศ นับตั้งแต่ปี 2566 

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล) กล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมว่า ต้องปรับตัวมาใช้เทคโนโลยี ต้องหาซัพพลายเชนรายอื่นๆ ในระดับโลกมาต่อห่วงโซ่ที่ขาดไปเพราะสงครามรัสเซีย - ยูเครน และต้องเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจได้ 

หลังจากประเทศไทยมีชุมชนดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้มแข็งแล้ว ก็จะต้องมีกลไกที่จะช่วยทรานส์ฟอร์มภาคธุรกิจและบริการภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างสรรค์เครื่องมือและบริการดิจิทัล คือ ทำอย่างไรให้กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงภาคเกษตรกรรม ทรานส์ฟอร์มได้ทั้งระบบ ทั้งประเทศ (National Transformation) ภายหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

ในปีหน้า ดีป้าจะเร่งขับเคลื่อนให้เกิดเครื่องมือใหม่ ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมไปสู่ระบบอัตโนมัติมากขึ้น เช่น การนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต ร่วมกับการเร่งเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคเกษตรกรรม ด้วยการยกระดับเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาประยุกต์ใช้ และวางรากฐานเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่กลไกตลาดโลก

Technology and Beyond : เลือกโฟกัสเทคโนโลยีแห่งอนาคต

ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ และ ดร.ศุภกร สิทธิไชย ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างหลากหลายในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Smart City 

เทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเฉพาะ Big Data, Blockchain และ AI เป็นเทคโนโลยีที่ดีป้าให้ความสำคัญมาก โดยมองว่า ทุกภาคส่วนจะต้องรู้ เข้าใจ ตระหนักถึงความปลอดภัย และประยุกต์ใช้เป็น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ของตนเอง เพื่อเป็นเกราะป้องกันเมื่อต้องแข่งขันทางเทคโนโลยีกับคู่แข่งต่างชาติ และเพื่อไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 

สำหรับเทคโนโลยีที่ดีป้าโฟกัสและมุ่งให้บริการแก่ผู้สนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐพยายามผลักดันให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบริการจากเทคโนโลยี เช่น AI as a Service,  Blockchain as a Service, Big Data as a Service 

ยกตัวอย่าง VISAI โซลูชันที่ดีป้าร่วมกับ VISTEC ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้บริการ AI as a Service ด้วยการนำข้อมูลคุณภาพไปสอน AI ให้มีความสามารถในการประมวลผลระดับ Quantum และ Optimize ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ช่วยหาคำตอบให้โจทย์ยาก ๆ ได้ เช่น วัคซีนที่จะผลิตมีประสิทธิภาพอย่างไร, ในอนาคต คนไทยมีโอกาสจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง, เราจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในอนาคต โดยใช้เวลาสั้นลงและแสดงค่าความแม่นยำได้

กรณีของ Blockchain เนื่องจากข้อมูลที่จัดเก็บด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และไม่สามารถแก้ไขได้ หากเราทำธุรกรรมทางการเงิน ทำใบขับขี่ ซื้อของ ผ่านบล็อกเชนได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอคนกลาง หรือหากต้องการตรวจสอบชื่อกิจการ ดูข้อมูลสตาร์ทอัพ ก็ทำได้โดยไร้ขอบเขต เมื่อทุกคนเชื่อใจและใช้ Blockchain as a service ข้อมูลต่าง ๆ อยู่ในรูปแบบดิจิทัลก็สามารถเก็บเป็นโฟลเดอร์ ใช้งานสะดวก โชว์ได้ ตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ จะต้องจับตาการเข้ามาของเทคโนโลยีในจินตนาการที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด เช่น เทคโนโลยี 6G, Quantum Computing ร่วมด้วย

Policy and Digital Inclusion : นโยบายต้องเอื้อมากกว่าที่เป็นอยู่

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง) กล่าวว่า ดีป้ามีความพร้อมที่จะออกสู่ต่างประเทศ จึงจะจัดทำข้อมูลด้านดิจิทัลต่างประเทศให้ผู้ประกอบการไทยใช้งานต่อได้ ซึ่งเรื่องของนโยบาย ดีป้าจะจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ โดยเน้นการทำ Digital Inclusion ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นฐานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนกระจายการทำงานไปสู่ทุกประเทศในภูมิภาค เพื่อให้ไทยกลับมาเป็น ‘เสือ’ เหมือนในอดีต 

แต่ไทยจะต้องปลดล็อกกระบวนการทางกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศในการดึงดูดนักลงทุน หรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และมุ่งทำให้ ‘คน’ ในภูมิภาคสามารถเข้าถึงและใช้นโยบายที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงเปิดประตูการค้าหรือการทำงานร่วมกัน ไม่อย่างนั้น ไทยจะก้าวไม่ทันประเทศเพื่อนบ้าน

“ด้าน Digital Inclusion เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตอนนี้ไทยใช้อินเทอร์เน็ต 86% แล้ว ที่เหลือคือคนเปราะบาง อย่างผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนชายขอบ ยกตัวอย่างผู้สูงอายุ ถูกปิดโอกาสในการพัฒนาประเทศต่อ เราจะดึงกลับมา retrain, upskill reskill เช่น ให้ผู้สูงอายุขับรถ กลับมามีกิจกรรม กระจายงานลงไปทั่วประเทศไทย ซึ่งจะทำให้สุขภาพดีขึ้นทั้งกายและใจ ทำให้มีขีดความสามารถในการดำรงชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่แค่มีงานการทำเท่านั้น”

ดร.กษิติธรบอกเพิ่มว่า ทางดีป้ายังมีนโยบายที่จะชงแผนส่งเสริมการรุกตลาดต่างประเทศ โดยขยายจากการทำงานกับพาร์ทเนอร์ กับกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง เช่น Asean Smart Network ด้วยการส่งทีมออกไปเก็บข้อมูลต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ จีน และอีกหลายประเทศในฝั่งยุโรป เพื่อนำข้อมูลกลับมาใช้งานในไทย 

Looking Forward : 'ข้อมูล' กับ 'สาขา' ช่องทางสำคัญเพื่อก้าวสู่โลกดิจิทัล

ดร.ปรีสาร รักวาทิน รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล) ยกตัวอย่างการใช้ Big Data เช่น แพลตฟอร์ม ฟ้าฝน ที่นำข้อมูลจากดาวเทียมมาวิเคราะห์ บอกความชิ้น ทิศทางแสง วางแผนด้านการเพาะปลูก ซึ่งสามารถแชร์ให้กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อนำไปให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว 

เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการทำงานเพื่อผลักดันประเทศ (Data Driven Nation) ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่  ดีป้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ผ่านการจัดตั้ง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (National Big Data Institute: NBDi) ซึ่งผู้ประกอบการก็จะสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ส่วนประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตามแนวคิด “Big Data for All”

โดยดีป้าจะเร่งกระจายการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการผ่านเครือข่ายการทำงานในรูปแบบสำนักงานฯ ทั้ง 7 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งจะขยายสู่ Big Data as a service ต่อไป ได้แก่

  • สำนักงานฯ สาขาภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ 
  • สำนักงานฯ สาขาภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก 
  • สำนักงานฯ สาขาภาคอีสานตอนกลาง จังหวัดขอนแก่น 
  • สำนักงานฯ สาขาภาคอีสานตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานี 
  • สำนักงานฯ สาขาภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี 
  • สำนักงานฯ สาขาภาคใต้ตอนบน จังหวัดภูเก็ต 
  • สำนักงานฯ สาขาภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดสงขลา 

นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มงานกิจการสาขา) กล่าวถึงการที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยและระดับกลางนำ AI ไปใช้ในการทำธุรกิจมากขึ้น ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานจากคนที่ทำงานกับภาครัฐมาเปิดให้บริการ ซึ่งสำนักงานฯ 7 สาขาของดีป้า จะทำหน้าที่นี้ ทั้งการกระจายความรู้และการเข้าถึงคนในระดับท้องถิ่น

ทั้งหมดนี้จะไม่ได้เป็นเพียงสำนักงานฯ สาขา แต่จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มประเทศ เพราะนอกจากจะเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงและสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยดำเนินงานผ่าน dspace และ dstation ที่ดีป้าจัดตั้งขึ้นมาเป็นพื้นที่เสริมอีกด้วย

ปิดท้ายด้วยผลงานที่วัดผลได้

หลังจากเห็นเป้าหมายและแผนงานในอนาคต มาย้อนดูสิ่งที่ดีป้าดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง พร้อมผลการดำเนินงาน

  • พัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยดีป้าเป็นหน่วยงานแรก ๆ ของประเทศที่เสริมทักษะด้าน Coding ให้แก่เด็กและเยาวชนรวมแล้วกว่า 4.2 ล้านคน 
  • ยกระดับภาคเศรษฐกิจสู่ ‘ดิจิทัลไทยแลนด์’ โดยสร้างดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย 142 ราย เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 16,000 ล้านบาท และผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพเข้าสู่ระบบ ให้ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ กลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก (Real Sector) ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและบริการ ภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรม
  • ขับเคลื่อนชุมชนสู่ ‘สังคมดิจิทัล’ ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชมสามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาขีดความสามารถในกระบวนการผลิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต  โดยมีชุมชนที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลมากถึง 281 ชุมชน ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน ผู้สูงวัย กลุ่มเปราะบางเกิดความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ตระหนักถึงประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่น้อยกว่า 9 ล้านคน ส่งเสริมให้เกิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จำนวน 30 พื้นที่ใน 23 จังหวัด 

ผอ. ดีป้าเผยในตอนท้ายว่า ประเทศไทยกำลังจะมี Thailand Digital Valley ซึ่งต้องแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านและขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง 

เราคือ ‘ยูนิคอร์นภาครัฐ’ ตอนนี้เรามี Valuation ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท โดยในอนาคต เราจะเป็นหน่วยงานรัฐที่มีความ Sustain และอีกสิ่งที่จะได้เห็นต่อไป คือ ‘1 ตำบล 1 ดิจิทัล’ แทน 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Apple เสนอลงทุนในอินโดฯ เพิ่ม 10 เท่า มูลค่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สู้ปลดแบน iPhone 16

Apple ทุ่มสุดตัว! เพิ่มเงินลงทุนในอินโดนีเซีย 10 เท่า เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังข้อเสนอเดิมถูกปัดตก เป้าหมายปลดแบนการขาย iPhone 16 ในอินโดฯ ให้สำเร็จ...

Responsive image

AWS เปิดตัว Nova ตระกูลโมเดล AI มัลติโมเดลใหม่ล่าสุด

ในงาน re:Invent เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นแผนกคลาวด์คอมพิวติ้งของ Amazon ได้ประกาศเปิดตัวตระกูลโมเดล AI แบบมัลติโหมดใหม่ภายใต้ชื่อ Nova...

Responsive image

เกาหลีใต้เปิดศูนย์ KTSC ในไทย หวังปั้นกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง Travel Tech แห่งสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ร่วมกับ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) เปิดตัว "ศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวเกาหลี" หรือ Korea Touri...