สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประกาศว่าได้ข้อสรุปในหลักเกณฑ์สำหรับกรอบการทำงานใหม่ในเรื่องของการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน (Data sharing) คลายความกังวลให้กับบริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่างเช่น Meta และ Google ที่ได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจนในช่วงก่อนหน้า
ทั้งยุโรปและสหรัฐได้ดำเนินการร่วมปีเพื่อหาข้อตกลงใหม่มาใช้แทน Privacy Shield ซึ่งเป็นข้อตกลงเดิมที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถแบ่งปันข้อมูลของชาวยุโรปไปยังสหรัฐได้ แต่ได้ถูกยกเลิกไปโดยศาลยุติธรรมของสหภาพยุโรปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2020 เนื่องจากพบว่ามีการละเมิดการปกป้องข้อมูล ซึ่งส่งกระทบต่อ Facebook และบริษัทอื่นๆ ที่ต้องอาศัยการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างยุโรปสหรัฐ
โดยก่อนหน้านี้ Mark Zuckerberg เคยออกมาประกาศว่าจะถอด Facebook และ Instagram ออกจากยุโรป หาก Meta ไม่ได้รับอนุญาตให้ยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ใช้ในยุโรป ซึ่งเป็นผลจากการยกเลิก Privacy Shield ที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนทางกฎเกณฑ์ในการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Ursula von der Leyen กล่าวว่าข้อตกลงใหม่นี้จะทำให้การถ่ายโอนข้อมูลระหว่าง EU และสหรัฐเกิดความน่าเชื่อถือและคาดการณ์ได้ รวมถึงจะช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของพลเมือง
ทางด้าน Nick Clegg ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของ Meta ก็ได้กล่าวถึงข้อตกลงดังกล่าวว่าจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่บรรดาบริษัทอเมริกันและยุโรปไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ซึ่งรวมไปถึง Meta ที่ต้องพึ่งพาการถ่ายโอนข้อมูลที่รวดเร็วและปลอดภัย
บริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Google เองก็มีความยินดีเช่นกัน โดย Kent Walker ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของบริษัทกล่าวในแถลงการณ์ทางอีเมลว่าผู้คนต้องการใช้บริการดิจิทัลจากที่ไหนก็ได้บนโลก และต้องการทราบว่าข้อมูลของพวกเขานั้นปลอดภัยและได้รับการคุ้มครอง รวมถึงกล่าวชื่นชมการทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐบาลสหรัฐที่บรรลุข้อตกลงใหม่รวมถึงสามารถสร้างความปลอดภัยสำหรับการถ่ายโอนข้อมูลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
อ้างอิง CNBC
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด