สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล แถลงผลสำเร็จการจัดงาน Thailand Smart City Week 2020 กระตุ้นการรับรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยสู่ภาคประชาชนกว่า 300,000 ราย สร้างเม็ดเงินจากการเจรจาจับคู่ธุรกิจมากกว่า 300 ล้านบาท พร้อมประกาศเร่งเครื่องเดินหน้าแผนการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อเนื่อง ผ่านการการแต่งตั้งยุวทูตเมืองอัจฉริยะ การจัดสมาร์ทซิตี้ บูธแคมป์ และการทรานส์ฟอร์มเมืองในมิติต่าง ๆ คาดเกิดการลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาท
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยภาพรวมความสำเร็จของการจัดงาน Thailand Smart City Week 2020 มหกรรมแสดงเทคโนโลยีด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในรูปแบบ Real Digital Event ครั้งแรกของไทย โดย สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-22 ตุลาคมว่า งาน Thailand Smart City Week 2020 สามารถสร้างความตระหนักรู้ด้านการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้ กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาเมือง นิทรรศการแสดงผลงานเทคโนโลยีด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และโอกาสในการเจรจาจับคู่ธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่เมืองอัจฉริยะระดับสากล โดยตลอดระยะเวลา 7 วันของการจัดงานมียอดผู้เข้าร่วมงานใน 4 กิจกรรมหลักผ่านทุกช่องทาง จำนวนกว่า 300,000 คน สามารถสร้างเม็ดเงินในการเจรจาจับคู่ธุรกิจได้มากกว่า 300 ล้านบาท
นอกจากนี้ การแข่งขัน Thailand Smart City Week 2020: Virtual Hackathon เพื่อเฟ้นหาโซลูชันในการแก้ปัญหาและบริหารจัดการเมืองได้ผู้ชนะ 3 ทีมจาก 12 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ทีม AltoTech - ระบบที่ช่วยองค์จัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการมีส่วนร่วมจากคนในองค์กร ข้อมูล และอุปกรณ์อัจฉริยะ (IoT) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Workforce for Smart Labor Matching Platform - แพลตฟอร์ม Empowering และ Reskill ให้กับผู้บริการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาลูกค้า และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม Tinder for Trash - แพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อคนที่มีใจรักสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน เพื่อรวบรวมขยะให้ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี
ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า จากนี้ ดีป้า จะเร่งดำเนินการตามแผนส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย การเดินหน้าทรานส์ฟอร์มเมืองในมิติต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมยกระดับเมืองและคุณภาพชีวิตประชาชน ผ่านการร่วมสนับสนุนจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพและเซอร์วิส โพรไวเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นการทรานส์ฟอร์มชุมชนมากกว่า 200 ชุมชน การทรานส์ฟอร์มภาคธุรกิจไม่น้อยกว่า 2,000 โครงการ การพัฒนากำลังคนด้วยการสร้างอาชีพใหม่ อาทิ เอไอ โดรน ฯลฯ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกว่า 10 โครงการ ทั้งบริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว การขนส่ง ความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน และแพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมือง (City Data Platform) ซึ่งประเมินว่าจะเกิดการลงทุนโดยเอกชนร่วมรัฐไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
“พร้อมกันนี้ ดีป้า จะแต่งตั้ง “ยุวทูตเมืองอัจฉริยะ” (Mr. & Ms. Smart City) จำนวน 30 พื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดที่จะพัฒนาเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและยกระดับพื้นที่สู่เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ผ่านการอบรมและได้รับใบประกาศนียบัตรจาก ดีป้า ซึ่งยุวทูตเมืองอัจฉริยะจะเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น เพื่อให้การทำงานคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะมีการจัดสมาร์ทซิตี้ บูธแคมป์ โดยเปิดโอกาสให้เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะทั้ง 40 พื้นที่ร่วมบ่มเพาะองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนแนวคิด และรับคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ก่อนต่อยอดเป็นโครงการ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานต่อไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด