วันนี้ Facebook ได้ประกาศเปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อมูลเท็จโดยผู้ตรวจสอบภายนอกในประเทศไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาความโปร่งใสบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและพัฒนาคุณภาพของข่าวสารที่ผู้คนอ่านบนโลกออนไลน์ โดย Facebook จะร่วมมือกับ AFP ซึ่งได้รับการรับรองโดยเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับนานาชาติ (International Fact Checking Network หรือ IFCN) ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่สถาบันพอยน์เตอร์
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป AFP จะตรวจสอบและประเมินความถูกต้องของเรื่องราวบน Facebook รวมถึงรูปภาพและวิดีโอในประเทศไทย เมื่อผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายนอกประเมินว่าเรื่องราวนั้นๆ เป็นเท็จ ก็จะปรากฏในฟีดข่าวน้อยลง ซึ่งเป็นการลดการเผยแพร่อย่างมีนัยสำคัญ โดย AFP เป็นพันธมิตรด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับโลก ที่ร่วมมือกับ Facebook ในกว่า 20 ประเทศ
คุณอันจาลี คาปูร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรข่าวประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Facebook ได้ให้ข้อมูลในงานเปิดตัวดังกล่าวว่า “เราตระหนักดีว่าผู้คนต้องการเห็นข้อมูลที่ถูกต้องบน Facebook และเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอก และได้ร่วมมือกับ AFP สำหรับโปรแกรมดังกล่าวในประเทศไทย เราเชื่อว่าโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้จะช่วยให้เราสามารถสร้างชุมชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสที่จะขยายโปรแกรมนี้กับผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับท้องถิ่นในอนาคต”
โปรแกรมนี้มีความสอดคล้องกับขอบข่ายในการดำเนินงานที่มีอยู่ 3 ส่วนของ Facebook เพื่อพัฒนาคุณภาพและความแท้จริงของเรื่องราวบนฟีดข่าว เมื่อผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายนอกเขียนบทความเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่ง Facebook จะแสดงบทความเหล่านี้ในบทความที่เกี่ยวข้อง (Related Articles) ทันที โดยจะปรากฏอยู่ด้านล่างของเนื้อหานั้นบนฟีดข่าว นอกจากนี้ ผู้ดูแลเพจและผู้ใช้ Facebook ยังจะได้รับการแจ้งเตือนหากพวกเขาพยายามที่จะแชร์โพสต์หรือได้แชร์โพสต์ที่ถูกประเมินว่าเป็นเท็จ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนในการตัดสินใจอ่าน เชื่อ และแชร์เนื้อหาด้วยตนเอง
คุณแคท บาร์ตัน หัวหน้าหน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า “AFP รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายการดำเนินงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรามายังประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่เรามุ่งมั่นในการเดินหน้ากำจัดข้อมูลเท็จในหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพและวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมและข่าวการเมือง การตรวจสอบข้อเท็จจริงคือแก่นแท้ของสิ่งที่เราทำในฐานะหนึ่งในสำนักข่าวชั้นนำของโลก การขยายโปรแกรมมาสู่ประเทศไทย ทำให้หน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ประจำภูมิภาคเอเชียมีนักข่าวที่ได้รับมอบหมายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 10 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จากออสเตรเลียไปจนถึงปากีสถาน ในระดับโลก หน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP ประจำภูมิภาคเอเชียมีการดำเนินงานที่ครอบคลุมกว่า 20 ประเทศในปัจจุบัน และภายในเร็วๆ นี้ จะให้ข้อมูลด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 8 ภาษา รวมถึงภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส บาฮาซาของอินโดนีเซีย และอาหรับ”
ภายในงานเปิดตัว ณ สำนักงาน Facebook ประเทศไทยวันนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในไทย ได้แก่ รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ รักษาการผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ที่มาร่วมให้ข้อมูลเชิงลึกและยกตัวอย่างกรณีศึกษาในการจัดการกับข้อมูลเท็จในช่วงเสวนาอย่างครอบคลุม
คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ รักษาการผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท กล่าวว่า “ข่าวปลอมนั้นไม่ได้เพียงแค่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่สามารถสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสาธารณชนได้ในหลากหลายรูปแบบ ความล้ำสมัยของเทคโนโลยีทำให้ข่าวปลอมแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และเข้าถึงคนจำนวนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ดังนั้น ข่าวปลอมจึงมีผลกระทบต่อมุมมองการรับรู้ของสาธารณชนที่มีต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง และยังมีอิทธิพลต่อวิธีการคิดและการตัดสินใจของผู้คนอย่างง่ายดายอีกด้วย”
“การตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถกลายเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อนในโลกปัจจุบัน ซึ่งใครก็ตามสามารถสร้างเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริงบนโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย วิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมคือการตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอ และอย่าแชร์ข่าวหรือเนื้อหาที่ไม่ได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้” คุณพีรพลกล่าวเสริม
รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ในขณะที่การตรวจสอบแหล่งข่าวเป็นสิ่งสำคัญ การเพิ่มความรู้และทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่คนไทยก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการต่อสู้กับข่าวปลอม หนึ่งในความท้าทายหลักของการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทยคือ การที่ชุมชนไม่รู้จักวิธีการในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว และแนวโน้มในการใช้อารมณ์เหนือเหตุผลในการประเมินเรื่องราว”
“คนเรามีแนวโน้มที่จะคิดวิเคราะห์น้อยลงเมื่อมีอารมณ์โกรธระหว่างการอ่านบทความข่าว และหลายคนตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมเพราะเหตุนี้ นอกจากนี้ ผู้คนควรตระหนักให้มากขึ้นว่า ในบางครั้ง พวกเขาอาจละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นจากการกระทำง่ายๆ อย่างการแชร์เนื้อหาออนไลน์ โซเชียลมีเดียจึงมีบทบาทที่สำคัญในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ด้วยการจัดการวิธีการที่ข้อมูลถูกแชร์ การจัดอันดับการแสดงเนื้อหาในฟีด และช่วยผู้คนในการสังเกตข่าวปลอมผ่านการใช้เครื่องมือและฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การแจ้งเตือน เป็นต้น”
นอกจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอก Facebook ยังสนับสนุนความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้ผู้คนมีทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการรับข่าวสาร เพื่อการตัดสินใจอ่าน เชื่อ และแชร์ด้วยตนเอง ผ่านการสนับสนุนโปรแกรมด้านการพัฒนาทักษะในการรับข่าวสารต่างๆ ทั่วโลก และการแชร์เคล็ดลับในการช่วยสังเกตข่าวปลอม และให้ข้อมูลเชิงบริบทแก่ผู้คนเกี่ยวกับโพสต์ที่พวกเขาเห็นในฟีดข่าว
Facebook เปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยผู้ตรวจสอบภายนอก ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 และมีพันธมิตรกว่า 50 รายทั่วโลกในปัจจุบัน รวมถึง AFP โดยครอบคลุมกว่า 40 ภาษา
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด